จากยอดเนิน
ทางเดินเล็ก ๆ นั้นดิ่งลงไปสู่หมู่ไม้ในป่าดิบแล้ง จนกระทั่งเกือบจะสุดทาง
ภาพเบื้องหน้าก็ค่อย ๆ เผยให้เห็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่สีเขียวมรกต โอบล้อมไปด้วยหน้าผาหินปูนสูงชัน
ในน้ำสวยใสนั้นยังมีฝูงปลาตัวเล็กตัวใหญ่หลายชนิด
หล่มภูเขียวเปรียบดังโอเอซิสกลางผืนไพร
ทำให้ใครก็ตามที่ได้พบเห็นถึงกับตื่นตะลึงในความงามที่เจือกลิ่นอายแห่งความลี้ลับ
แอ่งน้ำเนื้อที่ราว 2
ไร่แห่งนี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ตั้งอยู่ที่หมู่ 6
ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว ในอดีตเล่ากันว่า เคยเป็นที่ตั้งของสำนักวิปัสสนาหล่มภูเขียว
ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือในความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีข้อห้ามที่รับรู้กันว่าจะไม่มีการจับสัตว์น้ำในหล่ม
หรือตัดต้นไม้โดยรอบ ซึ่งก็เป็นผลดีที่ทำให้บริเวณนี้ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ
ในทางธรณีวิทยา
หล่มภูเขียวเกิดจากการยุบตัวลงมาของหินปูน ซึ่งเคยเป็นเพดานถ้ำมาก่อน
แล้วจมลงใต้น้ำ หรือที่เรียกว่า หลุมยุบ (sink hole) เกิดเป็นแอ่งขนาดใหญ่ที่มีหินปูนโอบรอบ
โดยสายน้ำได้พัดพาตะกอนหินปูนลงมา ซึ่งตะกอนหินปูนนี้ไม่ได้ทำให้น้ำขุ่น
เพราะมาจับตัวกันเป็นชั้น ส่วนสีเขียวเกิดจากการสะท้อนแสงของตะไคร่น้ำและแพลงก์ตอน
หลุมยุบ
คือ หลุม หรือแอ่งที่พบในภูมิประเทศแบบคาร์สต์ (karst) ซึ่งหมายถึงภูมิประเทศที่เกิดจากการที่น้ำชะละลายชั้นหินออกไป
เกิดได้ในหินหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เกิดในหินปูน มีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำ เต็มไปด้วยหลุมบ่อ
ถ้ำ และทางน้ำใต้ดิน ทั้งนี้ หลุมยุบมีรูปร่างได้หลายแบบ เช่น ทรงกระบอก กรวย อ่าง
หรือจาน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2-3 เมตร
จนถึงหลายร้อยเมตร เกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบมาก ได้แก่ การยุบตัวของเพดานถ้ำ
ไกลจากหล่มภูเขียว
แหล่งท่องเที่ยวอันซีนของบ้านเรา ระยะทางพันกว่ากิโลเมตรที่อำเภอควนโดน
จังหวัดสตูล มีแหล่งธรรมชาติทางธรณีวิทยาคล้าย ๆ กันชื่อ “ทะเลบัน” ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน แวดล้อมไปด้วยป่าดงดิบชื้นผืนใหญ่ชายแดนไทย-มาเลเซียที่อุดมสมบูรณ์มาก
ชื่อทะเลบันมีที่มาจากภาษามลายูถิ่นว่า
“ลาโอตเรอบัน” ลาโอต หมายถึง ทะเล ส่วนเรอบัน หมายถึง
ยุบตัว เล่าขานกันมาว่า เมื่อหลายร้อยปีก่อนบริเวณนี้เคยเป็นที่ราบแสนอุดมสมบูรณ์
ต่อมาแผ่นดินค่อย ๆ ยุบตัวลงไป โดยบ้างก็ว่าเป็นผลมาจากแผ่นดินไหวนานนับเดือน
จนเกิดเป็นแอ่งและมีน้ำขังในเวลาต่อมา ชาวบ้านซึ่งไม่เคยเห็นทะเลก็เข้าใจว่าบึงน้ำจืดขนาดใหญ่นี้เป็นทะเล
เลยเรียกกันว่าทะเลยุบ หรือลาโอตเรอบัน กระทั่งเปลี่ยนมาเป็นทะเลบันในที่สุด
ขณะที่นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า
พื้นที่ข้างล่างอาจเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ เพราะทะเลบันถูกขนาบข้างด้วยเทือกเขาทั้งสองด้าน
ต่อมาเมื่อโพรงถ้ำพังทลายลง พื้นที่บริเวณนี้จึงยุบตัวกลายเป็นบึงน้ำกว้างใหญ่กว่า
125 ไร่
เรียกว่าความกว้างใหญ่นั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับหล่มภูเขียว
ส่วนความลึกของหล่มภูเขียวก็ยังไม่มีการสำรวจยืนยันอย่างชัดเจน แต่หากใครเป็นนักดำน้ำ
เห็นแอ่งน้ำสีเขียวใสลึกลับอยู่กลางป่าก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่า เบื้องล่างนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างไรหนอ
มีหลุมยุบที่เกิดขึ้นในทะเล
รู้จักกันในชื่อหลุมน้ำเงินดีน หนึ่งในหลุมน้ำเงินที่ลึกที่สุดในโลกของประเทศบาฮามาส
เคยถูกใช้เป็นสถานที่แข่งขัน Freediving World Cup ด้วยความลึกราว 202
เมตร ปากหลุมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25-35 เมตร ทุกวันนี้หลุมน้ำเงินดีนยังเป็นแหล่งดำน้ำที่ท้าทายและได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
เมื่อ
3 ปีก่อน อภินันท์ บัวหภักดี นักเขียนและช่างภาพอนุสาร อ.ส.ท. ซึ่งนับเป็นนักดำน้ำที่มากประสบการณ์คนหนึ่งของเมืองไทย
เคยมาเยือนหล่มภูเขียวแล้วเปรย ๆ ไว้ว่า สักวันหนึ่งจะลองมาดำน้ำถ่ายภาพใต้น้ำของหล่มภูเขียวดูบ้าง
ถึงวันนั้นเราคงมีข้อมูลของหล่มภูเขียวมากขึ้น แต่หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Sanctum
ของเจมส์ คาเมรอน
ที่เล่าถึงการสำรวจถ้ำใต้ทะเลของทีมนักดำน้ำสำรวจถ้ำ ก็คงพอใจที่จะนั่งซึมซับความงามของหล่มภูเขียวอยู่แค่บนบกมากกว่า
อย่างไรก็ตาม
นักธรณีวิทยาจัดว่าหลุมยุบคือธรณีพิบัติภัยประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยพบว่า พื้นที่ที่เกิดหลุมยุบส่วนใหญ่อยู่บนที่ราบใกล้ภูเขาหินปูน
นั่นหมายความว่า หลุมยุบใช่เพียงแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม หากเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนเมื่อไร
มันจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมทันที