เปลี่ยนชื่อจังหวัด “นครลำปาง” ส่อวุ่น ประชาชนถามเปลี่ยนแล้วได้อะไร ด้านที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมฯผู้ร่วมเสนอเรื่อง ระบุเสนอเปลี่ยนเพราะเป็นชื่อที่ถูกต้องมาแต่อดีต หากคิดถึงแต่เรื่องปากท้องคงไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในโลก ขณะที่สภา อบจ.ลำปาง เลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าข้อมูลไม่ชัดเจน และไม่ได้มีการสอบถามประชามติจากประชาชนชาวลำปาง
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 58 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 เพื่อพิจารณาระเบียบวาระสำคัญหลายวาระเกี่ยวกับการขอถ่ายโอนงบประมาณต่างๆ รวมทั้งมีการพิจารณาในวาระที่น่าสนใจคือ การขอมติการเปลี่ยนชื่อจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดนครลำปาง โดยนายเกรียงเดช สิทธิภักติ รักษาราชการแทนนายก อบจ.ลำปาง ได้เสนอญัตติในที่ประชุมว่า จ.ลำปางมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงชื่อจังหวัดลำปาง ตามที่สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้มีมติวันที่ 18 พ.ค.58 เห็นชอบให้มีการเปลี่ยนชื่อจังหวัดตามพระราชนิยม ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนอจังหวัดลำปางขอเปลี่ยนชื่อ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขอเปลี่ยนแปลงชื่อจังหวัด ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการจังหวัด และสภาจังหวัด จึงส่งเรื่องมาให้สภา อบจ.พิจารณาขอความเห็นชอบในการเปลี่ยนชื่อจังหวัด
นายอำนวย วรญาณกุล ส.อบจ.เมืองลำปาง เขต 2 ได้อภิปรายในญัตติดังกล่าวว่า ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย การเปลี่ยนแปลงชื่อจังหวัดต้องผ่านสภา อบจ. แต่การเปลี่ยนชื่อเป็นเรื่องของคนลำปางทั้งจังหวัด และอยู่ในอำนาจของ ส.อบจ.พิจารณากลั่นกรอง อยากให้ผู้บริหารใช้โอกาสนี้บอกผ่านไปยังประชาชนว่าประวัติศาสตร์ลำปางเป็นอย่างไร ทำไมถึงจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อจังหวัด ให้มีการจัดกิจกรรมหรือเวทีสัมมนาเพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมกับประชาชน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายจินณ์ ถาคำฟู ส.อบจ.เมืองลำปาง เขต 6 กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อจังหวัดเป็นนครลำปาง มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่สิ่งที่ต้องการคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่เฉพาะสภา อบจ. แต่มีสภาท้องถิ่นอีกมากมาย ฝากทางฝ่ายบริหารให้ทำเรื่องถึงแต่ละท้องถิ่น
นายณรงค์ พินธิสืบ ส.อบจ.เมืองลำปาง เขต 5 กล่าวว่า วาระการเปลี่ยนชื่อจังหวัด เป็นกระแสที่ฮือฮามาสังคมออนไลน์ ซึ่งต้นเรื่องมาจากสภาวัฒนธรรมจังหวัด การขอมติคิดว่ายังไม่ถูกต้อง การเปลี่ยนชื่อเป็นเรื่องใหญ่ของคนทั้งจังหวัด ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเปลี่ยนแล้วอะไรจะดีขึ้น และจะต้องเปลี่ยนแปลงเอกสารอะไรหรือไม่ จึงเห็นควรว่าให้มีการเลื่อนการลงมติออกไป และทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดมาชี้แจงรายละเอียดก่อน โดยทางฝ่ายบริหารหาแนวทางที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาในสภา อบจ.
