ไม่มีข้อสงสัยใดๆ สำหรับเป้าหมาย ความมุ่งมั่นตั้งใจให้มีหมู่บ้านศีล 5 เป็นหมู่บ้านที่คนทั้งหมู่บ้าน จะไม่ 1.ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต 2.ไม่ถือเอาเป็นเจ้าเข้า เจ้าของในสิ่งของของคนอื่น 3.ไม่ประพฤติผิดในกาม 4.ไม่กล่าวเท็จ และ 5.สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ยังไม่ต้องถามถึงหมู่บ้านศีล 5 แต่ว่ากันตามความจริง คนไทยสักกี่คนที่ประพฤติตนได้ครบถ้วนทุกข้อ หรือสังคมไทยมีมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการยึดถือ ปฏิบัติศีล 5 มากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศ ที่อำนาจรัฐเขาสามารถจัดการให้คนห่างไกลจากการประพฤติผิดศีล เช่น การห้ามเด็ดขาดในการผลิต และขายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
เกือบไม่มีหมู่บ้านไหนในประเทศไทย ที่ไม่มีร้านเหล้า ไม่มีคนขายเหล้า ไม่มีคนกินเหล้า ยกเว้นในเขตพื้นที่ชุมชนมุสลิมหนาแน่นในสามจังหวัดภาคใต้ ในขณะที่ธุรกิจเหล้า ก็รุ่งเรืองเฟื่องฟู เจ้าของกิจการมีฐานะร่ำรวย ระดับมหาเศรษฐีของเมืองไทย
5 อันดับแรกของเศรษฐีที่ดินเมืองไทย คือผู้ประกอบธุรกิจผลิตและค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง ที่จะสร้างหมู่บ้านศีล 5 ในความหมายที่แท้จริง และคงยากขึ้นเป็นอีกหลายเท่า ที่จะให้คนเข้าร่วมด้วยความยินยอมพร้อมใจว่าพวกเขา จะถือศีล 5 เคร่งครัด คนจัดการโครงการหมู่บ้านศีล 5 ก็นับว่าน่าเห็นใจ ดังนั้น อาจจำเป็นต้องหลับตาเสียข้างหนึ่ง เพื่อพอให้เห็นร่องรอยของความเป็นหมู่บ้านศีล 5
การลงทะเบียนชื่อ ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านศีล 5 จึงมีการกล่าวอ้างว่า เป็นการลงทะเบียน ด้วยตัวเลขบัตรประชาชน 13 หลัก จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ จากหลักฐานผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง ซึ่งเป็นการแอบอ้างและเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่หากคิดว่านี่คือหมู่บ้านที่ตั้งใจจะให้เกิดความสมานฉันท์ ให้คนในชาติน้อมนำศีล 5 มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นหมู่บ้านที่จะพูดความจริงกัน ก็คงต้องระมัดระวัง มิให้ผิดเจตนา หรือดูมีค่าเท่ากันไม่ว่าจะเรียกว่าหมู่บ้านศีล 5 หรือไม่ นอกจากนั้นหากเริ่มก้าวแรกด้วยความโกหกเสียแล้ว จะเรียกว่าเป็นหมู่บ้านศีล 5 เต็มคำได้อย่างไร
คำถามที่สำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดลำปางต้องตอบ หาใช่วัตถุประสงค์ เป้าหมาย เจตนารมณ์ในการระดมพลให้เกิดหมู่บ้านศีล 5 ไม่ แต่คือวิธีการ ได้มาซึ่งรายชื่อของคน คนที่เขายืนยันว่าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจให้เอารายชื่อเขาไปใช้ ถึงเขาจะเห็นด้วยกับการมีหมู่บ้านศีล 5 ก็ตาม
และสิ่งที่สำนักงานพระพุทธศาสนา ที่เป็นเจ้าภาพงานหมู่บ้านศีล 5 ทุกจังหวัดต้องตอบ ก็คือคำถามเดียวกัน
หากเราคิดแต่ในแง่พิธีกรรม กวาดต้อนรายชื่อให้ได้จำนวนมากที่สุด เพื่อความมีหน้ามีตาของจังหวัด หรือส่งเสริมตำแหน่งพระ ด้วยจำนวนสถิติผู้ลงทะเบียน หรือในทางตรงกันข้าม พื้นที่ใด วัดใด มีคนมาร่วมโครงการน้อย ก็จะมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง ต่อพระ ต่อข้าราชการเจ้าของพื้นที่ ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก
ที่สุดแล้ว หากมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านศีล 5 น้อย ก็หมายถึงสภาพความเป็นจริงในสังคมไทย ที่ไม่ควรมากล่าวโทษกัน หรือถ้ามีคนสมัครโครงการไม่มาก แต่แต่ละคนล้วนมีคุณภาพ และปวารณาตัวที่จะยึดมั่นศีล 5 อย่างแท้จริง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1044 วันที่ 4 - 10 กันยายน 2558)