การกำหนดให้มีการบ้านเพื่อเป็นการทดสอบความเข้าใจของเด็กเพื่อเป็นประโยชน์ของตัวเด็กเอง
เป็นหน้าที่ ไม่ใช่ภาระ เพราะเด็กในวัยเรียนจึงมีหน้าที่เรียน ผิดจากนี้ไม่มี แต่การบ้านก็บานปลายกลายเป็นเรื่องการเมือง
ที่กระทรวงศึกษาธิการร้อนรนจนต้องออกนโยบายการบ้านออกมา เอาใจใครบางคน
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องถามกลับเป็นเรื่อง คุณภาพของคนสอนในห้องเรียน
ที่ทำให้จำเป็นต้องมีระบบกวดวิชาเสริมระบบในห้องเรียนที่อ่อนแอ
แหล่งกวดวิชาทั้งที่นำเข้ามาบางกอก
และของคนท้องถิ่นลำปางที่เห็นดาษดื่นเต็มเมืองเป็นตัวชี้วัดที่ชี้ชัดให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบการศึกษา
เพราะถ้าไม่มี Demand ก็คงไม่มี Supply เป็นแน่ แล้วเราเคยย้อนกลับมาถามเด็กๆข้างกายเราดูบ้างไหมว่า
ทำไมถึงต้องเรียนพิเศษ ??
ย้อนเวลาไปเมื่อราวๆต้นเดือน
กุมภาพันธ์ ปี 2556 สพฐ.แย้มออกมาว่าเปิดเทอมหน้า (เทอม 1-2556)
จะให้ครูสั่งการบ้านเด็กน้อยลง เพื่อเอาเวลาให้นักเรียนไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น
เน้นบูรณาการปฏิรูปหลักสูตร เพราะนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต่างบ่นกันเป็นแถวว่าไม่รู้การบ้านจะเยอะไปไหน
ทั้งเรียนทั้งทำการบ้านกลายเป็นเด็กหัวโตแล้ว แต่แล้ว....เรื่องก็เงียบหายไป ระบบการโปรยการบ้านก็กลับมาเป็นวงจรเดิมๆ
เหมือนจุ๊หมาน้อยขึ้นดอยแต้ๆ
การทำการบ้านของเด็กสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความเข้าใจในการเรียนของนักเรียน
อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ส่งสัญญาณให้ “ครู” รู้ได้ว่าทำหน้าที่สั่งและสอนนักเรียนให้เข้าใจในเนื้อหาได้หรือไม่
ไม่ใช่เพียงแค่วัดจากการสอบเท่านั้น รู้ตัวอีกทีเด็กก็สอบตกทั้งห้อง
นั่นก็จะเป็นการสายเกินแก้ และหากครูสอนนักเรียนทั้งห้องให้เข้าใจไม่ได้ คุณครูก็ควรต้องปรับวิธีการสอนให้นักเรียนเข้าใจให้ได้
เพราะในระดับประถม-มัธยม เป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวความรู้พื้น (Basic
Knowledge) เพื่อใช้ในการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่ต้องประมวลความรู้และคิดวิเคราะห์ตามลำดับชั้น
แต่ครูสมัยนี้นำวิธีการสอนแบบเด็กมหาวิทยาลัยไปใช้กับเด็กมัธยม โยนเอกสารให้ไปอ่าน
เมื่อความรู้พื้นฐานไม่มี แล้วจะให้เด็กนักเรียนเหล่านั้นเอาอะไรไปต่อยอด
ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก
เรื่องเก่ายังแก้ไม่ได้ เรื่องเดิมที่วนมาฟ้องถึงความย่ำแย่ ตอกย้ำระบบการศึกษาไทย
เมื่อผลสอบ O-NET ของปีการศึกษา 2556 ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ
(ประกาศผลปลายเดือนมีนาคม 57) ผลสอบบ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาระดับประถม
