ลำปางแล้งหนัก ฝนน้อย ชาวบ้านบ้านทาน อ.แม่เมาะ ต้องขุดหาน้ำใช้เอง ส่วนที่ อ.เกาะคา ร่วมกันทำฝายกั้นน้ำวังเพื่อเพิ่มระดับน้ำให้ใช้เครื่องสูบได้ นำไปหล่อเลี้ยงแปลงนาข้าวที่กำลังยืนต้นตาย ขณะที่เขื่อนกิ่วลมและกิ่วคอหมา เหลือน้ำใช้ได้เพียง 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องปรับแผนการส่งน้ำใหม่ให้เพียงพอต่อการเกษตร รอความหวังช่วงกลางเดือน ส.ค. จะมีฝนตกและมีน้ำไหลเข้าเขื่อน
จ.ลำปาง ประสบปัญหาน้ำแล้ง สังเกตได้จากแม่น้ำวังที่ไหลผ่านแต่ละอำเภอ เริ่มแห้งขอดเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำสายหลัก และห้วย หนอง คลอง บึง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะที่หมู่บ้านทาน หมู่ 4 ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างวิกฤต น้ำในลำห้วยแห้งขอดจนระบบประปาหมู่บ้านไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลกระทบให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านกว่า 200 หลังคาเรือน ชาวบ้านจึงต้องไปขุดบ่อน้ำกันเอง เพื่อนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภค โดยไม่ได้คำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย เนื่องจากต้องใช้น้ำประทังชีวิตไปวันต่อวัน
โดยนางสมจิต พลเคน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านทาน กล่าวว่า ช่วงแล้งปีนี้ ต้นมันสำปะหลังที่ชาวบ้านปลูกไว้ได้รับผลกระทบกว่า 1,300 ไร่ เนื่องจากน้ำไปคลองแห้งขอด ไม่มีน้ำเพียงพอไปหล่อเลี้ยงพืชผล ทำให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย ที่ผ่านมาชาวบ้านได้หาทางแก้ปัญหาคือไปขุดบ่อน้ำท้ายหมู่บ้าน โดยแบ่งน้ำกันใช้ แต่ปริมาณน้ำก็ไม่เพียงพอกับประชากรในหมู่บ้านที่มีอยู่กว่า 200 หลังคาเรือน แต่โชคดีที่เกิดฝนตกในพื้นที่จึงทำให้ชาวบ้านเก็บกักน้ำได้บ้าง ประกอบกับทางทหารค่ายฝึกรบพิเศษประตูผาได้นำรถน้ำเข้ามาแจกจ่ายในหมู่บ้าน สามารถช่วยเหลือชาวบ้านให้มีน้ำใช้ไปได้ระยะหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ที่ อ.เกาะคา เมื่อ 4 ก.ค.58 นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ นายอำเภอเกาะคา พร้อมด้วยนางจันทร์ฉาย สาภากาวี นายกเทศมนตรี ต.วังพร้าว สมาชิก อบจ.ลำปาง เขต อ.เกาะคา และชาวบ้านจาก 2 ตำบลประกอบด้วย ตำบลศาลา ตำบลวังพร้าว กว่า 300 คน ได้ร่วมใจกันนำไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส พร้อมกับนำกล่องเกเบียน ที่สร้างขึ้นจากแผ่นตาข่ายถักเป็นรูปสี่เหลี่ยม เอาไปขวางแม่น้ำวังเพื่อนำกระสอบทรายที่ผสมปูนซิเมนต์ใส่ลงไปอีกชั้น เพื่อให้เกิดความแข็งแรงทนทานจากการกัดเซาะของแม่น้ำ และเพื่อที่จะกั้นให้ระดับแม่น้ำวังในพื้นที่ดังกล่าว สูงขึ้นจนเครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้สองตัวสามารถเดินเครื่องสูบน้ำไปใช้ในการอุปโภคบริโภครวมทั้งการเกษตรได้ หลังจากที่ ระดับน้ำในแม่น้ำวังลดลง จนเครื่องสูบน้ำไม่สามารถสูบน้ำเอาไปใช้ในการเกษตรและผลิตน้ำประปาใช้ในพื้นที่ดังกล่าว ชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวลงแรงผนึกกำลังสามัคคี ในการมาช่วยกันกั้นแม่น้ำวัง ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลศาลา และเทศบาลตำบลวังพร้าว สโมสรโรตารี่เชียงใหม่ใต้ สโมสรโรตารี่ดอยพระบาท สโมสรโรตารี่เมืองลำปาง และ หน่วยงานท้องถิ่นฝ่ายปกครองอำเภอเกาะคา ได้สนับสนุนกระสอบบรรจุทราย ปูนซิเมนต์ ไม้ที่ทำเสาหลัก อาหารน้ำดื่ม ในครั้งอีกด้วย
