แปลกอย่างยิ่ง ในตรรกะ “สมุดพกความดี”
ที่อาจใช้เป็นบันไดไต่ฝันไปสู่มหาวิทยาลัย เพียงเพราะมีสมุดจดความดี
ความดีนั้นย่อมดีด้วยการกระทำ เมื่อทำความดี ความอิ่มเอมก็จะเกิดขึ้นภายในจิตใจ
ความสุขเกิดทันทีเมื่อคิดดี ทำดี แม้จะไม่ได้จดเอาไว้
ดังนั้น การจดบันทึกความดีสักพันคำ โดยที่ไม่อาจพิสูจน์ความดีจริงได้อย่างถ่องแท้
จึงไม่เท่ากับทำความดีเพียงครั้งหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องประกาศให้โลกรู้
เจเค โรลลิ่ง เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ไว้
อาจเป็นต้นกระแสธารของแรงบันดาลใจ สมุดพกความดี
แฮร์รี่ พอตเตอร์ นวนิยายแฟนตาซีชื่อดังก้องโลก
เต็มไปด้วยจินตนาการที่แทรกสอดความกล้าหาญในการเอาชนะความชั่วร้ายต่างๆ แฝงแนวความคิดให้เยาวชนไว้ได้อย่างชาญฉลาด
จนหลายประเทศทั่วโลกต่างยกให้เป็นหนังสือแนะนำแก่เยาวชน
แต่ไม่คิดว่าความแฟนตาซีที่เราเคยเห็นในนวนิยายก้องโลก
อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
เมื่อในโลกโซเชียลมีเดียได้แพร่สะพัดภาพ บุคคลในวงการศึกษาที่มีความละม้ายคล้าย “โดโรเรส อัมบริดจ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนต์
ที่ได้มาทำการสอนในวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดที่โรงเรียนฮอกวอตส์ แต่ไม่ได้สอนให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติในการป้องกันตัว
แต่กลับให้เอาแต่อ่านหนังสืออย่างเดียว
โดโรเรส อัมบริจด์
เป็นตัวละครที่ปรากฎร่างมาใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาค 5 ภาคีนกฟีนิกซ์
ซึ่งจัดว่าเป็นตัวละครที่โดดเด่นมาก
โดยเฉพาะฉากที่นางได้ลงโทษให้แฮรี่คัดลายมือว่า 'ฉันจะไม่โกหก'
โดยใช้ปากกาขนนกพิเศษโดยใช้เลือดแทนหมึก ทำให้คำที่ถูกคัดนั้นจะสลักอยู่ที่ด้านหลังมือของแฮร์รี่
และยังมีอีกหลายสิ่งที่นางได้กระทำการบังคับนักเรียนเมื่อครั้งที่เธอได้นั่งเก้าอี้รักษาการครูใหญ่
โดยได้ออกกฎระเบียบมากมาย โดยใช้ตัวเองเป็นที่ตั้ง และอ้างอำนาจจากกระทรวง
จะว่าไป แร็ค ลานนา
ก็เป็นแฟน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตัวยงคนหนึ่งเลย เพราะอ่านจบทุกเล่ม ทุกตัวหนังสือ
ตามต่อด้วยดูหนังทุกภาค และไม่เคยคิดว่า ตัวละครในนิยาย อย่าง โดโลเรส อัมบริดจ์
จะโดดออกมาในโลกความจริง แต่ความคิดต้องเปลี่ยนไปเมื่อได้เห็นข่าว “สมุดพกความดี” ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันในวงการการศึกษา
โดยคอนเซ็ปต์ของสมุดพกความดี คือการให้เยาวชนได้จดบันทึก “ความดี”
ที่ได้ทำในแต่ละวันโดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูผู้สอบเซ็นรับรอง
แต่
ที่สำคัญที่ฮือฮาในหมู่นักเรียนคือจะมีการนำเรื่องสมุดพกความดีนี้เป็นส่วน
หนึ่งในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อสู่ระดับอุดมศึกษาด้วย
!!!
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด...
แค่แนวคิดน่ะพอได้
แต่เป็นการปฏิบัติที่ทำได้ไม่ง่าย โดยเฉพาะการวัดประเมินผลสำเร็จของกิจกรรมนี้ เพราะมันมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการสร้างปั้นแต่งเรื่องความดีโดยที่ไม่ได้ทำจริง
เพียงเพื่อให้ครูเซ็นชื่อให้ผ่านไป รวมถึงจะเอาอะไรมาใช้เป็นมาตรฐานว่าความดีแบบไหนบ้างที่เข้าข่ายสมุดพกความดี
ไปจนถึงรายละเอียดประเภทว่าครูจะสามารถอ่านสมุดพกความดีได้ละเอียดและตรวจสอบได้จริงหรือไม่
สารพัดข้อสังเกต...
ในกรณี Talk of
the Town นี้ สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ที่มีการแต่งตัวละม้ายคล้าย
โดโลเรส อัมบริดจ์แห่ง ฮอกวอตส์ ได้กล่าวว่า
จริงๆแล้วเยาวชนทั้งหลายที่เรียนลูกเสือ เนตรนารี ก็มีสมุดที่ให้มีการบันทึกความดีอยู่แล้ว
และที่ผ่านมา สพฐ.เคยทำโครงการดังกล่าวมาแล้วโดยได้นำร่องทำ ‘นครปฐม’ โมเดล ที่ให้นักเรียนทำคุณงามความดีได้สิทธิในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในพื้นที่
เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น แต่ครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะนำมาดำเนินการอย่างจริงจังและขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น
เพื่อสอดรับกับนโยบายของ คสช.ที่ต้องการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของคนในชาติ
หากจะนำเรื่อง ‘สมุดพกความดี’ มาใช้ในการพิจารณาในการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา
คงต้องมานั่งคิดถึงขั้นตอนการตรวจให้ดี เพราะลำพังทุกวันนี้ เรื่อง O-NET ที่เป็นการสอบวัดผลระดับประเทศโดยใช้ข้อสอบเดียวกันที่ผ่านการจัดทำแบบมาตรฐาน
ยังวัดผลได้ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ต่ำกว่า 50% ภาษาบ้านๆแปลว่า
“สอบตก” เพราะเราไม่สามารถจัดให้มาตรฐานการเรียนรู้ให้เท่ากันทั่วประเทศได้
แล้วเราจะเอาเกณฑ์อะไรมาใช้ในการวัด “ความดี”
แทนที่จะเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
แต่กลับกลายเป็นว่า เรากำลังสร้างให้เยาวชน ทำงานแบบ ผักชีโรยหน้า ทุกวันนี้เด็กนักเรียนก็มีการบ้านเยอะแยะมากมายจนจ้างทำรายงาน
แท็คทีมลอกการบ้าน อยู่แล้ว แนวคิดนี้น่าจะนำร่องไปใช้กับนักการเมือง
เพื่อปลูกฝังการบันทึกความดีที่ได้ทำกันไว้บ้าง
ขณะที่ชาวเน็ตส่วนหนึ่งเกิดไอเดียนำภาพของ
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาแซวเล่นกับ โดโลเรส อัมบริดจ์ (อดีต) รักษาการ ผอ.ฮอกวอตส์
จากกระทรวงเวทมนตร์ และมีการแชร์ไปในโลกออนไลน์ ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจว่า
เหมือนกันอย่างกับแกะ
แต่เป็นแกะดำ ที่จับแพะชนแกะ
หาสาระอะไรมิได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 988 ประจำวันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2557)