กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
หากเป็นร้านขายจักรยานทั่วไปอย่างที่เราคุ้นเคยกัน มันคงเต็มไปด้วยจักรยานยี่ห้อต่าง ๆ ละลานตา ทว่าริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เลยการไฟฟ้าย่อยไปเล็กน้อย ตึกแถว 1 คูหาของร้านจักรยานชัยชาญกลับเรียงรายไปด้วยจักรยานเสือหมอบยี่ห้อเดียว ยี่ห้อ CHAICHAN นั่นเพราะร้านนี้ คือร้านที่รับผลิตจักรยานเสือหมอบ รวมทั้งฟิกซ์เกียร์ ตามความต้องการของผู้ขี่ เท่านั้นยังไม่พอ ยังสุดแสนจะ Unique ก็เพราะชัยชาญ ภาณุมาศ วัย 73 ปี เจ้าของร้าน จะตัดต่อตัวถัง (โดยใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น) ตามรูปร่าง สัดส่วน และน้ำหนักของผู้ขี่ โดยลูกค้าจะได้รับจักรยานที่เหมาะกับสรีระของเขามากที่สุด หากจะพูดว่ามีคันเดียวในโลกก็คงไม่ผิด
จักรยานคือพาหนะคู่ใจในวัยเด็กของลุงชัยชาญ จากแค่ขี่ไปโรงเรียน ก็เริ่มก้าวเข้าสู่การแข่งขัน ด้วยการตระเวนลงแข่งในงานต่าง ๆ ของจังหวัดลำปาง จักรยานก็อาศัยยืมของเพื่อน แม้ไม่ชนะในระยะแรก แต่หลัง ๆ มาลุงก็คว้าที่ 1 มาตลอด กระทั่งเก็บเงินซื้อจักรยานเสือหมอบสำหรับแข่งคันแรกในชีวิตราคา 900 บาท เป็นจักรยานผลิตในประเทศไทยของ “แปะ ซังฮี้”
ลุงชัยชาญโลดแล่นอยู่ในแวดวงการแข่งขันจนถึงปี พ.ศ. 2510 ก็ถึงจุดอิ่มตัว และหันมาทำงานประจำที่กรมชลประทาน ขณะเดียวกันก็ถูกทาบทามให้เป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาจักรยานของจังหวัดลำปางด้วย ระหว่างนี้ยังได้ศึกษาวิธีเชื่อมโลหะจากรุ่นพี่ในกรมชลประทาน ซึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากมายในอนาคต
ปี พ.ศ. 2515 ลุงชัยชาญเริ่มเปิดบ้านเป็นร้านซ่อมจักรยาน และลงมือต่อจักรยานเสือหมอบเอง โดยอาศัยวิชาช่างยนต์ที่รำเรียนมาจากโรงเรียนการช่างลำปาง (ต่อมาคือเทคนิคลำปาง) และพบว่ามันขายได้ ! สมัยนั้นจักรยานของลุงขายคันละ 700 บาท เมื่อได้เงินก็นำมาสร้างตัวถังจักรยานให้นักกีฬาใช้ในการแข่งขัน อุปกรณ์เหล็กทุกชิ้นส่วนและข้อต่อสั่งของ “มุก คลองเตย” ปรมาจารย์เสือหมอบที่นักจักรยานรู้จักดี ทั้งนี้ ปัจจุบันลุงชัญชาญก็ยังใช้สูตรตัวถังของ “มุก คลองเตย” ส่วนสูตรสร้างตะเกียบของ “จุก อารี”
เมื่อนักกีฬานำจักรยานของลุงชัยชาญไปขี่และได้รับชัยชนะ ไม่เพียงชื่อเสียงของนักกีฬา ตัวจักรยานเองก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ออเดอร์จักรยานหลั่งไหลเข้ามาท่วมท้น หลังจากนั้นลุงชัยชาญก็ลาออกจากการเป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาจักรยานราว ๆ ปี พ.ศ. 2522 โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวิทยาลัยพละศึกษาแทน
