ไม่แตกต่างไปจากองค์กรอื่นๆ ที่มีสิทธิเสนอความเห็น และเสนอความเห็นกันมากมาย แต่ความเห็นของคณะรัฐมนตรีที่ส่งไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญราว 100 ประเด็น โดยหลักการสำคัญที่รัฐบาลต้องการ คือให้สิ่งที่รัฐบาลนี้ คณะรัฐมนตรีชุดนี้ที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว ถูกนำไปสานต่อ มิใช่ตั้งต้นใหม่
ต้องตีความว่า มีน้ำหนักมากกว่าข้อเสนอที่มาจากแม่น้ำสายอื่นๆ หรือองค์กรอื่นๆ เพราะ ครม.มี คสช.เป็นต้นกระแสธาร ที่ทำให้เกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของ สปช.รัฐบาล และคสช.จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่หลายเรื่องที่รัฐบาลทำ หลายเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำ
ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า สปช.เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเท่านั้น สปช.ไม่ใช่อำนาจสุดท้ายที่จะตัดสินว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือที่สังคมมีความเชื่อเช่นนั้น
รัฐบาลจัดการเสนอกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ล้มความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช.อันเป็นหลักไมล์แรกของการปฏิรูปสื่อ ทั้งที่กระบวนการปฏิรูปสื่อกำลังดำเนินอยู่
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.แข็งขันอย่างยิ่งในการเสนอปรับโครงสร้างสำนักตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทั้งระบบ โดยเฉพาะสำนักงานสตช.และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) จะต้องไม่มีอีกต่อไป เพื่อให้องค์กรตำรวจมีความอิสระทั้งในเรื่องของการแต่งตั้ง โยกย้าย ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง โดยมีองค์กรกลางเข้ามาทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจสอบสวนแยกออกจากงานตำรวจ เป็นอีกองค์กรหนึ่ง
มีสภากิจการตำรวจแห่งชาติ ที่มีกรรมการประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคง และหัวหน้าส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการคัดเลือกจากส.ส.และส.ว. เข้ามาทำหน้าที่ ปรับการกระจายอำนาจการบริหารจากเดิมที่รวมศูนย์ไว้ที่สตช. ให้กระจายออกไป โดยกำหนดให้มีตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ที่การบริหารแยกจากกัน โดยให้มีหน้าที่และการบริหารงานตามตามที่กฏหมายได้บัญญัติไว้ รวมทั้งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ แต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนตำรวจ
เรียกว่าเป็นการเสนอปฏิรูปตำรวจที่ผ่านการตกผลึกทางความคิด และเป็นรูปธรรมมากที่สุด
แต่สุดท้าย สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ทำให้ปราสาททรายในการปฏิรูปตำรวจล้มครืนลงในพริบตา
“วันนี้ผมปฏิรูปไปได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลหน้า โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจจะรื้อจะปรับอย่างไรบอกรัฐบาลหน้า และฝากบอกพี่ๆ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอมาด้วย ถ้าให้รัฐบาลผมทำวันนี้เรื่องปฏิรูปจะเดินหน้าได้อย่างไร”
หลายเรื่อง เช่น การตัดกลุ่มการเมืองออก ตัดกรรมการกลั่นกรองสมาชิกวุฒิสภา ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเสนอกฎหมาย แต่การเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก และแก้วาระในการดำรงตำแหน่งนายกฯจากสองสมัยติดต่อกัน เป็น 8 ปี กลับมีคำถามที่ชวนคิดว่า เป็นการปูทางเพื่อสืบทอดอำนาจของคนบางคนหรือไม่
ข้อเสนอแก้ไขของคณะรัฐมนตรี ภายใต้ คสช.ย่อมเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้ในทางหลักการจะไม่ใช่ข้อผูกมัดให้ คณะกรรมาธิการยกร่างต้องปรับแก้ตามข้อเสนอก็ตาม
ไม่มีใครยอมรับพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ ของ คสช.และจะเรียกว่าเป็นใบสั่งก็ยิ่งยากจะกล่าวคำ
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซ้ายหัน ขวาหันได้ ใครเป็นคนสั่ง ให้ย้อนไปอ่านตอนต้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1031 วันที่ 5 - 11 มิถุนายน 2558)