วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เขลางค์ปิดฉาก ล้มสร้างเทศบาล ปลัดชี้ผิดแบบ ผู่รับเหมายันถูกต้อง


ล่วงเลย 7 ปี ที่ดิน 52 ไร่เทศบาลเมืองเขลางค์นครยังรกร้าง สำนักงานใหม่งบ 176 ล้านเป็นหมัน มีแต่เสาเข็มตั้งโด่ ผ่าน ปียังไม่มีความคืบหน้า ปลัดเทศบาลเผยพบปัญหามากมาย ทั้งเสาเข็มผิดแบบ-ใบประกันสัญญาไม่ถูกต้อง ผู้รับจ้างไม่เข้าทำงาน ล่าสุดเซ็นคำสั่งยกเลิกสัญญาจ้าง ระบุทำราชการเสียหายผู้รับเหมาไม่มีความสามารถในการทำงาน ด้านผู้รับจ้างยันทำตามหลักวิศวกรรม ทุกอย่างแก้ไขได้ ปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช้งาน 

-ติดตาม

ลานนาโพสต์ได้ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสำนักงานเทศบาลเมืองเขลางค์นครลำปาง หลังจากเมื่อวันที่  21 พ.ย. 56  เทศบาลเมืองเขลางค์นครได้จัดพิธีลงนามในสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองเขลางค์นคร  ระว่าง นายไพฑูรย์  โพธิ์ทอง  นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร  กับ นายสมเกียรติ  วราสินธ์  ผู้มีอำนาจกิจการร่วมค้า พี เอส ที  ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงาน ด้วยงบประมาณ 175,650,000 บาท  ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างจะครบ 1 ปี ในวันที่ 21 พ.ย.57 นี้ แต่ปรากฏยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

-ดูพื้นที่ พบเสาเข็มวางเกลื่อน 

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในสถานที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานของเทศบาลเมืองเขลางค์นคร บริเวณถนนเลี่ยงเมือง เขตบ้านร้อง หมู่ 12 ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง  พบว่าได้มีการล้อมรั้วสีเขียวไว้ด้านนอกพร้อมกับติดป้ายขนาดใหญ่ด้านหน้าข้อความว่า เตรียมพบกับสำนักงานใหม่เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ที่นี่เร็วๆนี้  เมื่อเข้าตรวจสอบด้านในพบว่ามีหญ้าขึ้นรกสูง บริเวณพื้นที่ตรงกลางมีการตอกเสาเข็มไว้บ้างแล้ว มีทั้งสูงและต่ำตั้งคาอยู่ โดยมีเสาเข็มบางส่วนที่ยังไม่ได้ตอกมีขนาดความยาวประมาณ 10 เมตร  วางเรียงรายอยู่กว่า 50 ต้น

-ปลัดเทศบาลฯยกเลิกสัญญา 

            ดังนั้นจึงได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าไปยังเทศบาลเมืองเขลางค์นคร  นายอมร ทองประดิษฐ์ ปลัดเทศบาล รักษาการนายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร เปิดเผยว่า  ขณะนี้สั่งยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมารายนี้ไปแล้ว ด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ติดตามมาตลอด พบว่าเวลาล่วงเลยมานาน 330 วันแล้ว ตั้งแต่ทำสัญญากับบริษัทมาจะครบ 1 ปี ในวันที่ 21 พ.ย. 57 นี้แต่งานยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ  ทางคณะกรรมการตรวจการจ้างได้เสนอเรื่องมาให้เมื่อวันที่ 22 ต.ค.57 และได้สั่งยกเลิกไปวันที่ 24 ต.ค.57