หากนับวันเวลาในการเปิดร้านจักรยานชัยชาญคงไม่ต่ำกว่า 40 ปีมาแล้ว ภาพถ่ายเก่า ๆ ยังประดับอยู่ข้างฝา เป็นภาพของชายหนุ่มหุ่นนักกีฬา ยืนถือถ้วยรางวัล ใบหน้าเปื้อนยิ้ม เหรียญรางวัลและถ้วยรางวัลถูกจัดวางอยู่ในตู้กระจก เคียงข้างกับตู้วางอุปกรณ์จักรยานและเครื่องมือช่าง
จักรยานชัยชาญไม่ใช่แค่เรื่องสมรรถนะ แต่หมายรวมถึงความเฉพาะตัว
“ส่วนใหญ่ถ้าลูกค้าเดินเข้ามาในร้าน แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากได้จักรยานดี ๆ ลุงจะถามเขาว่า ตั้งงบไว้เท่าไรสำหรับจักรยานคันนี้ จะให้เหมาทั้งคัน หรือจะเลือกอะไหล่ตามใจชอบ” ดังนั้น จะเห็นว่าสนนราคาไม่ใช่เรื่องที่คนขายจะกำหนด แต่เป็นตัวเราเองต่างหาก หากอยากได้สเป๊กสูง ๆ ก็ต้องยอมจ่าย ราคาทั่วไปจึงอยู่ที่หลักหมื่นต้น ๆ จนถึงหลักแสน โดยจะจ่ายมัดจำก่อน 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นค่าสั่งของ ส่วนจักรยานจะได้เมื่อไรนั้น คงต้องแล้วแต่คิว
หลังจากรู้งบประมาณแล้ว ลุงชัยชาญจะเริ่มดำเนินการตามสูตรการตัดต่อจักรยาน ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมาก ๆ ลุงจะวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนักของเรา วัดแขนว่ายาวเท่าไร ขายาวเท่าไร แม้กระทั่งวัดรอบเอว เพื่อดูพุงของคนขี่ว่ามีมาก หรือน้อย การคำนวณพุงนี้มีผลกับการก้มตัวลงมาจับแฮนด์ของคนขี่ ทั้งนี้ เหล็กทุกชิ้นจะต้องชั่งตาชั่ง คูณหารออกมาตามน้ำหนักของคนขี่ น้ำหนักน้อยลุงจะใช้เหล็กแป๊บเบาหน่อย น้ำหนักปานกลางใช้เหล็กแป๊บน้ำหนักปานกลาง ถ้าน้ำหนักมากก็ใช้เหล็กแป๊บที่รับน้ำหนักได้มากหน่อย
ความเป็น Unique ยังไม่หมดแค่นั้น สำหรับตัวถังจักรยาน เหล็กหางปลาด้านหลังขวามือ ลุงจะปั๊มปี พ.ศ. ที่ผลิตจักรยาน เหล็กหางปลาด้านหลังซ้ายมือ ลุงจะปั๊มปีเกิดของผู้ขี่ ส่วนตัวถังจักรยานจะมีลายเซ็นของลุงสองด้าน ขวา-ภาษาไทย ซ้าย-ภาษาอังกฤษ
“การทำจักรยาน มันยากตรงการตั้งมุมองศา มุมดิ่ง มุมหัก มุมฉาก” อดีตนักกีฬาเก่าเล่าให้ฟัง ซึ่งพอจะทำให้เห็นภาพได้ว่า ไม่ง่ายเลยกว่าจะสร้างจักรยานขึ้นมาสักคัน ที่สำคัญ มันคืองานทำมือเสียส่วนใหญ่
ก่อนส่งมอบจักรยานให้ลูกค้า ลุงจะต้องทดสอบจนแน่ใจ หากได้จักรยานไปแล้ว ภายใน 1 อาทิตย์รู้สึกไม่ชอบใจ หรือไม่ดีพออย่างที่ใจต้องการ ลุงก็รับซื้อคืนเต็มจำนวนเงิน (กรณีนี้ยังไม่เคยมี) และหากอะไหล่จุกจิกเสียก็สามารถขี่มาเปลี่ยนได้ฟรีตลอดชีวิต
ถามลุงชัยชาญว่า ตลอดชีวิตผลิตจักรยานมาแล้วราว ๆ กี่คัน ลุงยิ้มก่อนตอบว่า “โอ๊ย จำไม่ได้หรอกครับ” แล้วเบื่อไหมกับการงานซ้ำ ๆ ที่ทำมาสี่ซ้าห้าสิบปี ลุงบอก “เพลินดี ทำไปเรื่อย ๆ นี่ยังมีอีกตั้ง 6 คันที่ยังไม่ได้ตัดเหล็กเลย เสียดายอยู่อย่างเดียว” ชายชราโคลงศีรษะ “กระแสจักรยานในบ้านเรามันเหมือนฤดูว่าว” ลุงชัยชาญเปรียบเปรยไว้อย่างน่าคิด ว่าวตัวโปรดจะถูกนำขึ้นสู่ท้องฟ้า ก็ต่อเมื่อลมว่าวมา หาใช่จะมีคนเล่นทุกวันไม่