จากงานสัมมนา เปิดตัวโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองเพื่อเข้าสู่ระบบการรับรองคุณภาพมาตรฐาน
ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ณ ห้องกิ่งกนก
โรงแรมเอเชีย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557 โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ได้เชิญผู้แทนสมาชิกกลุ่มอาชีพผ้าทอพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดลำปาง 30 กลุ่ม
และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการผลิตผ้าทอพื้นเมือง
รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนและพัฒนาต่อยอด
เข้าประชุมสัมมนาในงานดังกล่าว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอของจังหวัดลำปาง
ให้ได้มาตรฐาน มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการรับรอง มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ
มผช. โดยบูรณาการร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม
เข้ามาช่วยเหลือดูแล ให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการผลิต แนวโน้มแฟชั่นความนิยม
ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดลำปาง
เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองของลำปาง
ไปสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคมนี้
เริ่มตั้งแต่การบุคลากรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ คอยให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ
แก่กลุ่มอาชีพผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดลำปาง
เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน ทั้งในเรื่องของการเลือกวัตถุดิบชนิดเส้นใยที่ใช้ในการทอผ้า
ขนาดความกว้าง-ความยาวของผืนผ้า ค่าความเป็นกรดด่าง และดูแลการเลือกใช้สีย้อมผ้า
เพื่อให้สีย้อมผ้าที่ได้มีความคงทนและการการเลือกใช้สีที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีตกค้าง
นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนารูปแบบลวดลายผืนผ้าให้มีความโดดเด่นทันสมัย แต่จะยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ในความเป็นล้านนา
แต่ตอบสอนงความต้องการทางตลาดมากขึ้น
รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มอาชีพเกิดการตื่นตัว
พร้อมที่จะเรียนรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
ต่อยอดไปถึงระดับภูมิภาคในอาเซียน หรือ AEC ได้ในอนาคต

“ลำปางมีกลุ่มทอผ้าอยู่กระจัดกระจาย
และยังขาดโอกาสเข้าถึงข้อมูลทั่วเรื่องการพัฒนาและการตลาด
ผู้ผลิตที่ไม่รู้จักผู้ซื้อ หรือตลาด จะเสียเปรียบเรื่องของการแข่งขัน
ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ขณะนี้เป็นชาวบ้าน ผู้สูงอายุ ขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ
งานผ้าทอ ต้องอาศัยทั้งฝีมือ ศิลปะ เทคโนโลยี และความต้องการของลาด เช่น
สีที่นิยมในกลุ่มลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ญี่ปุ่น หรือ จีน ฝรั่ง
ผู้ซื้อเป็นกลุ่มคนอายุเท่าไหร่ ชอบสีอะไร วัสดุเดี่ยวนี้
เขานิยมผ้าคลุมไหล่ที่ทอแบบเบา บางนุ่ม เราจึงต้องสอนให้ผู้ผลิต รู้จักเทรนด์ของสินค้า
เลือกเส้นใยที่เหมาะสม ทำได้จริง กล้าที่จะเปลี่ยนรูปลักษณ์ของสินค้า
ที่ไม่ต้องรอขายแต่ลายทอพื้นเมืองอย่างเดียว
เราสอนเรื่องของการผลิตตกแต่งสำเร็จออกมาเป็นสินค้าที่ดูดี มีราคา
ตรงกับความต้องการตลาด หากรายไหนที่พัฒนาครบวงจรได้ก็ทำ รายใดที่ ทำได้แค่บางส่วนก็เชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นให้ส่งต่อและไปด้วยกันได้”
ดร.ชาญชัย กล่าวและว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
หากโครงการนี้ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง จึงประเมินเบื้องต้นได้
ว่าทิศทางของผ้าทอลำปางจะพัฒนาไปแนวทางใดและคงต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อด้วย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 969 ประจำวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2557)