ในโลกของการพัฒนาทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารเป็นเหมือนเรื่องใหม่และท้าทายสำหรับกลุ่มชาวบ้านหรือเกษตรกรอยู่เสมอ เมื่อเทียบกับธุรกิจรูปแบบอุตสาหกรรม ที่ดูเหมือนคนคุยเรื่องเดียวกันแต่คนละภาษา เพียงเพราะขาดองค์ความ เทคโนโลยีและการจัดการ เช่นเดียวกับการแปรรูปสับปะรดเป็นผลผลิตของจังหวัดลำปาง ที่บางครั้งประสบปัญหาสับปะรดล้นตลาด เกษตรกรนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกวน แต่เรื่องของคุณภาพมาตรฐานทางโภชนาการยังไปไม่สุดทางที่จะยกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่โลดแล่นโดดเด่นในท้องตลาดได้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มอาชีพเป็นวิสาหกิจสับปะรดแปรรูป ภายใต้การดูแลโดยสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรด
ชุมชนบ้านทรายทองพัฒนา ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งถูกจัดวางให้เป็นผู้ประกอบการ SMEs และOTOP ต้นแบบของจังหวัดลำปาง เข้าร่วมโครงการรับบริการทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตในกิจการของวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิต รวมถึงการพัฒนาต่อยอดคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้สอดคล้องและรองรับกับสภาวะการแข่งขัน
สิริพร ช่างปณีตัง ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด เล่าว่า สหกรณ์ฯเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรชาวสวนสับปะรดในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร โดยสหกรณ์จะเป็นหน่วยงานกลางรับซื้อสับปะรดจากสมาชิก กระจายออกสู่ตลาดผู้บริโภค(ผลสด) และภาคอุตสาหกรรม(ส่งโรงงาน) แต่ในกระบวนการคัดแยกผลผลิต มักมีสับปะรดที่ไม่ได้ขนาด หรือผลสับปะรดมีตำหนิ ด้อยคุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูป ทำให้มีผลผลิตเหลือจากระบบขายส่ง การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว นักวิจัยในโครงการฯ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ช่วยทำการศึกษาวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์สับปะรดปัตตาเวียและถ่ายทอดเทคนิควิธีควบคุมคุณภาพเนื้อสับปะรดเพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานโรงงานด้วยการใช้เทคโนโลยีธาตุอาหาร
นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดคิดค้นนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์สับปะรดทั้งลูก และให้มีสิ่งเหลือทิ้งน้อยที่สุด โดยในเบื้องต้นมีผลิตภัณฑ์ในโครงการ 3 ชนิดคือ นำเนื้อมาเป็นส่วนผสมหลักในการทำน้ำพริกสับปะรด นำแกนสับปะรดไปแช่อิ่มอบแห้ง และน้ำที่คั้นออกจากกระบวนการผลิตนำไปทำน้ำส้มสายชู และในอนาคตมีแผนจะนำเปลือกที่เหลือไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ขายให้กับฟาร์ม หรือสหกรณ์ที่เลี้ยงสัตว์
ที่ผ่านมาลำปางยังไม่มีผลิตภัณฑ์แปรรูปสับปะรดที่โดดเด่น นอกจากสับปะรดกวนซึ่งปัจจุบันก็มีคนทำน้อยมากเหมือนเป็นงานเสริมในครัวเรือน ไม่มีความยั่งยืนทางอาชีพ เราจึงอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่เราเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ขาดองค์ความรู้ เครื่องมือ รวมถึงงบประมาณ ดังนั้นการเข้าร่วมโครงการฯที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ได้มาตรฐานมาเป็นพื้นฐานของการเริ่มต้นที่มีทิศทางของความยั่งยืนชัดเจน ทั้งมาตรฐานการผลิต บรรจุภัณฑ์ และช่องทางการตลาด
“ในเรื่องของการแปรรูป เรายังอยู่ในขั้นฝึกหัดเรียนรู้จากนักวิจัยและนักโภชนาการในโครงการฯ เชื่อว่าในระยะเวลา 3 เดือน เราจะมีความชำนาและควบคุมการผลิตได้ จากนั้นเราจะเดินตามแผนการผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดย่อม ใช้ทั้งเทคโนโลยีและแรงงานที่มีมาตรฐานการผลิตพร้อมจะออกสู่ตลาด ภายใต้แบรนด์ ส.เสด็จ ซึ่งย่อมาจาก สหกรณ์และบ้านเสด็จซึ่งเป็นแหล่งปลูกนั่นเอง”
ส่วนช่องทางการตลาดนั้น เบื้องต้นจะวางตลาดผ่านช่องทางของสมาชิกที่มีแหล่งร้านค้า รวมถึงสมาชิกที่มีลูกหลานคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจร่วมกับเรา ส่วนที่สองจะทำตลาดที่เชื่อมโยงกับสหกรณ์อื่นๆ ทั่วประเทศไทย ก่อนจะมุ่งตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจค้าปลีก
“แม้ตอนนี้เราจะเป็นมือใหม่มากในด้านการแปรรูป แต่ฝันที่ค่อนข้างใหญ่และต้องเดินทางไกลมาก การแปรรูปสับปะรดอบแห้งซึ่งต้องใช้ทุนสูงมาก และมีกระบวนการผลิตที่ต้องอาศัยมาตรฐานองค์ความรู้หลายด้าน แต่ลำปางมีผลผลิตสับปะรดจำนวนมาก บางปีราคาผลผลิตตกต่ำหากเรามีช่องทางการแปรรูปที่เพิ่มมูลค่าจากผลสดขายเป็นกิโล ให้เป็นสินค้าสู่ตลาดสากลได้จริง ตลาดอาเซียนก็เป็นเป้าหมายสำคัญในอนาคต”
จุดเริ่มต้นของการนำสับปะรดมาแปรรูปครบวงจร ขณะนี้อาจจะเรียกว่าเป็นโรงครัวเล็กๆ ที่กำลังพัฒนาให้เป็นโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ ส.เสด็จ ที่ขึ้นชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งสมาชิกกลุ่มผู้ลงมือลงแรง และหน่วยงานรัฐที่สนับสนุน หากแต่สายป่านนี้มิได้สร้างขึ้นให้เหนียว ทน ดีในเวลาอันสั้น ระยะทางที่ยาวไกลยังต้องมีแรงขับส่งให้ถึงฝั่งฝันอีกมายมาย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1034 วันที่ 26 มิถุนายน - 2 กรกฏาคม 2558)