กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
สีขาวบริสุทธิ์บวกกับความพลิ้วไหวของลวดลายปูนปั้นรอบวิหารวัดเชียงราย คงทำให้คนที่ผ่านไป-มาอดที่จะมองเหลียวหลังไม่ได้ ประกอบกับการปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ ก็พลิกโฉมวัดแห่งนี้ให้กลายเป็นที่สนอกสนใจของทั้งนักท่องเที่ยวและคนลำปางเอง ซึ่งก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไป บ้างเห็นว่าดีงาม บ้างไม่เห็นด้วยชนิดค้านหัวชนฝา
“อาตมาเจอมาหมดแล้ว บางคนก็ว่าทำวัดอย่างกับโรงลิเก ตอนรื้อกำแพงออกไปก็ว่าไม่เหมาะ” พระปลัดสมโภช ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดเชียงราย เล่าให้ฟัง “แต่ถ้าเราเอาจิตไปผูกกับคนอื่นมาก ๆ เราก็จะทำอะไรไม่ได้สักอย่าง”
อาจกล่าวได้ว่า พระปลัดสมโภชเป็นพระนักพัฒนา ล่าสุดท่านมีแนวคิดที่จะจัดทำโครงการไนต์ ธรรมมะ (Night Dhamma) เพื่อเป็นการเปิดวัดไปตามโลก ให้คนสมัยใหม่ที่เวลากลางวันคือช่วงเวลาทำงาน ได้มีโอกาสเข้าวัดเข้าวาบ้าง ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลากลางคืน ซึ่งพระปลัดสมโภชมองว่า วัดส่วนใหญ่พอตกเย็นก็ปิดประตูวัดเงียบกันหมด ความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นใหม่กับวัดจึงห่างเหินกันออกไปเรื่อย ๆ
“อาตมาจะปรับปรุงพุทธสถานลำปางให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยจัดทำโครงการไนต์ ธรรมมะที่ว่านี้ ตอนนี้มีแบบแปลนคร่าว ๆ แล้ว เขาตีราคาว่าต้องใช้งบประมาณนับสิบล้านบาท ตอนนี้อาตมายังไม่มีสักล้านเลย” เจ้าอาวาสวัดเชียงรายกล่าวยิ้ม ๆ พลางเดินไปหยิบแบบแปลนมาให้ดู กระดาษ A4 แผ่นนั้นมีลายเส้นของอาคารชั้นเดียว หลังคาซ้อนชั้นอย่างวิจิตร สถาปัตยกรรมโดยรวมงดงาม
“หากปรับปรุงพุทธสถานลำปางแล้ว เราจะทำโครงการไนต์ ธรรมมะที่นั่น ด้วยการเปิดให้ญาติโยมเข้ามาตอนกลางคืน อาจจะถึงสาม-สี่ทุ่ม เพื่อให้คนที่ไม่มีเวลาว่างตอนกลางวัน จะได้เข้าวัดตอนกลางคืน มาผ่อนคลาย ฟังเทศน์ สวดมนต์ นั่งสมาธิ มีการแสดงทางวัฒนธรรม บริการเครื่องดื่มและน้ำสมุนไพร ตลอดจนจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินชาวลำปางด้วย”
พระปลัดสมโภชกล่าวเสริมอีกว่า ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์วัดเชียงรายจะเปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาให้พุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัยเข้ามาศึกษาธรรมมะ โดยทางวัดจะมีหลักสูตรที่เหมาะสมตามวัย ด้านผู้สูงอายุนอกจากจะได้นั่งสมาธิ สวดมนต์แล้ว ทางวัดจะชวนให้ทำงานประดิษฐ์เล็ก ๆ น้อย ๆ พอคลายเหงา หรือจะเข้ามาออกกำลังกายกันก็ได้
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการไนต์ ธรรมมะ จะยังเป็นแค่แนวคิด และการปรับปรุงพุทธสถานก็ยังเป็นแค่ลายเส้นในแผ่นกระดาษ แต่ก็นับเป็นความน่าสนใจและน่าติดตามอยู่ไม่น้อย ถ้าวัดจะหันมาสร้างสรรค์กิจกรรมใด ๆ ที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัดกับผู้คนลงได้
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ วันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ วัดเชียงรายจะจัดงานวันกตัญญุตา เมตตา เสียสละ ครบรอบ 33 ปี การมรณภาพของพระเทพวิสุทธิโสภณ อดีตเจ้าอาวาสวัดเชียงรายและอดีตเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งในโอกาสนี้ ทางวัดจะเปิดพิพิธภัณฑ์พระเทพวิสุทธิโสภณไปพร้อมกันด้วย นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของเก่าของโบราณของพระเทพวิสุทธิโสภณ รวมทั้งที่ญาติโยมนำมาถวาย เป็นศิลปะวัตถุที่งดงาม หาชมได้ยากยิ่ง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1065 วันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ 2559)