ด้านชาวบ้านในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เล่าว่า ในพื้นที่ดังกล่าวระบบประปาหมู่บ้านและระบบน้ำที่ใช้ในการเกษตรกรรม ต้องอาศัยการสูบน้ำโดยเครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าแห่งนี้มาหลายปีแล้ว และช่วงที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอย่างหนักทำให้ได้รับผลกระทบทั้งน้ำอาบน้ำใช้ต่างๆรวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตรโดยเฉพาะนาข้าวที่หลายแห่งกำลังเจริญเติบโต ต้องมาขาดแคลนน้ำจนต้นกล้ากำลังจะยืนต้นตาย จึงได้มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้นไปก่อนจนกว่า ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลต่อไป
ขณะที่ นายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เปิดเผยสถานการณ์น้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ของ จ.ลำปางว่า ปัจจุบันมีน้ำต้นทุนของเขื่อนกิ่วลม เหลืออยู่ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 31% และเขื่อนกิ่วคอหมามีอยู่ 37 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 34 % ทั้งสองเขื่อนมีปริมาณน้ำต้นทุนรวมกัน 69 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร และต้องกันน้ำไว้ประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตรให้กับการประปา เพื่อไม่ให้เดือดร้อนในด้านอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงจะเหลือน้ำอยู่ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับที่จะส่งไปช่วยเหลือด้านการเกษตร ช่วงระยะเตรียมแปลงนาข้าว
ตอนนี้ได้เริ่มมาตรการที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำให้เพียงพอใช้จนกว่าฝนจะมา ซึ่งคาดการณ์ว่าฝนจะมาช่วงกลางเดือน ส.ค. โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.58 ที่ผ่านมา ได้เรียกประชุมผู้นำท้องถิ่น ตัวแทนเกษตรกร มารับฟังคำชี้แจง เพื่อปรับเปลี่ยนรอบเวรการส่งน้ำ ให้น้ำไปได้ทั่วถึงถึงปลายคลอง ให้ประหยัดและมีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกให้ผู้ใช้น้ำ ไม่ให้เหลือทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ จึงเปลี่ยนการส่งน้ำจัดเป็นรอบเวร เริ่มวันที่ 10 ก.ค.58 จะเป็นรอบเวรส่งให้ทาง อ.ห้างฉัตร และ อ.เกาะคา ก่อน โดยเราได้วางแผนการจัดการน้ำที่เหลืออยู่ว่าจะใช้น้ำประมาณสัปดาห์ละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจะมีน้ำใช้ได้อีกประมาณ 6 สัปดาห์ แต่คิดว่าประมาณช่วงกลางเดือน ส.ค. จะมีฝนตกและมีน้ำไหลเข้ามาเติมในเขื่อนบ้างแล้ว ก็อาจจะพ้นวิกฤตไป ทางโครงการฯจะประเมินทุกสองสัปดาห์ หากพบว่าเข้าสัปดาห์ที่สองแล้วยังไม่มีฝนตก จะต้องมีมาตรการปรับรอบเวรบางส่วน เพื่อจะวางแผนให้น้ำก้อนที่เหลืออยู่ปัจจุบัน ยืดเวลาให้เพียงพอระหว่างรอปริมาณฝนที่จะเข้ามา ส่วนการปล่อยรักษาระบบนิเวศน์ ระบายน้ำออกวันละ 1.4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 2.7 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
อยากขอให้ผู้ใช้น้ำปรับการใช้น้ำจากเดิม เราเคยใช้น้ำอย่างสะดวกสบาย แต่เมื่อปีนี้เกิดภาวะวิกฤติที่น้ำน้อยกว่าปกติในรอบ 20 ปี ประมาณปี 2535 เป็นปีที่แล้งสุดของเขื่อนกิ่วลมมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังมีน้ำมากกว่าแต่ก็ถือว่าน้อยมาก ทางโครงการฯได้แจ้งขอความร่วมมือให้ติดตามการใช้น้ำ ระมัดระวังเรื่องการเหลือน้ำทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ให้ใช้น้ำมีคุณภาพและประหยัดมากที่สุด นายฤทัย กล่าว.