-ผู้รับเหมาไม่เข้าทำงาน

นายอมร กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่คณะกรรมการเสนอมา เนื่องจากผู้รับจ้างปล่อยงานให้ล่วงเลยมา 330 วัน และไม่สามารถก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญาที่กำหนดได้ เทศบาลฯได้เร่งรัดแจ้งเตือนหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติอย่างใดเลย ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปอาจทำให้เทศบาลฯได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอาคารได้ ไม่มีอาคารที่จะอำนวยความสะดวกต่อประชาชนที่มาติดต่อราชการ ซึ่งนับเป็นมูลค่าไม่ได้ ทำให้ภาพลักษณ์ที่มีต่อประชาชนเป็นไปในทางลบ ทั้งที่ประชาชนมีความคาดหวังว่ามีอาคารสำนักงาน เมื่อไปลงพื้นที่ไหนประชาชนก็จะสอบถามมาตลอดว่าทำไมไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง  หากเราปล่อยไว้ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย   นอกจากนั้นตั้งแต่สัญญาจ้างเริ่มวันที่ 22 พ.ย. 56 แต่ผู้รับจ้างไม่เข้ามาทำงาน อ้างเหตุผลหลายอย่างว่าขอสงวนสิทธิขยายสัญญาไปอีก 60 วันตั้งแต่เริ่มสัญญา รวมทั้งว่าเทศบาลฯไม่มอบพื้นที่ แนวเขตที่ดินไม่ตรงกับแบบแปลน  ซึ่งเรื่องนี้เทศบาลฯไม่สามารถให้ตามที่ขอได้ เนื่องจากก่อนที่ผู้รับจ้างจะมาเป็นคู่สัญญา ต้องดูรายละเอียดสัญญาและสภาพพื้นที่หมดแล้วว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง

-ขอเบิกเงินเกินค่างาน 

ผู้รับจ้างยังได้ขอแบ่งงวดงานใหม่ เดิมมี 10 งวด ขอมาเป็น 11 งวด ซึ่งการจะขอเปลี่ยนแปลงสัญญาตามระเบียบราชการ จะต้องให้ราชการได้ประโยชน์ หรือเป็นความผิดของทางราชการเอง แต่กรณีนี้ขอเปลี่ยนแบบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เช่น งวดงานที่ 1 ขอแก้ไขจำนวนเงินที่เบิกคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างทั้งหมด คิดเป็น 17 ล้านบาทเศษ  แต่คิดค่างานแล้วมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 7 ล้านบาท จึงอนุมัติให้ไม่ได้ สิ่งที่เทศบาลฯบอกให้ดำเนินการ เช่น การจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ส่งรถยนต์ให้ผู้ตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน ก็ไม่ส่งมอบให้  ทางเทศบาลฯก็ต้องเอารถราชการไปตรวจทำให้ราชการเสียหาย  นายอมร กล่าว 

-ทำเสาเข็มไม่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการตอกเสาเข็มไม่ถูกต้องเป็นอย่างไร ปลัดเทศบาล  เปิดเผยว่า มีคนร้องเรียน สตง. เข้ามาตรวจพบว่าการทำเสาเข็มไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ จึงมีหนังสือสอบถามทางเทศบาลฯมาว่าจะแก้ไขอย่างไรและรายงานให้ทาง สตง.ทราบด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีไรเกิดขึ้น เรื่องก็เงียบเชียบ  เทศบาลฯทำหนังสือให้ผู้รับจ้างแก้ไขแต่ก็ไม่แก้ไข เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ถูกต้องหลังตอกไปแล้ว 30 กว่าต้น แต่ก็ยังฝืนตอกไปอีกเป็น 348 ต้น ตอนนี้ก็คาอยู่แบบนั้น

-ไม่เข้ามาแก้ไข

เสา เข็มไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด คือ ไม่มีเหล็กเสริมภายใน ซึ่งจะเป็นตัวที่ยึดอาคารและป้องกันการเกิดแผ่นดินไหว การก่อสร้างของทางราชการเมื่อมีแบบคู่กับสัญญาก็ต้องทำตาม และที่สำคัญคือผู้รับจ้างต้องศึกษาแบบทั้งหมดก่อนจะเข้ามาทำงานแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อทำไปกลับตรวจพบว่าไม่ถูกต้องเมื่อผู้ควบคุมงานสั่งให้หยุด ก็ไม่หยุดยังทำต่อไป จนเกิดปัญหาการร้องเรียน แจ้งให้แก้ไขก็ไม่ทำอะไร ซึ่งการตอกเสาเข็มไม่ถูกแบบก็คงมาอ้างเหตุผลอื่นๆไม่ได้ เพราะมีแบบให้ทั้งหมดแล้ว เป็นการประมาทเลินเล่อไม่ศึกษาแบบให้ดีก่อนทำงานของผู้รับจ้าง หากตรวจสอบแล้วไม่ตรงไม่ถูกต้อง ก็ควรทำหนังสือแจ้งมาที่เทศบาลฯ จะได้ตรวจสอบได้ว่าจะแก้ไขอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่ใช่ทำไปแล้วบอกว่าไม่ถูกแบบ  แม้แต่เรื่องแนวเขตที่ดินก็ทำหนังสือแจ้งให้หมดแล้ว แต่ก็ไม่มีงานคืบหน้าสักอย่าง แนวเขตวางผังตอกเสาเข็มก็อนุมัติให้ร่นเข้ามาในเขตเทศบาลฯ 10 เมตร จะเห็นว่าพื้นที่ของเทศบาลฯไม่ได้มีปัญหาอุปสรรคอะไรเลย เป็นพื้นที่โล่งกว้างถึง 52 ไร่  แต่ผู้รับจ้างก็อ้างปัญหาพื้นที่ต่างๆนานา เทศบาลฯทำตามระบบราชการเมื่อพบปัญหาก็ต้องแจ้งทางผู้รับจ้างให้เข้ามาแก้ไข และยังได้ส่งหนังสือเร่งรัดให้เข้ามาทำงานตลอด แต่ทางผู้รับจ้างก็ไม่ทำอะไร  

