วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

ห้างฉัตรเบียดดอยหล่อ สร้างสนามบินนานาชาติ


จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ลำปางดันพื้นที่ห้างฉัตร ชิงพื้นที่ดอยหล่อ-แม่ออนเชียงใหม่ ตั้งสนามบินนานาชาติภาคเหนือ ขณะที่หลายฝ่ายยังสับสนเรื่องพิกัดที่ชัดเจน ชี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้แนะตั้งคณะทำงานระดับภาคและเทียบข้อมูลเพื่อเลือกพื้นที่มีเหมาะสมที่สุดก่อนไปสู่ประเด็นลงทุนก่อสร้าง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ได้พิจารณาประเด็นสำคัญ คือ โครงการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นสนามบินนานาชาติพระนางจามเทวี เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติในภาคเหนือ ซึ่งจะต้องสำรวจศึกษาออกแบบด้วยงบประมาณราว 130 ล้านบาท และมีการประเมินเบื้องต้นว่าสนามบินนานาชาติพระนางจามเทวี จะลงทุนไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 90,000 ล้านบาท

โดยมีแนวทาง คือ 1.ภาคเอกชนเป็นผู้ศึกษา 2.ภาครัฐเป็นผู้ศึกษา ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจเอกชนที่รวมตัวกันในนาม ASEAN Air-port Solution Consortium ที่สนใจลงทุนในโครงการนี้ ประกอบด้วย บริษัท JK&D International จำกัด ของฮ่องกง บริษัท JK Telecom จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท JK&D International จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านการเป็นที่ปรึกษาในระดับรัฐบาลด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับใหญ่ เช่น สนามบินและรถไฟที่ประเทศคาซัคสถาน และสนามบินใหม่ในเซอร์เบียจะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินเพื่อใช้สำหรับศึกษาความเหมาะสมความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้สนามบินนานาชาติพระนางจามเทวีเพื่อเป็นศูนย์กลางการบินภาคเหนือตอนบนและเป็นค่าใช้จ่ายในการออกแบบ รวมถึงศึกษาและออกแบบระบบแอร์พอร์ตลิงค์เชื่อมกับจังหวัดลำพูนเชียงใหม่ และลำปาง รวมงบประมาณในการศึกษาทั้งหมดราว 130 ล้านบาท

ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 ที่โรงแรมบุษย์น้ำทอง อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา นายอนุวัตร ภูวเศรษฐ ประธานกลุ่มหอการค้าภาคเหนือตอนบน1 ได้นำประเด็นนี้ขึ้นพูดในที่ประชุม โดยระบุว่าลำปางมีความพร้อมเรื่องพื้นที่ เหมาะสมกว่าพื้นที่ดอยหล่อ หรือ แม่ออน เชียงใหม่ ซึ่งเคยกันพื้นที่นี้ไว้ใช้สำหรับสนามบินแห่งใหม่มานานแล้ว แต่ยังไม่มีการผลักดันต่อเนื่อง ขณะที่ที่ประชุมได้ถามถึงการแต่งตั้งคณะทำงานในระดับจังหวัดนั้น ขณะนี้ลำปางยังไม่ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงาน 

ขณะเดียวกัน มีหลายหน่วยงานสอบถามความชัดเจนเรื่องพื้นที่ว่าจะใช้จุดไหน เนื่องจากมีพื้นที่ป่าสงวนเมืองยาว มีการขอใช้พื้นที่ประมาณ 1,900 ไร่ เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกทางยุทธวิธี นันทนาการและสนามกีฬาของตำรวจภูธรภาค 5 อาจจะทับซ้อนกันหรือไม่ ในประเด็นนี้ยังต้องรอตรวจสอบพื้นที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง หากจะมีการผลักดันใดๆที่เกี่ยวข้องจะต้องผ่านคณะทำงานเพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีศูนย์กลางข้อมูลกรณีที่มีหน่วยงานต่างๆอยากทราบความคืบหน้าหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจาก หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ท้วงติงเรื่องของข้อสรุปพื้นที่ว่าจะสร้างที่ลำปางหรือไม่ ต้องดูผลการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่มาเทียบข้อมูลกันเพื่อให้ได้พื้นที่ที่เหมาะสมมีความเป็นไปได้มากที่สุด  ในเรื่องนี้ นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชารจังหวัดลำปางกล่าวในที่ประชุมว่า เรื่องนี้ยังไม่เห็นแผนระยะยาว แต่จะสร้างที่ไหนอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กัน กระทรวงคมนาคมจะพิจารณา ในเบื้องต้นจะต้องมีการหารือในคณะกรรมการ ในระดับภาคต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวปรากฎเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนโดย นายสำเริง ไชยเสน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่าในส่วนของจังหวัดลำปาง ได้เสนอพื้นที่อำเภอห้างฉัตรโซนที่เป็นที่ดิน ส.ป.ก.รวม 3,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดที่มีอยู่มากกว่าหมื่นไร่ เป็นพื้นที่ในการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติพระนางจามเทวี เพื่อเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ ซึ่งศักยภาพของจังหวัดลำปางเป็นพื้นที่โลจิสติกส์ฮับทางบกของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เบื้องต้นมีการวางรูปแบบโครงข่ายเชื่อมโยงจากสนามบินนานาชาติพระนางจามเทวีไปยังจังหวัดใกล้เคียง การวางเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์ถึงจังหวัดเชียงใหม่ การวางโครงข่ายเชื่อมโยงมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย และเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟรางคู่

สำหรับพื้นที่เขตอำเภอห้างฉัตรดังกล่าว เป็นพื้นที่โซนที่ติดกับ บนทางหลวงหลายเลข 11 ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 30 กิโลเมตรทางตะวันตก และห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 70 กิโลเมตร ที่จะก่อสร้างรันเวย์ความยาว 3,700-4,000 เมตร กว้าง 50-60 เมตร มีการก่อสร้างเทอร์มินอล สามารถรองรับเครื่องบิน A380 ได้ ประมาณการก่อสร้างประมาณ 2.5-3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายเรืองยุทธ นิตยานนท์ผู้อำนวยการท่าอากาศยานลำปางเผยว่าเรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือและลงรายละเอียดในโครงการศึกษาและออกแบบ ส่วนจะนำไปสู่การก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่หรือไม่อย่างไรต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ การออกแบบโครงสร้างรูปแบบของสนามบิน จนถึงเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน รวมแล้วอาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี จึงจะเห็นเป็นรูปธรรม

“ในความเห็นส่วนตัวผมมองว่า หากเกิดสนามบินนานาชาติเกิดขึ้นที่ลำปางในอนาคตถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะลำปางเป็นจังหวัดมีศักยภาพในเรื่องของศูนย์กลางของภาคเหนือที่สามารถเชื่อมโยงทุกจังหวัดได้ง่ายและรวดเร็ว  ในส่วนของสนามบินเดิมที่ท่าอากาศยานลำปางขณะนี้ ก็จะเป็นสนามบินเล็กคล้ายกับดอนเมือง เพื่อรองรับการเดินทางของนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังรออนุมัติงบประมาณหลังจากมีการผลักดันให้ขยายรันเวย์ เพิ่มให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ในอนาคตมานานเช่นกัน”ผู้อำนวยการท่าอากาศยานลำปางกล่าว 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1069  วันที่ 4 - 10  มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์