นายทวี ศรีวิชัย ส.อบจ.เถิน เขต 2 กล่าวว่า ชื่อนครลำปาง ศึกษาตามโหราศาสตร์และเลขศาสตร์แล้วเป็นเรื่องที่ดี แต่เห็นด้วยกับสมาชิกคนอื่นๆว่าการจะให้สภา อบจ.เป็นผู้ชี้ชัดว่าจะเปลี่ยนชื่อจังหวัดนั้นเป็นการมีส่วนร่วมอย่างหนึ่ง แต่ก็ควรที่จะให้ประชาชนรับทราบด้วย และต้องตรวจสอบในส่วนของงบประมาณในการเปลี่ยนแปลงด้วยว่า หากเปลี่ยนแล้วจะมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ หน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น ต้องเปลี่ยนป้ายชื่อจาก จ.ลำปาง เป็น จ.นครลำปางด้วยหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ เชื่อว่าเป็นงบประมาณที่สูงมาก เพราะฉะนั้นเวทีสภา อบจ.ไม่ใช่เวทีที่สิ้นสุดที่จะตัดสินได้ว่าควรจะเปลี่ยนชื่อจังหวัดหรือไม่เปลี่ยน เพราะอย่างน้อยควรจะมีการประชามติตั้งแต่ระดับตำบล ระดับอำเภอ นำมาสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง ไม่อยากให้สมาชิก อบจ.ทั้ง 29 คนเป็นจำเลยสังคม ถ้าผลออกมาแล้วไม่ดีหรือไม่เป็นตามที่หวังไว้
นายเกรียงเดช กล่าวเพิ่มเติม เห็นพ้องว่าการเปลี่ยนชื่ออาจจะกระทบกับทุกคน โดยหลักเกณฑ์แล้วทางจังหวัดได้ให้เป็นเอกสิทธิ์ของสภา อบจ.ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งคิดว่าขั้นตอนการนำเสนอก็ยังไม่ครบถ้วน มี ส.อบจ.หลายท่านเสนอให้เลื่อนก็เห็นด้วย เพื่อที่จะให้จังหวัดหรือสภาวัฒนธรรมจังหวัดมาเสนอในที่ประชุมด้วยว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่เมื่อได้รับหนังสือแจ้งจากจังหวัดให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา อบจ.เพื่อขอมติ จึงได้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามขอให้เป็นเอกสิทธิ์ของสภาฯว่าจะมีมติอย่างไร
ด้าน พ.ต.ท.พิมล คงทอง ส.อบจ.แม่พริก มีความเห็นอยากให้เปลี่ยนเลย แต่ตามหลักการแล้วทำไม่ได้ การเสนอเปลี่ยนชื่อจังหวัดเข้ามาก็ยังไม่ได้สอบถามชาวบ้านเลย ดังนั้นสนับสนุนว่าให้มีการเลื่อนการพิจารณาในญัตตินี้ออกไปก่อน เช่นเดียวกับ นายจินณ์ ถาคำฟู ที่เห็นด้วยกับการเลื่อนการพิจารณา และให้ทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดมาชี้แจงรายละเอียด โดยแจ้งเหตุผลและมติในที่ประชุมให้ทราบว่ามีการเลื่อนพิจารณาเพราะเหตุใด
ทั้งนี้ ทางสมาชิกสภา อบจ.ลำปาง ยื่นยันว่าขอเสนอให้เลื่อนญัตติไปก่อน โดยให้ทางฝ่ายบริหารมีการจัดทำโครงการต่อเนื่อง จัดการประชุมเสวนา โดยเชิญประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด มาชี้แจง พร้อมกับเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมาร่วมในการเสวนา จากนั้นจะได้ไปทำประชามติกับชาวบ้าน หรือให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็น แล้วค่อยนำมาเข้าสภา อบจ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
จากนั้นทางประธานสภา อบจ.ได้ขอมติในที่ประชุม ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนการพิจารณาญัตติการขอความเห็นชอบขอเปลี่ยนชื่อจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดนครลำปางออกไปก่อน โดยญัตตินี้ถือว่าตกไป