มัธยมต้น และมัธยมปลาย อันยอดแย่
เพราะคะแนนเฉลี่ยฟ้องแบบไม่ต้องเอาไปผ่านเครื่องมือวิเคราะห์ทางสถิติใดๆก็ชัดเจน
เป็นที่ประจักษ์ว่า “สอบตก” เกือบ
ทุกวิชา
โดยเฉพาะวิชาหลัก คณิต วิทย์ และภาษาอังกฤษ
ที่สำคัญนั่นเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยว่าเราไม่สามารถควบ
คุมคุณภาพการสอนให้สัมฤทธิ์ผลตามหลักสูตรที่ตั้งไว้
เป็นเวลานานแค่ไหนแล้ว ที่ครูผู้สอนสอนทั้งที่โรงเรียนและเปิดสอนพิเศษส่วนตัว
กั๊กความรู้ เทคนิคการสอนไปสอนเฉพาะที่เรียนพิเศษ แต่ในห้องสอนแค่ตามหลักสูตร จนสถาบันกวดวิชางอกเงยเป็นดอกเห็ด
ปัญหาระบบการศึกษาบ้านเราไม่ต่างอะไรกับฝุ่นใต้พรมที่สะสมทุกวัน
นานเข้าฝุ่นเขรอะก็ฟ้องออกมา เพียงแต่ว่าคราวนี้คนเปิดพรมคือ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งประเทศไทย
และนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดประเทศไทย ที่พูดเรื่องที่มันจี้ใจดำ
แทงหัวใจเหล่านักวิชาการ ครู ในแวดวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการบ้านเยอะจนไม่มีเวลาในครอบครัว
แจกชีทเยอะทั้งที่มีหนังสือเรียน ฯลฯ
จนก่อให้เกิดธุรกิจ “รับจ้างทำการบ้าน โครงงาน และวิทยานิพนธ์” ที่หาได้ง่ายๆเพียงแค่เข้ากูเกิลก็เจอเป็นล้านเว็บ
จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในที่สุด สพฐ.ก็ต้องตามน้ำตามกระแส อีกตามเคย
วันที่ 27 สิงหาที่ผ่านมา สดๆร้อนๆ เลขาธิการฯมีหนังสือร่อนถึงสำนักงานเขตการศึกษาทุกเขต ที่อ้างจากกระแสข่าวการรับจ้างทำการบ้านออนไลน์ทุกประเภท
เป็นการบ่อนทำลายการศึกษาของประเทศ
เพื่อหยุดการกระทำดังกล่าวจึงขอให้สำนักงานการศึกษาทุกเขตช่วยดำเนินการเรื่องต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด
ไม่ว่าจะเป็น
1) ครูต้องมอบหมายการบ้านอย่างเหมาะสม
ไม่มากและยากเกินไป ควรมอบหมายให้งานกลุ่ม
2) ให้ผู้บริหาร ร.ร.ติดตาม หากนักเรียนมีการลอก หรือจ้าง ให้ลงโทษตามระเบียบ
3) ให้แต่ละ ร.ร.ติวสอนเสริมให้กับนักเรียน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
4) ให้ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ติดตามการให้การบ้านของแต่ละ
ร.ร.อย่างใกล้ชิด
จนแล้วจนรอด
ไม่ว่าจะกี่นโยบาย ดูเหมือนจะเป็นการปัญหาที่ปลายเหตุแทบทั้งสิ้น น้อยครั้งที่เราจะมองหาต้นกระแสธารแห่งปัญหา
ว่าทำไม นักเรียนถึง “ลอกการบ้าน” เพราะถ้าจำนวนการบ้านเหมาะสมที่จะลับสมองให้แหลมคม
ทำให้ประยุกต์ใช้แก้โจทย์ปัญหาได้ ทำไมนักเรียนจะไม่อยากทำ แร็ค ลานนา แน่ใจว่า ไม่มีนักเรียนคนไหนในโลกที่จะชูมือตั้งใจจะเป็น
“คนโง่”
แต่บังเอิญเรียนในห้องกับคนฉลาดน้อย ถึงต้องมาแสวงหาปัญญานอกห้องเรียน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 994 ประจำวันที่5 - 11 กันยายน 2557)