วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ผู้ว่าฯหนุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะชาวบ้านค้าน


ผู้ว่าฯออกตัวหนุนโรงไฟฟ้าขยะ พลังงานทดแทน  เชื่อปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาแล้วมีความน่าเชื่อถือ ควรส่งเสริม ด้านพลังงานจังหวัดเผยบริษัทเดิมยกธงขาว หลังเจอกระแสมวลชนแรง  ส่วนบริษัทใหม่อาจกำลังเล็งหาพื้นที่ ส่วนนายกเทศมนตรี ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร ระบุบริษัทที่เคยติดต่อมาเงียบหายไป  กระแสชาวบ้านในพื้นที่ไม่เอา

จากกรณีพื้นที่ จ.ลำปางมีบริษัทเอกชนเข้ามาสนใจลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าขยะในหลายอำเภอ ล่าสุดได้มีบริษัทพลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จำกัด เข้ามาติดต่อเทศบาลตำบลปงยางคก เนื่องจากสนใจพื้นที่บ้านปงใต้ หมู่ 7 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ  โดยได้มีการประชุมชาวบ้านไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา  ซึ่งในเรื่องดังกล่าวในการประชุมแถลงข่าวผู้ว่าฯพบสื่อมวลชน ได้มีการบรรจุลงในวาระการประชุม แต่เมื่อถึงวันแถลงข่าวกลับไม่มีการพูดคุยในวาระดังกล่าวแต่อย่างใด

นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  โรงไฟฟ้าขยะตอนนี้ยังไม่เกิด แต่มีโรงงานทำถ่านอัดแท่งที่ ต.บ้านเป้า ที่คนจีนมาลงทุน เพื่อลดการเผาเศษวัสดุ  แต่การเอาขยะมาทำไฟฟ้า เป็นการเอาขยะมาทำเป็นเงิน ปัจจุบันนี้ขยะมีค่าเปลี่ยนเป็นเงินได้ เป็นเรื่องที่ดีที่มีพลังงานทางเลือก และช่วยการกำจัดขยะ สมัยนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามามาก มีระบบตรวจสอบการปล่อยสารพิษ เป็นระบบที่น่าเชื่อถือ  ถ้าสามารถทำอย่างมีมาตรฐานก็ไม่น่าจะมีปัญหา ควรส่งเสริมให้มาทำในเรื่องนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวอีกว่า  สิ่งหนึ่งที่อยากจะรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน คือ พวกเศษวัสดุที่เหลือใช้  ซังข้าวโพด ก็ถือว่าเป็นเงินเป็นทอง มีหลายบริษัทรับซื้อ ไม่ว่าจะเป็น SCG สหพัฒน์ฯ จ.ลำพูน ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง  อยากจะส่งเสริมผู้ประกอบการให้ตั้งจุดรับซื้อเศษวัสดุต่างๆ  อีกส่วนหนึ่งมีนักลงทุนจากประเทศจีนมาทำโรงงานถ่านอัดแท่งขาย จากเศษวัสดุเหลือใช้ จะช่วยลดปัญหาการเผาและยังลดหมอกควันที่ จ.ลำปางได้  นอกจากนั้นได้มีการวางแผนร่วมกับประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่น เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นการปลูกไผ่ เพื่อสร้างรายได้ ไร่หนึ่งได้ราคาไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท  ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่ควรสนับสนุน
           
นางสายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดลำปาง  กล่าวว่า เรื่องโรงไฟฟ้าขยะตอนนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพียงการพูดคุยหรือถามต่อกันไปจึงทำให้เกิดกระแสว่าจะมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาตั้งในพื้นที่ ทางบริษัทเอกชนเองก็อาจจะเข้ามาดูลู่ทางในท้องถิ่นแต่ละแห่งว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการยื่นเรื่องต่างๆมีขั้นตอนมากมาย  สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงานสนับสนุนอยู่แล้วที่จะให้ทำพลังงานทดแทน และอยู่ในแผนพัฒนาซึ่งจะไปต่อยอดกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยมีนโยบายให้เอกชนเข้ามาลงทน  ในส่วนของพลังงานจังหวัดเองก็จะเป็นตัวประสานงานให้ข้อมูลให้ความรู้กับประชาชน  บางครั้งการที่เอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ก็ไม่ได้แจ้งให้จังหวัดทราบเสมอไป  แต่เขาไปประสานงานโดยตรงกับกรมกิจการพลังงาน อุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการทำถูกต้องตามขั้นตอน ชาวบ้านก็กลัวว่าจะมีการลักลอบเข้ามาตั้งในพื้นที่ เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้แน่นอน
           
ในส่วนของบริษัทเดิมที่จะมาตั้งที่ป่าเหียงนั้น ตอนนี้ได้ยกเลิกโครงการไปแล้ว เนื่องจากกระแสการต่อต้านในพื้นที่แรง และไม่สามารถสร้างได้ด้วยเพราะบ้านป่าเหียงเป็นพื้นที่สีชมพู  แต่กรณีที่จะมีบริษัทเอกชนเข้ามาติดต่อกับท้องถิ่นในพื้นที่ ก็ไม่สามารถไปห้ามได้ เพราะนโยบายรัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่  พลังงานจังหวัดกล่าว
           
ด้านนายย้าย ฮาวคำฟู  นายกเทศมนตรี ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทพลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จำกัด ได้เข้ามาประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านในการตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ติดต่อเข้ามาอีกเลย ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านทราบบ้างแล้ว และชาวบ้านก็คัดค้านหากมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาตั้งในพื้นที่
           
นางอนงค์  ราษฎร ต.ปงยางคก  อ.ห้างฉัตร  กล่าวว่า ตนเองยังไม่ทราบเรื่องว่าจะมีโรงไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่  แต่หากว่ามีการเข้ามาจริงก็ไม่ต้องการ เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่างๆ  อีกอย่างคือในหมู่บ้านก็ไม่ได้มีขยะล้นมากมายที่จะโรงไฟฟ้าจะเข้ามาตั้งได้  หากเกิดผลกระทบขึ้นกับชาวบ้านในภายหลังแล้วใครจะรับผิดชอบ กันไว้ดีกว่าแก้ไขไม่ได้
           
น.ส.เกศศินี  ราษฎร ต.แม่สัน อ.ห้างฉัตร  กล่าวว่า  ได้ยินเรื่องโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งแต่ที่จะมาตั้งพื้นที่บ้านป่าเหียง ซึ่งมีชาวบ้านออกมาต่อต้าน โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว เห็นว่าการนำขยะมาทำเป็นพลังงานทดแทนนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การจะเข้ามาตั้งในพื้นที่ก็ต้องถามชาวบ้านก่อน และควรตั้งในจุดที่ห่างไกลจากชุมชนมากๆ  ถ้ามาตั้งจริงก็คงไม่ต้องการ เพราะทั้งกลิ่น ทั้งเสียง อะไรต่างๆ ไม่ใช่ว่าอยู่คนละหมู่บ้านแล้วจะไม่ได้รับผลกระทบ  ผู้ที่จะเข้ามาตั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชาวบ้านด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์