-ความก้าวหน้าเป็นศูนย์ 

ซึ่งตามสัญญาแล้ว วันที่ 14 ก.ค.58 อาคารสำนักงานจะต้องก่อสร้างเสร็จ รวม 600 วัน  แต่ตอนนี้จะครบ 1 ปี ความก้าวหน้าของงานเป็น ร้อยละ 0 ถ้าปล่อยให้ดำเนินการต่อไป เป็นผลเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอาคารได้  จึงพิจารณาเห็นว่าผู้รับจ้างขาดความพร้อม ขาดความสามารถในการทำงานมาตั้งแต่ต้น ทุกวันนี้เทศบาลฯต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ในการเช่าอาคารปีละ 1.2 ล้าน ค่าไฟเดือนละ 120,000 บาท ค่าน้ำเดือนละ 30,000 กว่าบาท  ค่าทำความสะอาดอีก รวมเดือนประมาณ 300,000 บาท ถ้าคิดเป็นปีเกือบ 4 ล้านบาท

-สัญญาประกันผิด

ปลัดเทศบาลฯ กล่าวอีกว่า  ยังมีเรื่องหนังสือประกันสัญญาทางราชการไม่ถูกต้อง จำนวนเงิน 8 ล้านบาทเศษ แจ้งให้แก้ไขก็เพิกเฉย  ซึ่งตามระเบียบกำหนดไว้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเป็นผู้รับรองหนังสือค้ำประกันเท่านั้น แต่ทางผู้รับจ้างได้ใช้หนังสือค้ำประกันของบริษัทอื่น  ซึ่งการเรียกเงินคืนก็จะยากไม่รู้จะไปเอาจากใคร อาจจะต้องมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป ซึ่งการยกเลิกสัญญาผู้รับจ้างสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันหลังจากวันที่ได้รับหนังสือ โดยทางเทศบาลฯได้ส่งหนังสือไปเมื่อวันที่ พ.ย.57 ตามที่อยู่ที่ผู้รับจ้างให้ไว้ แต่ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้ตีกลับมาระบุว่าบ้านปิด อย่างไรก็ตามจะได้ติดต่อกับทางผู้รับจ้างให้ได้อีกครั้ง 

-ผู้รับจ้างระบุไม่ถูกก็ทำใหม่

ทั้งนี้ ลานนาโพสต์ยังได้ติดต่อไปยัง กิจการร่วมค้า พี เอส ที ทางโทรศัพท์มือถือ โดยมีสมเกียรติ  วราสินธ์  เป็นผู้รับสาย จึงได้สอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทุกอย่างแก้ไขได้ เรื่องเสาเข็มก็แก้ไขได้ ไม่ถูกต้องก็ตอกใหม่  เมื่อถามต่อไปว่าเวลาล่วงเลยไปเป็นปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า นายสมเกียรติ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเริ่มดำเนินการต่อ ได้คุยกับทางเทศบาลฯแล้วเป็นในแนวทางเดียวกัน  เรื่องที่โดน สตง.ตรวจสอบก็ไม่ได้สน ทำให้ถูกระเบียบก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ตนไม่ได้ไปลดสเป๊กเหล็ก หรือลดสเป๊กคอนกรีต ซึ่งทำตรงตามหลักวิศวกรรมก่อสร้าง 

-ปัญหาอยู่ที่คน ให้ถามเทศบาล

การที่ไม่ได้เข้าไปทำงานต้องกลับไปถามเทศบาลฯว่ามีปัญหาอะไรกันภายในหรือเปล่า การทำงานของเราถึงติดปัญหาเยอะ อยากให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันไปกันได้ ทางเราก็ทำงานได้ แต่ถ้ายังมีปัญหากันผลกระทบก็จะเกิดกับการก่อสร้างและยาวไปถึงประชาชนที่จะใช้ประโยชน์ ทุกอย่างวิธีทางแก้ ปัญหาอยู่ที่คนไม่ได้อยู่ที่งาน 

