ข้อถกเถียง เรื่องการเปลี่ยนชื่อ “ลำปาง” เป็น “นครลำปาง” ยังต้องใช้เวลาหาข้อยุติ สุดท้ายซึ่งอาจยังไม่สุดท้ายคือการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อการถกแถลง อย่างครบถ้วน รอบด้านจากทุกฝ่าย
ว่ากันตามเหตุผล พื้นฐานของการเปลี่ยนชื่อ ซึ่งเสนอโดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง เพื่อกลับไปใช้ชื่อเดิมในประวัติศาสตร์ และแสดงถึงความภาคภูมิในประวัติศาสตร์ล้านนา เป็นความภาคภูมิของคนรุ่นก่อนส่งต่อถึงคนรุ่นใหม่ ให้เกิดความรู้สึกรักและหวงแหน สำนึกรักบ้านเกิด
ถ้าเหตุผลเพียงนี้ ลำพูน เชียงใหม่ และหลายจังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง ก็ควรจะต้องเปลี่ยนชื่อเป็นนครลำพูน นครเชียงใหม่ นคร..และนครอื่นๆ เช่นเดียวกัน แต่คนในจังหวัดเหล่านั้น อาจไม่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมชื่อจังหวัด จะเป็นสาระสำคัญ หรือทำให้วิถีชีวิตเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีอย่างไร
หรืออาจเป็นด้วย คนเชียงใหม่ จังหวัดที่เสมือนเมืองหลวงของภาคเหนือ ประชากรที่เป็นหน่อเนื้อกษัตริย์แท้ๆ อาจถูกรุกไล่จากคนต่างถิ่น จนเหลือคนเชียงใหม่ตัวจริงน้อยเกินกว่าจะปลุกเร้า ให้คิดถึงชื่อนครเชียงใหม่ ทั้งที่เชียงใหม่มีประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องยาวนานกว่าจังหวัดอื่นๆ
ผมคิดว่าถึงแม้จะมีการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อแสวงหาเหตุผลมาสนับสนุน ว่าควรเปลี่ยนชื่อจังหวัด มาเป็นนครลำปางหรือไม่ ก็คงติดกับกับเรื่อง เปลี่ยนชื่อแล้วจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเกิด เมืองนอนของพวกเขาอย่างไร บ้านเมืองจะเจริญขึ้นหรือไม่ หรือเปลี่ยนชื่อแล้ว จะไปสร้างความยุ่งยากในเรื่องงานเอกสาร ป้ายประกาศ เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างไร
ซึ่งเรื่องเหล่านี้เล็กน้อยมาก ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ในสายเลือดของคนลำปางวันนี้ ยังเข้มข้น และระลึกถึงประวัติศาสตร์ของนครลำปาง ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิ และหากเปลี่ยนชื่อเป็นนครลำปาง จะเป็นแรงขับดันให้คนรุ่นใหม่ของลำปาง ที่จะเป็นอนาคตลำปาง รัก หวงแหนและปักหลักร่วมกันพัฒนาบ้านเมือง ไม่ย้ายถิ่นฐานไปไหน หรือไม่
ในวันที่พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน ที่จัดทำอย่างดีเทียบเท่ามาตรฐานพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ เงียบเหงา วังเวง มีคนลำปางน้อยกว่าน้อย ที่เคยเดินเข้าไป ในวันที่คนลำปางน้อยกว่าน้อย ไม่อาจบอกเล่าได้ว่า ถิ่นฐานของเขามีกำเนิดมาอย่างไร การเปลี่ยนชื่อ ก็อาจไม่มีความหมายในเชิงจิตวิญญาณ มากกว่าการเป็นเพียงสัญลักษณ์ ที่เข้าใจในหมู่คนไม่กี่คนเท่านั้น
เมื่อพลิกหน้าประวัติศาสตร์ นครลำปาง อาจมีหลายเรื่องราวที่คนลำปางรุ่นใหม่ไม่เคยรู้มาก่อน
ลำปาง มีเจ้าผู้ครองนครมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย กษัตริย์องค์แรกคือพระเจ้าอนันตยศ ซึ่งเป็นราชบุตรของพระนางจามเทวี ทรงสร้างนครลำปางในปี พ.ศ.1231 และมีลูกหลานสืบทอดอำนาจกันต่อมา จนถึงรัชสมัยพระยาเบิก พญามังรายแห่งเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ขุนสงคราม กรีธาทัพมาตีนครลำปาง
พระยาเบิก ถูกขุนสงครามปลงพระชนม์ที่บ้านตาล เขตนครลำปาง เป็นการสิ้นยุคราชวงศ์หริภุญชัยในนครลำปาง
เมื่อพญามังรายมีอำนาจเหนือล้านนา ได้แต่งตั้งขุนมาครองนครลำปาง สืบทอดมาหลายร้อยปี จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนอง ราชาเหนือราชา เงาร่างจะเด็ด นักรบนักรัก แห่งหงสาวดี ได้ยกทัพยึดล้านนาไว้ได้ทั้งหมด และตลอดระยะเวลา 200 ปี จากนั้น เกิดการกดขี่ข่มเหงราษฏร เกิดกบฏหลายครั้ง จนกระทั่งหนานทิพย์ช้างได้ชัยชนะเหนือท้าวมหายศแห่งนครลำพูน
ชาวเมือง ได้สถาปนาหนานทิพย์ช้างขึ้นเป็น พระญาสุลวะฤาไชยสงคราม เป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ทิพย์จักร หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนในนครลำปาง ต่อมาลูกหลานของพระญาสุลวะฤาไชยสงคราม ได้ให้ความร่วมมือกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ขจัดอิทธิพลพม่าออกจากล้านช้างได้ทั้งหมด
เป็นการเริ่มต้นยุคเจ้านครลำปาง ในสายเจ้าเจ็ดตน จนถึง พ.ศ.2465 ยุคสมัยเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต
เรื่องเหล่านี้ สำคัญหรือไม่ ประวัติศาสตร์ของลำปาง ยังมีพลังมากพอที่จะทำให้คนลำปาง เห็นพ้องต้องกันหรือไม่ว่า จากนี้ไป
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1045 วันที่ 11 - 17 กันยายน 2558)