ผู้บริหาร บริษัท ยูเอ็ม.โภคภัณฑ์ฯลำปาง เผยยังไม่ได้รับหนังสือถูกสั่งปิด หลังพบนมบูดที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.น่าน ยืนยัน ที่ผ่านมามีการตรวจสอบมาตรฐานจากหลายหน่วยงานไม่ต่ำกว่าปีละ 19 ครั้ง และผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ส่วนที่นมบูดที่พบในพื้นที่ จ.น่าน นั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเกิดมาจากสาเหตุใด เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมาจากขั้นตอนการขนส่งและจัดส่ง
นายธนโชติ วนาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ยู.เอ็ม.โภคภัณฑ์ จำกัด ฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ของลำปาง ตั้งอยู่ ในพื้นที่ ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง และได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นผู้ผลิตนมโรงเรียนให้โรงเรียนในภาคเหนือ กล่าวเปิดใจครั้งแรก หลังที่มีข่าวพบนมบูดในโรงเรียนแหงหนึ่งในพื้นที่ จ.น่าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางโรงงานมียอดผลิตนมในล็อตที่มีปัญหาดังกล่าว ทั้งหมด 93,120 กล่อง ส่งไปที่ จ.น่าน 66,000 กล่อง จ.ตาก 10,000 กล่อง และใน จ.ลำปาง 16,300 กว่ากล่อง ซึ่งนมล็อตนี้ส่งออกจากโรงงานไปเมื่อวันที่ 5 ส.ค.58 ไปถึงโรงเรียนวันที่ 28 ส.ค.58 และตรวจพบเมื่อวันที่ 7 ก.ย.58 ไม่ทราบว่าทำไมทิ้งนมไว้นานถึง 1 เดือน จึงส่งให้ทางโรงเรียน เนื่องจากสามารถกระจายให้กับโรงเรียนในพื้นที่ได้เลย ซึ่งนม UHT ที่ผลิตออกจากโรงงานจะเก็บไว้ได้นานถึง 8 เดือน หลังตรวจพบก็ได้มีการแจ้งมายังบริษัททราบ และได้รับตัวอย่างกลับมา 5 หีบ พบนมที่มีปัญหา 1 หีบ มีทั้งนมบูดและนมดีรวมกัน จึงจัดส่งตัวอย่างให้กับทางศูนย์วิทยาศาสตร์ตรวจเช็คคุณภาพ รวมทั้งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย เพื่อตรวจสอบหาเชื้อโรค ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการเพาะเชื้อ ว่ามีเชื้อโรคชนิดใดต่อไป
ส่วนสาเหตุในเบื้องต้น อาจเกิดจากการเคลื่อนย้ายหลายๆช่วง แต่ก็ยอมรับว่าก่อนขนส่งไม่ได้มีการเปิดหีบตรวจสอบคุณภาพก่อน หากพบว่ามีนมเสียในตอนนั้นก็ส่งกลับมาเปลี่ยนได้ทันที ในกรณีที่พบปัญหาหลายครั้งจะส่งเจ้าหน้าที่ของโรงงานเข้าไปตรวจสอบเลยว่าเกิดจากสาเหตุใด เคยพบกรณีของนมพาสเจอร์ไรซ์ ที่ส่งมาเปลี่ยน 2 รอบ รอบที่ 3 เจ้าหน้าที่ของโรงงานจึงร่วมเข้าไปตรวจสอบก็พบว่า ครูได้มีการนำนมออกจากน้ำแข็งมาวางเตรียมไว้เพื่อรอเด็กมารับไปดื่ม ซึ่งนมพาสเจอร์ไรซ์หากไม่เก็บไว้ในความเย็นเพียง 15 นาทีก็จะบูด แต่หากอากาศร้อนจัดก็บูดได้ภายใน 5 นาที ในส่วนของนม UHT หากมีปัญหาทางด้านการขนส่ง มีการกระแทกทำให้กล่องนมผิดรูปทรง ก็อาจทำให้อากาศเข้าไปได้เนื่องจากกล่องมีรอยต่อรอบพับต่างๆ ลักษณะเช่นเดียวกับการนำนมใส่ถุงพลาสติกและมัดหนังยางไว้ ถึงจะแน่นแค่ไหนอากาศก็สามารถเข้าไปได้และทำให้นมบูด หากเกิดการกระแทกแรงๆ ก็อาจจะเกิดอากาศเข้าไปได้ ทำให้บางกล่องเกิดบูดและบางกล่องที่มีสภาพดีอยู่ไม่บูด ในส่วนของโรงงานยืนยันได้ว่ามีมาตรฐานทุกขั้นตอนของการผลิตนมโรงเรียน ที่จัดส่งไปตามโรงเรียนต่างๆทางภาคเหนือ แต่ทั้งนี้กรณีที่พบนมบูด ที่โรงเรียนในพื้นที่ จ.น่านนั้น
นายธนาโชติ กล่าวต่อไปว่า ทางบริษัท ยืนยันว่าที่ผ่านมา ได้มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ของทางบริษัทเองได้ตรวจตราตรวจสอบขั้นตอนการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานทุกขั้นตอนอยู่แล้ว และมีการประเมินได้คะแนนตามมาตรฐานที่กำหนดเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ จึงเชื่อมั่นได้ว่าขั้นตอนการผลิต บรรจุภัณฑ์ ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีการสั่งปิดโรงงาน และหยุดการผลิตนมนั้นตนเองยืนยันว่ายังไมได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการเรื่องการสั่งปิด เพราะเชื่อมั่นในมาตรฐานของ บริษัท และเครื่องจักรที่ติดตั้งไว้ ที่มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1046 วันที่ 18 - 24 กันยายน 2558)