-อ้างจะทำหนังสือประกันสัญญาใหม่

กรณีหนังสือประกันสัญญาไม่ถูกต้อง  นายสมเกียรติ กล่าวว่า เตรียมจะเปลี่ยนแล้วเพราะจะหมดอายุ จะทำหนังสือค้ำประกันเข้าไปใหม่และเปลี่ยนอันเก่าออกมา ไม่ต้องตีความอะไรมาก  เมื่อถามต่อว่าหากเทศบาลจะยกเลิกสัญญาจะอุทธรณ์หรือไม่  นายสมเกียรติ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น อะไรแก้ได้ก็แก้ไขกันไป ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ต้องทำตามหลักวิศวกรรม 

-ยืดเยื้อนาน 7 ปี

สำหรับการก่อสร้างอาคารเทศบาลเมืองเขลางค์นครดังกล่าว ผ่านมาแล้ว 8 ปี ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ตั้งแต่การจัดซื้อที่ดินโดยเมื่อเดือน ก.ย.51 นายดนูดล วรรณปลูก นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นครในสมัยนั้น ได้ขออนุมัติงบประมาณผ่านสภาเทศบาลฯวงเงิน 80 ล้าน เพื่อเป็นค่าจัดซื้อที่ดินสร้างสำนักงาน ซึ่งระหว่างดำเนินการก็ได้มีใบปลิวโจมตีอย่างต่อเนื่องถึงการทุจริตต่างๆ  ต่อมาในปี 53 วันที่ 20 ก.ค.53  นายดนูดล วรรณปลูก นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองนครเขลางค์ ได้แถลงข่าวการจัดซื้อที่ดิน เนื้อที่ 51 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา ในราคา 65 ล้านบาทเศษ ซึ่งซื้อจากประชาชนเจ้าของที่ดินจำนวน 14 ราย ตั้งอยู่บริเวณถนนเลี่ยงเมือง ห่างจากแยกภาคเหนือเพียง 600 เมตร เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองนครเขลางค์ ก่อนที่นายดนูดลจะหมดวาระไป  และจากการเลือกตั้งวันที่ 26 ก.ย.53 นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง ได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแทน และได้ดำเนินการขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสำนักงานผ่านสภาเทศบาลฯ จนกระทั่ง เมื่อวันที่  19  ธ.ค.55  สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเขลางค์นครได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้ใช้จ่ายเงินสะสมจำนวน  119  ล้านบาท  สมทบการก่อสร้างอาคารสำนักงาน  ซึ่งมีวงเงินก่อสร้างเฉพาะตัวอาคาร  176  ล้านบาท  ต่อมาทางเทศบาลฯได้เปิดประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์  และมีการยื่นซองประมูล วันที่ 4 ก.ย. 56  ปรากฏว่ามีผู้มายื่นซองเพียง 1 ราย จึงต้องยกเลิกและเปิดประมูลครั้งที่ 2  มีผู้มาซื้อซองจำนวน ราย  หลังจากที่ได้มีการเปิดประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รอบ  2  กำหนดให้ยื่นซองเมื่อวันที่  21 ต.ต.56 ปรากฏว่ามีผู้มายื่นซองเพียง 1 ราย  ซึ่งตามประกาศกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรื่องหลักเกณฑ์การซื้อหรือการจ้างโดยการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์  กำหนดว่า กรณีมีผู้เสนอราคาถูกต้องตามประกาศหนึ่งราย    ให้เสนอหัวหน้าฝ่ายบริหารเพื่อยกเลิกการประมูลทั้งหมด และดำเนินการใหม่  ในรอบที่ นายไพฑูรย์ จึงได้ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีวิเศษ และสามารถสรรหาผู้รับจ้างได้ คือ กิจการร่วมค้า  พีเอสที   ตกลงรับงานก่อสร้างอาคาร ในราคา  175,650,000  บาท   เริ่มสัญญา 21 พ.ย.56 ถึง 14 ก.ค. 58  รวม 600 วัน  จนกระทั่งเกิดปัญหาต้องมีการหยุดดำเนินการดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการตั้งแต่การจัดซื้อที่ดินจนถึงการจัดจ้างผู้รับจ้างเข้ามาก่อสร้างล่วงเลยเวลามาแล้วเกือบ 7 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างได้.


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1003 ประจำวันที่ 14 - 20 พฤศจิกายน  2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์