วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กรรมกรข่าวยุค ดิจิทัล


 ม้จะผ่านวันนักข่าว แต่ในวาระที่ ลานนาโพสต์” ได้รับรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่น หนังสือพิมพ์ภูมิภาค ประจำปี 2557 จากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นปีที่ต่อเนื่อง รวมถึงได้รับรางวัลชมเชย ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปีซ้อน อันเป็นผลงานความภาคภูมิใจสำหรับคนลำปางทุกคน จึงมีเหตุบันดาลใจที่จะบอกเล่าบางเรื่องราวของวงการสื่อ โดยเฉพาะสื่อในยุคดิจิทัลเพื่อสะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์สื่อในระดับประเทศ

ยิ่งมีการเติบโตขยายตัวของสื่อมากขึ้นเท่าใด ก็จะเป็นความผกผันในแง่ของความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นทุกขณะ

มีนักวิพากษ์สังคมจำนวนไม่น้อย ทั้งในและนอกวงการสื่อมวลชน วิเคราะห์วิจารณ์ว่า นักข่าวในอุดมคติที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ตรงไปตรงมา ทำงานด้วยความเคร่งครัดในหลักการ "พูดความจริง" นั้นล้มหายตายจากไปหมดแล้วในยุคดิจิทัล หรือเอาเข้าจริงอาจจะไม่เคยมีอยู่เลย ฉะนั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน จึงเป็นเรื่องไร้สาระ และคงไม่มีใครปรารถนาสิทธิเสรีภาพมากนัก ตราบใดที่พวกเขายังคงอบอุ่น มั่นคงอยู่ภายใต้ทุน อำนาจการเมือง และการช่วงชิงไปสู่ความเป็นหนึ่งในยุคสมัยแห่งการหลอมรวมสื่อ และทีวีดิจิตอล
สิทธิเสรีภาพยังมีความจำเป็นหรือไม่ ยังมีผู้ต้องการอยู่หรือไม่ คำถามนี้คงเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก แต่สิทธิเสรีภาพที่ต้องมีความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย เป็นคำตอบที่ยาก และต้องการคำอธิบาย

มีความพยายามที่จะตราพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้สิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน

การใช้และการมีสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย เพราะสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ  แต่ในบางกรณีการอ้างสิทธิ เสรีภาพ ก็มีคำถามตามมาเสมอ ว่า เป็นการใช้เกินขอบเขตหรือไม่ หรือเป็นการใช้สิทธิที่ละเมิดจริยธรรมหรือไม่ พูดง่ายๆก็คือเมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ รับผิดชอบควบคู่ไปด้วย

บทบาทของสื่อมวลชน มีผลกระทบต่อสังคมโดยตรง ถ้าสื่อมวลชนปราศจากความรับผิดชอบ สังคมนั้นก็อาจท่วมท้นด้วยข่าวเท็จ ข่าวที่ประกอบสร้างขึ้นเอง การนินทาว่าร้าย การละเมิดเด็กและสตรี การละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ลานนาโพสต์ แม้เป็นสื่อฉบับเล็กๆ แต่เราก็ตระหนักรู้ว่า ความรับผิดชอบในเรื่องจริยธรรมนั้น ใหญ่หลวงเหลือเกิน

จิตสำนึกในเชิงจริยธรรมของสื่อมวลชน จะต้องรู้ร้อน รู้หนาว ตระหนักรู้ว่าข่าวและภาพที่นำเสนอนั้น มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นอย่างไร ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง สร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชัง หรือเห็นชอบในความรุนแรงหรือไม่ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจบทบาท หน้าที่ หรือวิชาชีพสื่อ ที่เรียกกันว่า อาชีวปฏิญาณซึ่งเป็นงานอาชีพอันประกอบด้วยภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นอาชีพที่มีคำปฏิญาณกำกับไว้ตลอดเวลาว่า จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

ในยุคที่สังคมข่าวสารได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ทุนเป็นตัวกำหนดความเป็นไป มีกำไรขาดทุนเป็นตัววัดความสำเร็จ สังคมยิ่งต้องเรียกร้องความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมมากขึ้น และผู้บริโภคอาจจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อปฏิเสธสื่อที่ไม่มีจริยธรรม หรือมีวาระแอบแฝงในการรับใช้นักการเมือง กลุ่มอำนาจ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

ในขณะเดียวกัน กองบรรณาธิการซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อหาก็จะต้องมีความเข้มแข็งในการต่อกรกับอำนาจทุน ที่อาจจะเข้ามาครอบงำผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การถือครองหุ้นส่วนใหญ่ หรือการจัดสรรงบประมาณในการโฆษณา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความอยู่รอดขององค์กรสื่อ

การสร้างดุลถ่วงระหว่างเป้าหมายธุรกิจ และหน้าที่ในเชิงอุดมการณ์ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จำเป็นจะต้องยืนหยัด และให้ความรู้แก่สังคมในความสำคัญด้านจริยธรรมสื่อ เพราะในท้ายที่สุดผู้บริโภคสื่อจะเป็นผู้กำหนดว่าทิศทางสื่อควรเป็นอย่างไร ถ้าสื่อปราศจากความน่าเชื่อถือ หรือมีเหตุอันชวนเคลือบแคลงสงสัยว่ามีความลำเอียงแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสื่อนั้นในประเทศนี้

ในแง่กายภาพ เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานข่าวของนักข่าวยุคดิจิทัลนี้เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน แต่จิตวิญญาณนั้นต้องไม่เปลี่ยนไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1038  วันที่ 24 - 30  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์