ขณะเดียวกันทางสื่อสังคมออนไลน์ยังคงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนชื่อจังหวัดอย่างหนัก ผ่านทางเฟสบุ๊กหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ปัญหาอื่นที่สำคัญกว่าในจังหวัดลำปางมีมากมาย เช่น ภัยแล้ง ขยะ น้ำวังเน่าเสีย การก่ออาชญากรรม ฯลฯ ทางหน่วยงานควรจะไปแก้ปัญหาในส่วนนั้นมากว่าที่จะมาพิจารณาในการเปลี่ยนชื่อจังหวัด และควรจะเอางบประมาณไปพัฒนาส่วนอื่นๆที่สำคัญกว่าการขอเปลี่ยนชื่อจังหวัด ขณะที่มีบางส่วนเห็นว่า หากเปลี่ยนชื่อนครลำปางได้ ก็สามารถเปลี่ยนชื่อจากประเทศไทยเป็นประเทศสยามได้เช่นกัน ควรจะศึกษาให้ละเอียดก่อนว่าคนในพื้นที่เห็นด้วยหรือไม่ เห็นด้วยกับทางสมาชิกสภา อบจ.ที่เลื่อนการพิจารณาในเรื่องนี้ และมีการแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ชื่อเดิมเหมาะสมแล้ว คือลำปาง การใช้คำว่านครนำหน้าไม่ได้สื่ออะไรมาก เพราะคำว่า นคร แปลว่าเมือง ไม่ได้ทำให้ฐานะของจังหวัดลำปางมีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าเดิมแต่อย่างใด คำว่าจังหวัดนั้นมีบริบทใหญ่กว่าเมืองหรือนครอยู่แล้ว ควรคิดให้หลากหลายมิติ
ลานนาโพสต์ได้สอบถามไปยัง นายมงคล ถูกนึก ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง หนึ่งในผู้ร่วมเสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อจาก จ.ลำปาง เป็น จ.นครลำปาง กล่าวว่า ตัวเมืองลำปางตามจริงแล้วจะเรียกว่า นคร หรือ ละกอน ซึ่งมีหลักฐานมาไม่ต่ำกว่า 500 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาประมาณ 200 ปีที่แล้ว เริ่มมีการใช้คำว่าลำปางมาต่อท้ายคำว่านคร จึงเป็นนครลำปาง จากนั้นในรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการใช้ชื่อ ลำปาง เพียงคำเดียวปะปนมากับชื่อ นครลำปาง ส่วนชื่อที่มาเปลี่ยนเป็น “ลำปาง” เริ่มเกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2458 สมัยข้าหลวงลำปางพระยาสุเรนทรราชเสนา เป็นผู้ว่าราชการลำปาง เริ่มมีการใช้คำว่า ลำปาง ปะปนเข้ามา ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของเสมียนที่เขียน แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนตรงส่วนนี้ ในตอนหลังก็มีการตัดปัญหาไม่ต้องปะปนกันจึงเหลือเพียง จ.ลำปาง ประมาณ 70 ปีเท่านั้น
ในขณะเดียวกันมีหลักฐานล่าสุด สมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จมาเยือนนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ.2469 ทรงเรียกเมืองลำปางว่า “นครลำปาง” คำว่า นคร เป็นพระราชนิยม ที่พระเจ้าแผ่นดินโดยเฉพาะรัชกาลที่ 6 ระบุว่าเมืองที่มีนครมีเมืองอะไรบ้าง ซึ่งลำปางก็รวมอยู่ในกลุ่มเมืองเหล่านี้ด้วย มีทั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “นครลำปาง” เป็นหลักฐานที่หนักแน่นว่าในราชวงศ์จักรีเคยเรียกเมืองลำปางว่านครลำปางมาโดยตลอด เราไม่ได้คิดเปลี่ยน เพียงแต่ให้กลับไปใช้ชื่อเดิมที่เคยใช้ถูกต้องมายาวนานแล้ว นายมงคล กล่าว
กรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปลี่ยนชื่อแล้วทำให้มีอะไรดีขึ้น นายมงคล กล่าวว่า ถ้ามีความคิดแบบนี้คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศนี้แน่ เรากลับไปหาสิ่งที่ถูกต้อง ในเมื่อรู้สาเหตุของความผิดพลาดแล้วก็ต้องแก้ไข เมื่อไปเจอสิ่งผิดพลาดแต่เรื่องนั้นไมได้ทำให้ปากท้องอิ่ม ถ้าคิดเพียงแค่นี้ ก็คงไม่ต้องแก้ไขอะไรเลยในโลกนี้ ไม่ใช่อยู่ๆอยากจะมาตั้งชื่อ แต่เป็นชื่อในตำนานที่มีหลักฐานชัดเจน เชื่อว่าบางคนยังไม่เข้าใจ ถ้าหากมีการชี้แจงก็จะรู้ว่าคือความถูกต้อง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1038 วันที่ 24 - 30 กรกฏาคม 2558)