วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ที่ซึ่งดวงอาทิตย์ไม่เคยฉายแสง ถ้ำผาไท

 
กุลธิดา สืบหล้า....เรื่อง

            ณ สถานที่ที่มืดมิดที่สุดแห่งหนึ่งบนพื้นโลก ความมืดทำให้ที่นี่แตกต่างออกไป ในขณะที่สิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกได้รับความอบอุ่นและแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ สิ่งมีชีวิตอีกโลกหนึ่งกลับอยู่กับความมืด ซึ่งเป็นความมืดที่คงอยู่มานานนับล้านปี สถานที่แห่งนี้เรารู้จักกันดีว่ามันคือ ถ้ำ
            จอห์น ดังคลีย์ นักสำรวจถ้ำชาวออสเตรเลีย ได้รวบรวมรายชื่อถ้ำในประเทศไทยเอาไว้ทั้งหมดประมาณ 2,000 ถ้ำ ในจำนวนนี้เป็นถ้ำที่อยู่ในภาคเหนือ 450 ถ้ำ ทั้งนี้ นักสำรวจรุ่นบุกเบิกที่เข้ามาสำรวจในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา และได้ทำแผนที่ถ้ำในภาคเหนืออย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก ได้แก่ ทีมสำรวจถ้ำจากประเทศออสเตรเลียและฝรั่งเศส ทำให้พบถ้ำใหม่ ๆ หลายถ้ำ โดยถ้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคเหนือ ได้แก่ ถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และถ้ำลอด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่รับนักท่องเที่ยวมากกว่า 100,000 คน ต่อปี
            ด้วยความที่ถ้ำที่สำรวจพบในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ ถ้ำเหล่านี้จึงถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีการทำทางเดินและติดไฟฟ้าภายในถ้ำ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมได้อย่างสะดวกสบาย ถ้ำผาไทในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทของจังหวัดลำปางเราก็ถูกจัดอยู่ในประเภทถ้ำท่องเที่ยวเช่นกัน  และยังนับเป็นถ้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในภาคเหนือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เคยเสด็จประพาส และได้ทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธย ป.ป.ร. บนผนังหินที่ปากถ้ำ
            จากที่จอดรถของอุทยานฯ มีบันไดทางขึ้นไปสู่ปากถ้ำ ซึ่งอยู่ที่เชิงหน้าผารูปเกือกม้า ล้อมรอบด้วยป่าเขียวชอุ่ม ตรงกลางมีเจดีย์โบราณ ปากถ้ำมีขนาดใหญ่ มองเห็นพระพุทธรูปและหินงอกสูงประมาณ 20 เมตร มีแสงสว่างเป็นลำแสงจากหน้าต่างถ้ำด้านบน ภายในมีทางเดินและไฟฟ้าที่ซ่อนไว้ตามจุดต่าง ๆ ยาวประมาณ 350 เมตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้โดยสะดวก โถงถ้ำส่วนใหญ่เป็นถ้ำแห้ง มีเพียงบางที่เท่านั้นที่ยังมีการพัฒนาของหินงอก หินย้อย โถงหลักมีอากาศถ่ายเทดีพอสมควร แต่บางส่วนที่เป็นจุดอับของถ้ำเคยมีการสำรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าอากาศปกติถึงกว่า 100 เท่า นั่นหมายถึงสภาวะอากาศที่เป็นพิษ นักท่องเที่ยวจึงควรเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้เท่านั้น
            นักสำรวจถ้ำเปิดเผยด้วยว่า โถงย่อยบางส่วนของถ้ำผาไทมีตะกอนถ้ำ ซึ่งเป็นชั้นของเถ้าภูเขาไฟ จากการพิสูจน์อายุโดยใช้เทคนิคโพแทสเซียม / อาร์กอน พบว่า เถ้านี้มีอายุประมาณ 9.36 ล้านปี หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า เถ้าภูเขาไฟนี้เป็นการตกตะกอนชนิดปฐมภูมิและไม่ได้ถูกนำพาเข้ามาเมื่อไม่นานมานี้ นั่นหมายความว่า ถ้ำผาไทเป็นถ้ำที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว
            แม้ถ้ำจะเป็นพื้นที่ที่ลี้ลับ แต่เราก็รู้กันดีว่า ถ้ำเป็นพื้นที่ที่เปราะบางมากที่สุดด้วยเช่นกัน มันมีระบบทางธรณีวิทยาและชีววิทยาที่ซับซ้อน เพราะผ่านการพัฒนามาอย่างยาวนาน สิ่งมีชีวิตในถ้ำจึงล้วนแล้วแต่มีความพิเศษ ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับถ้ำจึงไม่สามารถแก้ไขให้หวนกลับคืนมาได้ เพราะถ้ำไม่สามารถซ่อมแซมเยียวยาตัวเองได้นั่นเอง
            คำถามก็คือ เราควรต้องรับผิดชอบและระมัดระวังอะไรบ้างเวลาไปเที่ยวถ้ำ ไม่เฉพาะถ้ำผาไท แต่รวมถึงถ้ำอื่น ๆ ในประเทศและในโลก
            นอกจากพฤติกรรมที่ต้องหลีกเลี่ยงเด็ดขาด ได้แก่ การหักหินงอก หินย้อย การขีดเขียนบนผนังถ้ำ การทำลาย หรือขโมยส่วนหนึ่งส่วนใดของถ้ำออกมา และการจุดไฟแล้ว ยังมีสิ่งที่สร้างผลกระทบ ซึ่งเราอาจไม่ทันสังเกตว่ามันจะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อถ้ำ นั่นก็คือ การเหยียบย่ำพื้นถ้ำที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ถ้ำ จนตะกอนดินอัดตัวแน่นเกิดเป็นรอยหยัก พื้นถ้ำที่ถูกอัดแน่นเช่นนี้ ไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ถ้ำได้อีก ขณะที่การสูบบุหรี่ในถ้ำและการทิ้งแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วก็ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ถ้ำได้
            โคลนที่ติดอยู่บนรองเท้าและเสื้อผ้ายังเป็นแหล่งแพร่เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราให้แก่ถ้ำ การทำเศษอาหารตกภายในถ้ำก็เป็นการเพิ่มจำนวนอาหารในถ้ำ ถ้ามากเกินไปจะส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศถ้ำ ซึ่งอันที่จริง วัสดุอย่างกระดาษ ไม้ เทียน และเสื้อผ้า ล้วนเป็นตัวทำลายความสมดุลของระบบนิเวศถ้ำทั้งสิ้น
            นอกจากนี้ น้ำมันบนผิวหนังยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของหินงอก หินย้อย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ควรสัมผัสหินงอก หินย้อย เนื่องจากน้ำมันทำให้การก่อตัวของแคลไซต์หยุดชะงักลง การสัมผัสยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการแตกหัก โดยเฉพาะการเคาะหินงอก หินย้อย เพื่อให้เกิดเสียง ขณะที่ลมหายใจและความร้อนจากร่างกายของเราก็สามารถเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมี ความชื้น และอุณหภูมิของบรรยากาศได้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงภายในถ้ำ ขณะที่เสียงดังและความสว่างจะรบกวนการอยู่อาศัยของค้างคาว ถ้าค้างคาวอพยพออกไป เท่ากับว่าจะไม่มีขี้ค้างคาวในถ้ำอีก ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศถ้ำทั้งหมด
            ความเปราะบางดังกล่าวทำให้การเปิดถ้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลายเป็นดาบสองคม เพราะต้องอาศัยนักท่องเที่ยวที่มีใจอนุรักษ์เท่านั้น แม้ความสวยงามอลังการด้านในจะเย้ายวนชวนให้ค้นหา แต่ถ้าต้องแลกกับความเสียหายที่มาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์สักคน การหันหลังกลับดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
           

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 979 ประจำวันที่  30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน  2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์