วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เปลี่ยนยางใหม่ 2 เส้น ควรใส่ล้อหลัง...จริงไหม ?



จริง : เพราะยางใหม่มีโอกาสระเบิดน้อยกว่ายางเก่า

ไม่นานมานี้ ผมได้รับข้อความที่แชร์กันมากในโลกโซเชียล เกี่ยวกับการเปลี่ยนยางรถยนต์ว่า "หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนยางรถยนต์เพียงแค่ เส้น ให้เอายางใหม่ไปใส่ไว้ที่ล้อหลังเสมอ" และคนที่เขียนข้อความนี้ก็ตั้งคำถามว่าจริงหรือ เพราะตามความเข้าใจ (ของเขา) ที่ปฏิบัติมากว่า 30 ปี หากต้องเปลี่ยนยางใหม่เพียง เส้น ให้เอายางที่ใหม่กว่าไปไว้ที่ล้อหน้า

และเมื่อเขาถามไปยังบริษัทยางรถยนต์ชั้นนำหลายยี่ห้อ ก็พบคำตอบเหมือนกันว่า "ให้นำยางเส้นใหม่ไปไว้ล้อหลัง" เนื่องจากยางใหม่มีดอกยางลึก จะช่วยยึดเกาะถนนในขณะเข้าโค้ง หรือเปลี่ยนเลนในพื้นถนนที่ลื่นได้ดีกว่า

ผมอ่านเนื้อหาทั้งหมด และอยากให้ทำความเข้าใจตามนี้ครับ เรารู้จากจิตสำนึกมาตลอดว่า ถ้าหากดอกยางเริ่มตื้นขึ้น (ดอกเริ่มโล้น) เวลาเจอแอ่งน้ำบนถนน รถจะลื่นขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ เพราะถ้ารีดน้ำไม่ทันตอนวิ่งเร็ว หน้ายางจะไม่สัมผัสกับผิวถนน ยางจึงเกาะถนนไม่ได้ แต่การที่ดอกยางตื้นขึ้นก็ไม่ได้แย่เสมอไปครับ ถ้าหากวิ่งอยู่บนถนนที่แห้ง ยางที่ไม่มีร่องดอกยางเลย กลับเกาะถนนดีที่สุดครับ รองลงมา คือ ยางดอกตื้น หรือยางดอกเกือบหมด

ยางดอกตื้น หรือยางดอกเกือบหมด ก็ไม่ได้ระเบิดง่ายเหมือนที่ถูกปลูกฝังกันมาครับ ถ้าจะระเบิดง่าย คงเป็นเพราะความเสื่อมจากอายุมาก เช่น เกิน 10 ปี ดังนั้น ยางดอกเกือบหมด จึงอันตรายได้จากสาเหตุเดียว คือ "รีดน้ำไม่ทัน" (นึกถึงสกีน้ำ) ใครที่เข้าใจเรื่องนี้ ถ้ายังไม่พร้อมจะเปลื่ยนยางดอกตื้น ก็แค่ขับให้ช้าลงเวลาเจอถนนเปียก ก็ยังปลอดภัยอยู่ แต่หากถึงขนาดโล้นหมดแล้ว ถึงช้าแล้วก็ยังลื่นอยู่แน่นอนครับ

ทั้งหมดที่เกริ่นมานี้เพื่อจะเสริมว่า "ควรเอายางใหม่ไปไว้ที่ล้อหลัง" เนื่องมาจากเหตุผลเดียว คือ "ยางใหม่มีโอกาสระเบิดน้อยกว่ายางเก่า" เพราะหากยางหลังเกิดระเบิด รถจะเสียการทรงตัวมากกว่ายางหน้าระเบิดมากครับ รถจะสะบัดหมุนในระดับที่ผู้ขับมีฝีมือ ก็ยังแก้ไขไม่ได้ เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากยางหน้าระเบิด การประคองไม่ให้รถเสียการทรงตัว ทำได้ง่ายกว่ามาก

ส่วนยางเก่าดอกตื้นควรเอาไว้ล้อไหนดี ผมว่า ให้เอาไปไว้ข้างถังขยะดีที่สุดครับ !

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์