วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ครั้งแรกของโลกถ่ายเลือดผ่าตัดช้าง


คณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ ทำวิจัยการถ่ายเลือดช้างได้สำเร็จ ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย คณะสัตวแพทย์ ม.เชียงใหม่ และสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์  ถ่ายเลือดระหว่างผ่าตัดช่วยชีวิตช้างมดลูกทะลักเป็นครั้งแรกของโลก

น.สพ.ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกูล  ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ  อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 58 ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย  ได้ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  รวม 18 คน  ทำการผ่าตัดพังโม่ดีพอ ช้างเพศเมีย อายุ 18 ปี  จาก อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่ป่วยด้วยอาการมดลูกทะลักออกมาจากช่องคลอด โดยได้ทำการถ่ายเลือดช้างระหว่างทำการผ่าตัดได้ประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

น.สพ.ดร.สิทธิเดช กล่าวว่า   สำหรับช้างพังโม่ดีพอ ทราบว่าหลังจากคลอดลูกได้ประมาณ 1 เดือน เจ้าของได้พาออกไปเดินป่า และพบว่ามีก้อนขนาดใหญ่ทะลักออกมาจากปากช่องคลอด โดยเห็นเป็นมดลูกชัดเจน จึงนำตัวส่งมารักษาที่โรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย  จากการตรวจสอบพบว่าเป็นอาการของมดลูกไม่เข้าอู่ พบได้ในสัตว์ทั่วไป  แต่ของพังโม่ดีพอปล่อยไว้นานทำให้มดลูกเน่าและติดเชื้อ โดยปกติถ้าเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สุนัข แมว จะมีการตัดทิ้ง  แต่ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถตัดมดลูกออกได้ เนื่องจากจะเสียเลือดมาก  ดังนั้นจึงได้ร่วมหารือกับคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาช่วยกันวินิจฉัย เห็นว่าต้องทำการผ่าตัดรักษาโดยด่วน ไม่เช่นนั้นช้างจะต้องเสียชีวิตแน่นอน  โดยก่อนจะดำเนินการได้มีการแจ้งให้เจ้าของช้างทราบว่าโอกาสรอดมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่หากไม่ทำการผ่าตัดช้างก็จะต้องเสียชีวิต  เจ้าของช้างก็ยินดีที่จะทำการผ่าตัด โดยใช้สัตวแพทย์ 18 คน และใช้เวลาผ่าตัดนาน 5 ชั่วโมง หลังจากผ่าตัดต้องดูแลช้างอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมการติดเชื้อให้ได้ ไม่เช่นนั้นช้างก็อาจจะเสียชีวิตได้เช่นกัน  จึงได้ให้ยาปฏิชีวนะและสารอาหารเข้าเส้นด้วย อาการช้างจะดีขึ้นหรือไม่นั้นอยู่ที่ความแข็งแรง และการตอบสนองต่อยาของช้างด้วย ต้องดูกันไปอีกระยะยาว 1 เดือนขึ้นไป  ขณะนี้ช้างกินอาหารได้ดี

นอกจากนี้ ระหว่างการผ่าตัดช้างได้เสียเลือดมาก จึงพิจารณาถ่ายเลือดช้างจากช้างเพศผู้ ชื่อ สีดอใหญ่ เป็นช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ช่วยเหลือในการผ่าตัดได้เป็นผลสำเร็จ  โดยก่อนจะให้เลือดได้มีการตรวจสอบก่อนว่าเลือดช้างทั้งสองเชือกเข้ากันได้หรือไม่ ซึ่งผลออกมาว่าเข้ากันได้ จึงใช้เลือดในการผ่าตัดไป 500 ซีซี  สำหรับการถ่ายเลือดช้าง เป็นการวิจัยของ อ.ปิยนาถ วงศ์จันทร์ คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ามาศึกษาประมาณ 2 ปี  ซึ่งยังไม่มีรายงานที่ไหนในโลกว่ามีการถ่ายเลือดช้างได้ การผ่าตัดและถ่ายเลือดช้างครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกของโลก  และเป็นงานที่จะช่วยต่อยอดงานวิจัยต่อไปในอนาคต ซึ่งอาจจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดใช้อีกก็สามารถนำงานวิจัยนี้มาประยุกต์ใช้ได้   

น.สพ.ดร.สิทธิเดช กล่าวอีกว่า  ส่วนลูกของพังโม่ดีพอ เป็นช้างเพศผู้วัย 3 เดือน มีร่างกายสุขภาพแข็งแรงดี แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องคอยดูแลมัดลูกช้างไว้ เนื่องจากช้างเล็กวัยกำลังซุกซน กลัวจะเดินไปชนบาดแผลของแม่ช้าง ในส่วนของการให้นมนั้น ลูกช้างยังกินนมแม่ได้ตามปกติ แต่น้ำนมแม่มีน้อยเนื่องจากเกิดความเครียดและเจ็บบาดแผล จึงได้ให้นมชงเสริม ซึ่งลูกช้างกินนมได้ดี มีสุขภาพแข็งแรง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1050 วันที่ 16 - 22 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์