ในที่สุด ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น อายุงานกว่า 20 ปี ก็ประกาศลาออกด้วยเหตุผล เพื่อยุติแรงกดดันที่มีต่อบริษัทและเพื่อนร่วมงาน ในขณะที่เขาโพสต์ข้อความสั้นๆ ในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า
“บางครั้ง เราต้องเสียอิสรภาพส่วนตัวบ้างเพื่อรักษาเสรีภาพส่วนรวม”
ในขณะเดียวกัน ประวิตร โรจนพฤกษ์ ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า เขาลาออกจากเนชั่นแล้ว โดยเขาถูกขอให้ออก เนื่องจากเนชั่นถูกกดดันจากสารพัดกลุ่ม โดยจะมีผลสิ้นเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ
"เรารักเนชั่น ไม่ต้องการให้บ้านไฟไหม้ เราช่วยอะไรได้ก็ช่วย" ประวิตรกล่าว
ประวิตร ถูกทหารเชิญตัวไปปรับทัศนคติภายในค่ายทหาร ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน และถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมๆกับ พิชัย นริพทะพันธุ์ และการุณ โหสกุล ในวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประวิตร เล่าว่า เขาถูกผูกตา นำไปกักขังอยู่ในห้องแคบๆห้องหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นที่ใด
ระหว่างที่ประวิตร อยู่ในการควบคุมของฝ่ายทหาร กนก รัตน์วงศ์สกุล ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขาว่า วันนี้ไปไหนก็มีแต่คนพูดถึงเนชั่น ในกล่องข้อความของผม กับที่โพสต์ตามหน้าเพจทั่วไป มีคนไม่เข้าใจเนชั่น ตั้งคำถามถึงเนชั่น ผิดหวังเนชั่น และ “ด่าเนชั่น” อย่างต่อเนื่อง
ไปกินมื้อเที่ยงที่ เมธาวลัย – ศรแดง ทันทีที่เดินเข้าไป กลุ่มพี่ๆโต๊ะติดกัน ลุกขึ้นมาทักทายและบอกว่า “การที่..(เอ่ยชื่อผู้บริหารเนชั่น)..ออกมาปกป้องประวิตร จะทำให้เนชั่นตกต่ำ!”
ผมบอกกับพี่ทั้งกลุ่มไปว่า ในเนชั่นมีเพียงนายประวิตร ที่คิดเห็นเช่นนั้น คนส่วนใหญ่เขาไม่ได้เห็นด้วย ซ้ำยังไม่พอใจ..ทุกครั้งที่เขาแสดงความเห็นขวางโลก
วันนี้มีความเคลื่อนไหวของพนักงานกลุ่มใหญ่ ร้องขอให้ผู้บริหารปรับท่าที และแยกแยะให้ชัดเจน เพราะนายประวิตรแสดงความเห็นในพื้นที่ส่วนตัวของเขา ไม่ได้ใช้ฐานะสื่อมวลชน ทำไมองค์กร หรือบริษัท จึงต้องเข้าไปปกป้อง โดยอ้างเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อ?
แล้วตลอดเวลาที่นายคนนี้ แสดงความเห็นหมิ่นกระแสสังคม สวนความรู้สึกคนส่วนใหญ่ หรือแสดงทัศนะต่อสถาบันฯ ทำไมบริษัทหรือองค์กรสื่อ จึงไม่ออกมาห้ามปราม ยับยั้ง เสรีภาพการแสดงความเห็นของสื่อนั้น..กว้างขวางขนาดนั้นเชียวหรือ?
คนๆเดียว ทำไมจัดการไม่ได้ ปล่อยให้แสดงความเห็นหมิ่นน้ำใจสังคมตลอดมา พอยามที่สื่อถูกแทรกแซง กลับร่ำร้องขอให้สังคมเป็นแนวร่วม
ผมได้รับข่าวแว่วๆมาว่า จะมีการ “จัดการ” กรณีนายประวิตร โรจนพฤกษ์ “อย่างเด็ดขาด”
ในที่สุดข่าวแว่วของกนก ก็เป็นข่าวจริง เพียงแต่วิธีจัดการ ที่ปรากฏต่อผู้คนทั่วไป คือประวิตร ลาออก
ประเด็นเรื่องการใช้เสรีภาพของประวิตร ว่าเกินขอบเขตหรือไม่ และใช้ไปในสถานะส่วนตัวหรือสื่อมวลชนคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป
ไม่ว่าเผด็จการ หรือประชาธิปไตย การใช้เสรีภาพ มิได้ผันแปรไปตามระบอบ หรืออำนาจใดๆ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นนั้นโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ของคนที่ทำอาชีพสื่อมวลชน
แต่การใช้เสรีภาพนั้น จะต้องอยู่บนความรับผิดชอบ คือรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคม มีคนจำนวนมาก ใช้เสรีภาพด้วยความหวาดกลัว กลัวถูกเรียกไปปรับทัศนคติ กลัวถูกจับกุมคุมขัง อีกจำนวนหนึ่งใช้ความกล้า จนเกินขอบเขต เกินขีดเส้นของการวิพากษ์วิจารณ์ โดยปกติที่คนอื่นพึงกระทำ
ถ้อยคำที่เรียกว่าวิพากษ์ วิจารณ์ ตามหน้าที่ปกติของคุณประวิตร โรจนพฤกษ์ อันปรากฏในสื่ออื่นๆ มากกว่าสื่อที่คุณประวิตรสังกัด และควรตั้งข้อสงสัยได้ว่า คุณประวิตรได้ทำหน้าที่บนพื้นที่ส่วนตัวเพื่อตอบสนองความคิด ความเชื่อส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องสถาบัน หรือการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ อันควรได้รับการปกป้องจากองค์กรที่สังกัดหรือไม่
หลายถ้อยคำไม่อาจเสนอซ้ำได้ เพราะเป็นถ้อยคำที่อาจยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง หรือหมิ่นเหม่ต่อความผิดตามกฏหมาย เป็นการแสดงบทบาทนอกเหนือจากบทบาทของสื่อมวลชน ที่น่าสนใจว่าผู้บริหารองค์กรสื่อนั้น ไม่สามารถแยกแยะบทบาทในทางวิชาชีพ กับบทบาทส่วนตัวได้ และก็แปลกประหลาดอย่างที่สุดที่เมื่อวานปกป้อง แต่วันนี้กลับกดดันให้ออก
ก่อนหน้านั้นการเรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณประวิตร โรจนพฤกษ์ หรือหากการกระทำของคุณประวิตร เป็นความผิดตามกฏหมาย ก็ให้ดำเนินการพิสูจน์ความผิดของคุณประวิตรตามฐานความผิดของกฏหมายเช่นเดียว กับคนอื่นๆ นี่นับว่าถูกต้องแล้ว เพราะการจับและการคุมขังบุคคล โดยไม่มีหมายศาลหรือเหตุอื่นตามกฏหมาย ไม่ว่าจะใช้อำนาจพิเศษหรือไม่ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ได้แปลว่าเพราะคุณประวิตรเป็นสื่อมวลชน จึงต้องได้รับการดูแลปกป้อง เป็นพิเศษ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1046 วันที่ 18 - 24 กันยายน 2558)