Child Watch ทำวิจัย พบเด็กลำปางคิดทำศัลยกรรมและมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ประถม ขณะที่เรื่องเพศยังน่าห่วงเป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาที่มีเพศสัมพันธ์เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องด้านความแข็งแรงและความปลอดภัย ที่เด็กนิยมบริโภคขนม น้ำอัดลม แต่ไม่ออกกำลังกาย
โครงการพัฒนาเครือข่ายและกลไกการศึกษาสภาวการณ์และขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนระดับภาคเหนือ (Child Watch) ได้ดำเนินการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนภาคเหนือ 15 จังหวัด ซึ่งในปี 2558 เป็นปีสุดท้ายของโครงการฯ โดยได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎในภาคเหนือ 7 แห่ง คือ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ พิบูลสงคราม เพชรบูรณ์ ลำปาง และอุตรดิตถ์ สำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชน 8 ด้าน คือ ชีวิตกับการเรียนรู้ , ชีวิตกับความแข็งแรง การบริโภคและความปลอดภัย , ชีวิตกับคุณธรรมจริยธรรม , ชีวิตกับความเครียดและสุขภาพจิต , ชีวิตกับครอบครัว , ชีวิตทางเพศ , ชีวิตกับอบายมุข , ชีวิตกับความรุนแรง และ หนึ่งวันในชีวิตเด็กภาคเหนือ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557 ถึง เดือนมกราคม พ.ศ.2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ซึ่งครอบคลุมเด็กและเยาวชนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
จากการจัดลำดับสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดภาคเหนือ 15 จังหวัด ในปีนี้ไม่พบว่าลำปางขึ้นเป็นอันดับ 1 ของภาค แต่มีสภาวการณ์เด็กและเยาวชนที่มาเป็นอันดับ 2 คือ ชีวิตกับความแข็งแรงการบริโภค และความปลอดภัย และชีวิตทางเพศ ส่วนที่มาเป็นอันดับที่ 3 คือ ด้านชีวิตกับคุณธรรมจริยธรรม และด้านชีวิตกับอบายมุข นอกจากนั้น ในด้านชีวิตกับสื่อพบว่าเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง ใช้เวลาดูโทรทัศน์ วีดีโอ วีซีดี ดีวีดี และละครซีรีย์ คุยโทรศัพท์ เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผ่านโทรศัพท์มือถือ ร่วมเฉลี่ย 10ชั่วโมงต่อวัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1035 วันที่ 3 - 9 กรกฏาคม 2558)