วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กาแฟเพื่อนนก




กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เครื่องดื่มเก่าแก่ที่โลกรู้จักอย่างกาแฟ ได้เข้ามาสู่ความนิยมของเมืองลำปางระยะหนึ่งแล้ว ไม่นับรวมรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์และความหอมกำซาบ หากกาแฟคือพืชพรรณที่เปี่ยมไปด้วยรายละเอียด ซึ่งหลอมรวมเรื่องราวแห่งเมล็ดพันธุ์ ผู้คน และขุนเขา เข้าไว้ด้วยกัน

ฟังดูโรแมนติก ละมุนละไม ทว่าในความเป็นจริง ขณะที่ใครสักคนกำลังดื่มกาแฟ ป่าเขตร้อนก็กำลังถูกทำลายลงอย่างช้า ๆ เช่นเดียวกับสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในนั้น

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูท่าห์ สหรัฐอเมริกา ศึกษาความหลากหลายและการบริการทางนิเวศในไร่กาแฟและโกโก้ของประเทศคอสตาริกา เพื่อเปรียบเทียบระบบการทำไร่กาแฟ 2 แบบ คือ ระบบไร่เชิงเดี่ยว คือ มีกาแฟอย่างเดียวและพื้นที่ระหว่างต้นเปิดโล่ง กับระบบวนเกษตร คือ ปล่อยให้มีพืชอื่นขึ้นแทรกได้ตามธรรมชาติ พบว่า หากเกษตรกรใช้ระบบวนเกษตรในการทำกาแฟ จะได้ประโยชน์จากร่มเงาของต้นไม้มากกว่าการทำไร่เชิงเดี่ยวแบบเปิดโล่ง เพราะทำให้มีความหลากหลายของชนิดนกสูงกว่า ทำให้นกที่กินแมลงช่วยควบคุมศัตรูพืช นกที่กินน้ำหวานก็ช่วยผสมเกสร และที่สำคัญ นกที่กินเมล็ดกาแฟยังช่วยขยายพื้นที่เพาะปลูกให้โดยเกษตรกรไม่ต้องออกแรง แถมพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติใต้ร่มเงาของต้นกาแฟและโกโก้ก็มักมีประโยชน์ อาทิ กระวาน จึงมีการนำความจริงที่พบนี้ไปสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยดึงเอาความโดดเด่นของการเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น Bird Friendly-กาแฟเพื่อนนก หรือ Shade Coffee-กาแฟร่มไม้

นำไปสู่ Bird Friendly Coffee ซึ่งก็คือ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้า สร้างขึ้นโดยศูนย์นกอพยพสมิธโซเนียน-Smithsonian Migratory Bird Center (SMBC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรสวนสัตว์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเครื่องหมายมาตรฐานที่เข้มงวดที่สุด ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กาแฟที่ได้รับรองการผลิตมาตรฐานนี้แล้ว ถึงจะมีสิทธิ์ติดเครื่องหมายนี้ได้

ข้อกำหนดที่สำคัญสำหรับกาแฟที่จะได้รับเครื่องหมาย Bird Friendly Coffee

1. ต้องได้การรับรองมาตรฐานการผลิตแบบออร์แกนิกแล้ว คือ ต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่กำหนดโดย U.S. Department of Agriculture แล้วว่า ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีในการทำลายวัชพืชและแมลงต่าง ๆ และสามารถติดเครื่องหมาย USDA ORGANIC ได้

2. ต้องปลูกในที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ (Shade-grow Coffee Plantations) มีลักษณะเป็นการปลูกกาแฟในป่าที่ไม่ทำลายต้นไม้จนโล่งเพื่อปลูกกาแฟอย่างเดียว เป็นข้อกำหนดเพื่อให้สวนกาแฟที่ได้เครื่องหมายนี้เป็นป่าอนุรักษ์ สามารถเป็นที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ป่าต่าง ๆ โดยเฉพาะนก ซึ่งมีการสำรวจแล้วว่า สวนกาแฟลักษณะนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าได้พอ ๆ กับป่าที่คนยังไม่ได้เข้าถึง นอกจากนี้ กล่าวกันว่า แม้กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้จะโตช้ากว่ากาแฟที่ปลูกกลางแดดถึง 3 เท่า ทำให้ผลผลิตน้อย แต่ด้วยความที่มันโตช้า เขาก็ว่ามันอบบ่มรสชาติไว้ในเมล็ดกาแฟมากกว่า

เครื่องหมาย Bird Friendly Coffee และ USDA ORGANIC จึงเป็นสิ่งที่นักดื่มกาแฟที่รักธรรมชาติ รักสุขภาพ ต้องมองหา เท่านั้นยังไม่พอ สำหรับคนที่รักธรรมชาติ รักสุขภาพ และรักความยุติธรรมด้วย คงต้องมองหาเครื่องหมาย Fair Trade อีกอย่างหนึ่ง

Fair Trade เป็นเครื่องหมายมาตรฐานการผลิตกาแฟที่กระตุ้นประเทศที่นำเข้ากาแฟให้ซื้อกาแฟจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานนี้ในราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เพื่อให้ผู้ผลิตนำเงินไปจ่ายค่าแรงที่สูงกว่าให้แก่คนงานในไร่กาแฟ ซึ่งมักจะอยู่ในประเทศที่ยากจน เพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ สุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงานของพวกเขา และกระตุ้นการปลูกกาแฟแบบยั่งยืน ทั้งนี้ ชาวไร่กาแฟมักถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง จึงน่าดีใจที่มีบริษัทกาแฟหลายรายหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้ โดยเปลี่ยนมาซื้อตรง และให้ราคาที่เป็นธรรม ซึ่งกาแฟดอยช้าง มีลักษณะของสหกรณ์กาแฟเช่นเดียวกัน Fair Trade จึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่จะมีส่วนช่วยชาวไร่กาแฟได้ทางหนึ่ง

สรุปว่า มาตรฐานกาแฟที่ถือว่าสูงสุด คือ กาแฟที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้รับมาตรฐาน 3 อย่าง คือ Bird Friendly Coffee, USDA ORGANIC และ Fair Trade ซึ่งคอกาแฟตัวยงที่รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักสุขภาพ ขณะเดียวกันก็รักความเป็นธรรมด้วย คงต้องมองหา และนั่นอาจทำให้คอกาแฟกลายเป็นคน 3 มาตรฐานไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หมายเหตุ : วิชา พรหมยงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งกาแฟดอยช้างที่ล่วงลับไปแล้ว ได้พยายามผลักดัน ต่อสู้ จนสามารถได้เครื่องหมาย Fair Trade และ USDA ORGANIC มาติดได้ แต่ยังไม่ได้เครื่องหมาย Bird Friendly
      

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 991 ประจำวันที่ 15 - 21 สิงหาคม 2557)



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์