นิยามของแม่เมาะนั้น
มิใช่เพียงอำเภอเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางเพียงสิบกว่ากิโลเมตร
แต่คือเหมืองลิกไนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เบื้องล่างของแอ่งเหมืองแม่เมาะ
คือภาพอันคุ้นตาด้วยชั้นดินสีแดงที่ถูกเปิดออกจนได้ความลึกกว่า 200 เมตร
ลงไปถึงชั้นถ่านหินลิกไนต์สีน้ำตาลเข้ม โดยมีรถขุดและรถเทท้าย
หรือที่คนเหมืองเรียกว่ารถรับ หนักถึง 85 ตัน วิ่งวนเวียนเพื่อขนถ่ายมันขึ้นมาสู่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า
ในอดีต
นับเป็นเรื่องปกติของคนแม่เมาะที่จะเห็นไฟลุกลามตามป่าเขายามค่ำคืน
แต่ในสายตาของนักสำรวจฝรั่งที่ได้รับการว่าจ้างให้ออกสำรวจเชื้อเพลิงทดแทนป่าไม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6
นี่คือแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่มีมากพอสำหรับการขุดขึ้นมาผลิตพลังงานได้กว่า
50 ปี หลังจากนั้นมา ถ่านหินก็ถูกสัมปทานโดยบริษัทเอกชนต่างชาติ
กระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นห่วงว่าการสัมปทานถ่านหินจะตกไปอยู่ในมือชาวต่างชาติเสียหมด
จึงมีพระราชดำริให้สงวนแหล่งถ่านหินของประเทศไว้ เช่นนี้
องค์การลิกไนต์จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ
ตามตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ (รัฐวิสาหกิจ) เพื่อจัดการผลิตถ่านหินลิกไนต์อย่างจริงจัง
ในปี
พ.ศ. 2501-2503
โรงจักรแม่เมาะได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับลำปางและพื้นที่ใกล้เคียง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลก็ได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) โดยรวมกิจการลิกไนต์ทั้งที่แม่เมาะและกระบี่
รวมถึงการไฟฟ้ายันฮีและการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน
ทุกวันนี้
จากกองดินที่เปิดชั้นเหมือง บางลูกกลายเป็นเนินสไลเดอร์ที่เรียกรอยยิ้มจากเด็ก ๆ
ได้เสมอ บางลูกก็กลายเป็นทุ่งดอกบัวตองเหลืองอร่ามในยามฤดูหนาว
ทว่าภาพเหล่านี้ก็ถูกสั่นคลอนหลังโฆษณาชุดล่าสุดของ
กฟผ. แพร่ภาพออกมา
มูลนิธิโลกสีเขียว
โดยภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ นักเขียนรับเชิญ เขียนเรื่องเหรียญด้านที่สองของถ่านหิน ไว้ในคอลัมน์คุยข่าวสีเขียวว่า
“กฟผ. โฆษณาชักจูงให้สังคมไทยเห็นด้วยถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินจาก 18
เปอร์เซ็นต์ เป็น 34 เปอร์เซ็นต์
โดยพยายามโน้มเอียงว่าถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด และอ้างเหตุผลความมั่นคงด้านพลังงาน
ต้นทุนเกี่ยวกับถ่านหินที่ กฟผ. ไม่เคยกล่าวถึง คือ
ต้นทุนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในที่สุด
โรงไฟฟ้าถ่านหินคือนักฆ่าที่มองไม่เห็น
มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ
เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยสารสำคัญ คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ปรอท
ไดออกซิน และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ซึ่งสามารถเข้าสู่ปอดและหัวใจได้โดยตรงผ่านการหายใจ
ผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่เรื่องไกลตัว
หรือส่งผลเฉพาะคนที่อยู่โดยรอบโรงไฟฟ้า ผลการศึกษาขององค์กรพันธมิตรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
The
Health and Environment Alliance : HEAL ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้จำกัดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้าเท่านั้น
กลุ่มหมอกเมฆมลพิษเหนือโรงไฟฟ้าสามารถลอยไปไกลได้หลายร้อยกิโลเมตร จนกระทั่งไปตกอยู่บนแผ่นดิน
แม่น้ำ หรือปอดของมนุษย์ ยิ่งหมอกควันลอยสูงและลมแรง ยิ่งทำให้พัดพาสารพิษไปได้ไกลยิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โรง มีอายุการใช้งานนานถึง 40
ปี นั่นหมายความว่า เราต้องทนรับมลพิษนานถึง 40 ปีด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้
การปล่อยให้ฝ่ายผู้ผลิต ซึ่งได้รับผลประโยชน์ระยะสั้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูกกว่า
เป็นผู้ชี้นำและป้อนข้อมูลด้านเดียวให้กับภาครัฐและสังคมจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง”
ขณะ
ที่สังคมออนไลน์ฝ่ายสนับสนุนถ่านหินและต่อต้านถ่านหินก็งัดข้อมูลออกมาคัด
ง้างกันชนิดไม่มีใครยอมใคร
ทั้งนี้ มีการอธิบายว่า
ของเสียที่ได้จากกระบวนการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงจากถ่าน
หินนั้นมีน้อยมากแล้วในเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน
โดยเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำให้ถ่านหินสะอาดมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดก่อนการเผาไหม้
เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดขณะการเผาไหม้ และเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดหลังการเผาไหม้
จะเห็นว่าในปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการใช้ถ่านหินให้มีประสิทธิภาพและสะอาดมากขึ้น
และมีต้นแบบให้สามารถศึกษาได้ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ถ้าเป็นเช่นนี้จริง
สิ่งที่ กฟผ. ควรทำก็คือ สื่อให้เห็นว่าถ่านหินสะอาดกว่ายุคก่อนมากแค่ไหน และการจัดการด้านฝุ่นละอองทำกันอย่างไร
ประเทศไทยมีความอ่อนไหวด้านพลังงานมาก
ก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีแนวโน้มจะหมดจากอ่าวไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า
ถ่านลิกไนต์ในเมืองไทยก็ใกล้หมดแล้ว โรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้นอยู่ได้อีกประมาณ 30
ปีเท่านั้น และก็อีกนั่นแหละ มันยังคงเป็นปัญหาโลกแตกถ้าต้องเลือกระหว่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ล่าสุด UN ยังได้เผยรายงานฉบับใหม่
เรียกร้องให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ภายในปี ค.ศ. 2100
เพื่อจำกัดผลกระทบที่เป็นอันตรายร้ายแรงของภาวะโลกร้อน
เฮ่อ
ระหว่างนี้เราหันมาช่วยกันประหยัดไฟฟ้าดีกว่า พร้อมกับดูทีท่าของ Solar Rooftop อย่างเสรีไปพลาง ๆ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1012 ประจำวันที่ 16 - 22 มกราคม 2558)