กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
ก่อนที่ฝรั่งแบ็กแพ็กเกอร์จะเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตาอยู่ตามมุมเมืองต่าง ๆ ของลำปาง อันที่จริง มีชาวตะวันตกเข้ามาในบ้านเรานานแล้ว ทว่าไม่ใช่ในรูปแบบของนักท่องเที่ยว แต่มาในฐานะผู้เผยแผ่คริสต์ศาสนา นักสำรวจ และนักธุรกิจ
จากบันทึกประสบการณ์การเดินทางของคาร์ล บอค์ก นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ ซึ่งเข้ามาประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อการสำรวจทางภูมิศาสตร์ (ทั้งที่จริงแล้ว เขาให้ความสนใจกับการค้นหาพระพุทธรูปไปเข้าพิพิธภัณฑ์มากกว่า) ซึ่งข้ออ้างทางวิชาการทำนองนี้นิยมใช้อย่างแพร่หลายในหมู่ชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามายังดินแดนตะวันออก
อย่างไรก็ตาม บันทึกการเดินทางของบอค์กก็ทำให้คนไทยเห็นภาพดินแดนล้านนาในอดีต จากการเดินทางที่เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ ผ่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร ระแหง (ตาก) ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พร้าว ฝาง ไปจนถึงเชียงราย เชียงแสน ทั้งนี้ เขาใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองลำปางรวม 48 วัน ปีนั้นคือปี พ.ศ. 2424
ในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่พญาสีหนาทเพิ่งจัดตั้งคริสตจักรขึ้นในเมืองลำปางได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2423 หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสยามผ่านทางพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ในการจัดหาที่ดินสำหรับตั้งบ้านพัก สำนักงาน รวมทั้งทุนทรัพย์จำนวน 2,000 รูปี เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลแบบตะวันตกในปี พ.ศ. 2428
เมื่อสถานีมิชชันเปิดทำการ มีนายแพทย์ซามูเอล และนางซาราห์ พีเพิลส์ เป็นมิชชันนารีครอบครัวแรก แต่ด้วยหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้นายแพทย์ซามูเอลไม่มีเวลามากนักในการเผยแผ่คริสต์ศาสนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2431 ศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน ศิษยาภิบาลของคริสตจักรที่ 1 ลำปาง พร้อมด้วยหลานสาว คือ มิสแคทรีน ฟลีสัน มิชชันนารีชาวอเมริกัน จึงย้ายมาทำงานในเมืองลำปาง
มิสแคทรีน ฟลีสัน คือผู้ก่อตั้งโรงเรียนสตรีอเมริกัน ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกในเมืองลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2432 และต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานชื่อให้ใหม่ว่า โรงเรียนวิชชานารี ส่วนศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน คือผู้ริเริ่มสร้างโบสถ์ฟลีสันเมโมเรียลในปี พ.ศ. 2452
จะว่าไปชาวตะวันตกนอกจากเข้ามาเผยแผ่ศาสนาแล้ว อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ยังมีคุณูปการทางด้านการแพทย์และการศึกษา นำมาสู่อาคารสาธารณะรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ฟลีสันเมโมเรียล โรงพยาบาลแวนแซนต์วูร์ด โรงเรียนวิชชานารี และโรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี
ในขณะเดียวกัน เมืองลำปางสมัยนั้นยังเป็นศูนย์รวมของบริษัททำไม้ อันได้แก่
ห้างบอมเบย์เบอร์มา เข้ามาเปิดสาขาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2434 โดยเป็นสำนักงานบริษัทค้าไม้สัญชาติอังกฤษ ลักษณะเป็นเรือนไม้พื้นถิ่น ก่อด้วยอิฐ ทั้งยังเคยเป็นกองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่น ที่กองทัพไทยได้เตรียมแผนการบุกยึดช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ห้างบริติชบอร์เนียว สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2439 ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง ลักษณะเป็นเรือนปั้นหยา หลังคาทรงสูง ครึ่งปูนครึ่งไม้
ห้างหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ปัจจุบันถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย ลักษณะเป็นเรือนปั้นหยายื่นมุขแปดเหลี่ยม ครึ่งปูนครึ่งไม้ ช่องเปิดและช่องระบายอากาศเป็นเกล็ดไม้ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีห้างสยามฟอเรสต์ ห้างอีสต์เอเชียติกของเดนมาร์ก และห้างป่าไม้ของฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแล้วแต่มีนายห้างฝรั่งเป็นผู้จัดการ พร้อมผู้ช่วยฝรั่งอีก 4-5 คน พวกเขานำวัฒนธรรมตะวันตกหลายอย่างเข้ามาเผยแพร่ เช่น โปโล กอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอล บิลเลียด ทำให้เมืองลำปางมีสปอร์ตคลับเป็นเมืองแรก ๆ ในนามละกอนสปอร์ตคลับ
ความหรูหราฟู่ฟ่าและสีสันแห่งความเป็นตะวันตกปิดฉากลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อเข้าสู่พม่า ชาวอเมริกันและยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่สงคราม จึงต้องอพยพหนีออกไป สถานที่ทำงานและอาคารต่าง ๆ ถูกยึด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นตะวันตกที่ยังหลงเหลืออยู่ในรูปแบบสถาปัตยกรรมของวัด อาคารต่าง ๆ และบ้านเรือน ทำให้ลำปางของเรามีความหลากหลายและมีแง่มุมที่สวยคลาสสิกไม่แพ้เมืองอื่นเลยทีเดียว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1031 วันที่ 5 - 11 มิถุนายน 2558)