วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

ยางพารา จากใต้สู่เหนือ


ราแทบจะมองผ่านภาคเหนือไปเลย เมื่อมีปัญหาราคายางตกต่ำในภาคใต้ เพราะหากขยายออกไปอีก เราก็อาจนึกถึงภาคตะวันออกจากจังหวัดระยองขึ้นไปจนถึง จันทบุรี ตราด ที่เรียงรายสองข้างทางไว้ด้วยสวนยางพาราหนาทึบ หรือชาวบ้านอาจเรียกว่าป่ายาง หรืออีสานซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพารารองลงมาจากภาคใต้

แต่ในความเป็นจริงที่ภาคเหนือก็มีการทำสวนยาง มากที่สุดที่พะเยา และนับร้อยไร่ที่จังหวัดลำปาง ฉะนั้น ความเดือดร้อนที่ภาคใต้ ก็ส่งผลต่อภาคเหนือด้วยเช่นกัน

เพราะสวนยาง ทำรายได้มากกว่าสวนลำไย มากกว่าพืชพันธุ์เมืองหนาวชนิดอื่นๆ เอาเพียงลูกจ้างกรีดยาง อัตราค่าตอบแทนจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของราคายางที่ขายได้ ลูกจ้างกรีดยางจึงนับเป็นแรงงานที่มีค่าตอบแทนมากที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างในภาคเกษตรอื่นๆ

ว่ากันในเชิงประวัติศาสตร์ ยางนั้นมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มาแล้วนับพันปี

สมุดบันทึก 50 ปี สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง บันทึกประวัติศาสตร์ การเดินทางของยางจากยุคชาวมายัน จนถึงประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ

พันปีที่แล้ว มีหลักฐานจากการค้นพบรูปหินสลัก และภาพเขียนโบราณที่เล่าถึงการละเล่นเกมบอลที่ทำจากยาง ลูกใหญ่ขนาดเท่าหัวคน ในพิธีสักการะเทพเจ้าของชาวมายัน  ชนพื้นเมืองหลายเผ่าในแถบลุ่มน้ำแอมะซอน รู้จักเอาของมีคม สับหรือเจาะต้น เอายางมาใช้ประโยชน์

ชาวอินเดียนแดงทำรองเท้ายางด้วยการจุ่มเท้าลงในภาชนะบรรจุน้ำยางซ้ำหลายๆครั้ง จนได้ความหนาพอ ก็ได้รองเท้าเฉพาะของตัวเอง นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลก แต่วันหนึ่งก็เดินทางมาถึงผืนแผ่นดินไทยอันอุดม ด้วยการนำเข้ามาโดยพระยารัษฏานุประดิษฐมหิศรภักดี หรือคอซิมบี้ ณ ระนอง สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต

ส่วนภาคเหนือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เล่าว่า กำนันตำบลทุ่งกล้วย ในสมัยนั้น ได้พันธุ์กล้ามาจากเมืองตรังเมื่อปี 2533 มีคนในหมู่บ้านบางครอบครัวร่วมปลูก บนพื้นที่ราว 20 ไร่ ต่อมาก็มีการขยายพันธุ์กล้ามาลงดินที่ลำปาง

สารคดี นิตยสารธรรมชาติวิทยา และสิ่งแวดล้อม  บันทึกเรื่องราวของเลย ผาลา ชาวสวนยางรุ่นบุกเบิกของบ้านทุ่งกล้วยไว้ว่า ปีแรก  ผ่านไปอย่างทุลักทุเล เมื่อต้นยางโตพอที่จะกรีดได้แล้ว พวกเขากรีดยางไม่เป็น ต้องไปหัดที่ภาคตะวันออก กรีดยางแล้วขนไปขายที่ระยอง กลับก็ซื้ออุปกรณ์ทำสวนกลับมา

เมื่อเริ่มปลูกยางราคาดี เคยอยู่ที่ 10 กว่าบาท 20 กว่าบาท ขึ้นไป 10 เท่า ต้นปี 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราคายางพาราพุ่งพรวดไปถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม ถึงวันนี้ขอเพียงเศษของ 200 บาทก็ยังยากเย็น วันที่เคยเห็นยางพาราเป็นพืชทองคำ ก็กลับเป็นตะกั่วราคาถูก

ราคายางตกต่ำจึงเหมือนฝนที่ตกทั่วฟ้า เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนกันทั้งประเทศ จากใต้สู่เหนือ และจากตรังถึงพะเยา ขยายพันธุ์มาถึงลำปาง ถึงกระนั้นด้วยค่าแรงกรีดยาง ก็เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรยังคงต้องตื่นแต่เช้ามืด ในช่วงที่น้ำยางไหลแรง เพื่อหวังว่า ราคายางระดับ 200 บาทต่อกิโลกรัม จะกลับมาสักวันหนึ่ง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์