เจ้าหน้าที่ติดตามร่องรอยกว่า 4 วัน ให้ควาญช้างจากศูนย์บริบาลช้างฯคล้องช้างออกจากป่า
นายอำเภอแจ้ห่มส่งมอบให้ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯดูแลชั่วคราว ประกาศให้เจ้าของมาแสดงหลักฐานภายใน
90 วัน ขณะสัตว์แพทย์ระบุช้างมีสุขภาพค่อนข้างแย่
ซูบผอมและมีบาดแผลหลายแห่ง
คาดถูกใช้งานอย่างหนักในการชักลากไม้ซุงออกจากป่าดังกล่าว
เมื่อวันที่
15 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริเวณลำห้วยสึก เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ตาและป่าแม่มาย
พื้นที่ เตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เขตบ้านนางาม หมู่ 3 ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่อยู่เหนือหมู่บ้านเข้าไปในป่าลึกว่า 5
กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ทหารจากศูนย์ฝึกรอบพิเศษ ที่ 3 ประตูผา พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ควาญช้างจากศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ
ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบ ช้างพลายงาเดียว ที่ถูกเจ้าของนำมามัดซุกซ่อนเอาไว้ใกล้ลำห้วยดังกล่าว
เพื่อหลบหนีการติดตามล่าตัวช้างที่ต้องสงสัยชักลากไม้เถื่อนออกจากป่าเป็นจำนวนมาก และเมื่อวันที่
11 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานได้เปิดยุทธการกวาดล้างจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้เถื่อนและซุกซ่อนไม้เถื่อน
จนสามารถยึดของกลางเป็นไม้ตระกูลต่างมากว่า 4,000 แผ่นเหลี่ยม
และขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ใช้เฮลิคอปเตอร์กระทรวงทรัพย์ฯ บินสำรวจ และพบช้างงาเดียวอยู่กลางป่า
แต่เมื่อเจ้าของทราบได้นำช้างหลบหนีเข้าไปซ่อนในป่าลึก จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ออกติดตามร่องรอยมาถึง
4 วันจบพบช้าง แต่ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมตัวช้างได้
เนื่องจากว่าการข่าว แจ้งว่า ช้างเชือกนี้ มีนิสัยดุร้าย จึงระมัดระวัง และเฝ้าดูสังเกตพฤติกรรมผ่านมา
1 คืนและอีกครึ่งวัน
ซึ่งช้างยังคงมีพฤติกรรมปกติ
จากนั้นจึงให้ควาญช้างจากศูนย์บริบาลช้างฯ
จำนวน 6
คน เข้าไปควบคุมช้างโดยใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ก็สามารถปลดโซ่และนำช้างเดินออกจากลำห้วย
และเข้ามายังหมู่บ้านเพื่อที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
ซึ่งเส้นทางการนำช้างออกจากป่าต้องลัดเลาะสันเขาและลงห้วยหลายแห่ง พบว่ามีท่อนไม้ซุงเรียงรายตลอดเส้นทาง
เมื่อช้างเดินผ่านท่อนซุงที่ไหนจะหยุดและแสดงอาการ เดินเข้าไปเทียบท่อนซุงเพื่อที่จะเข้าไปซักลาก
ทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนเห็นภาพแล้วหดหู่ใจที่ช้างเชือกนี้คาดว่าน่าจะถูกใช้งานมาอย่างหนัก
และถูกควาญช้างทำร้ายร่างกายมาโดยตลอดในการซักลากไม้ซุง
หลังจากที่นำช้างเข้ามาภายในหมู่บ้านแล้ว
ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่สำนักบริหารอนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง
อุทยานแห่งชาติฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้
เจาหน้าที่สายตรวจปราบปรามการกระทำผิดสำนักงานทรัพยากรป่าไม้ลำปาง ตำรวจ สภ.แจ้ห่ม
ตำรวจ ศปทส.ภ.5 กอ.รมน.จ.ลำปาง
ฝ่ายปกครอง อ.แจ้ห่ม เข้ามาร่วมบันทึกในการตรวจยึดช้างเชือกนี้
ด้าน
น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย
อ.อ.ป. จ.ลำปาง ซึ่งเดินทางมาตรวจสุขภาพช้างพบว่า
ช้างมีสุขภาพค่อนข้างแย่และมีอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าหลายจุดคาดว่าน่าจะมาจากการถูกใช้งานอย่างหนัก และจากการตรวจการฝังไมโครชิพ
พบว่าช้างเชือกดังกล่าวมีไมโครชิพจริง
แต่ยังไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าจะมีข้อมูลจริงหรือไม ต้องเข้าไปตรวจสอบที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯก่อน
ส่วนกรณีใบสัญญาซื้อขายช้าง ได้มีผู้ใหญ่บ้านนำสำเนามาแสดงทราบว่า ช้างเชือกกล่าวชื่อพลายแก้ว
เดิมเป็นช้างมาจาก ต.แม่กืด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีคนในหมู่บ้านแห่งนี้ซื้อมาในราคา
250,000
บาท เมื่อปี 2547 แต่เป็นเพียงสำเนาเท่านั้นจึงยังไม่ทราบว่าเป็นช้างเชือกเดียวกันหรือไม่
โดยในเบื้องต้นได้ อายัดช้างดังกล่าวไว้ที่หน่วยป่าไม้ฯก่อน
ต่อมา
วันที่ 18 มิ.ย.57 นายสันติ นฤมิตร นายอำเภอแจ้ห่ม
เป็นผู้รับมอบช้างพลาย อายุ 45 ปี
โดยควาญช้างตั้งชื่อให้ใหม่ว่าพลายบุญรอด ซึ่งเป็นช้างของกลางที่ตรวจยึดได้ในป่าจาก
พ.ต.ประวิทย์ ธรรมชาติ ผู้บังคับกองร้อยฝึกรอบพิเศษที่ 3 ค่ายประตูผา
จ.ลำปาง และส่งมอบต่อให้ทางศูนย์อนรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
รับตัวไปดูแล โดยมี พ.อ.สุรคล ท้วมเสน รอง ผอ.กอ.รมน.จ.ลำปาง ฝ่ายทหาร
พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แจ้ห่ม มาเป็นสักขีพยาน
โดยก่อนที่จะนำช้างขึ้นรถ
นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ
นายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ จ.ลำปาง
ได้ทำการตรวจวัดขนาดลำตัวช้างและตรวจสุขภาพช้างและทำหนังสือรับส่งมอบช้างเชือกนี้ เปิดเผยว่า สุขภาพช้างค่อนข้างจะแย่ หากเดินทางถึง
โรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างฯไทยแล้ว ก็จะมีการตรวจเจาะเอาเลือดไปตรวจสอบหาเชื้อโรค
โดยจะต้องกันพื้นที่ให้ช้างเชือกนี้อยู่ตามลำพังชั่วคราวไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่อาจจะติดมากับตัวช้าง
โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1
สัปดาห์ถึงจะสรุปผลการตรวจเลือดและสุขภาพช้างได้ทั้งหมด จากนั้นก็จะให้ควาญช้างนำพลายบุญรอดไป
อยู่ร่วมกับช้างของกลางที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมายที่อยู่ภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ
จ.ลำปาง อีกหลายเชือก
คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะช้างเชือกนี้ปรับพฤติกรรมเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 983 ประจำวันที่ 20 - 26 มิถุนายน 2557)