
ไอติมบ้านดง แบรนด์ท้องถิ่นที่ใครๆก็รู้จักกันในลำปางมานานกว่า 30 ปี หากใครจะรู้ว่า กว่าจะเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็งในท้องตลาดทุกวันนี้ มีเรื่องราวมากมาย ในเส้นทางชีวิตต้องสู้
จากเด็กหนุ่มนครสวรรค์ มาทำงานในร้านขนมปังที่ลำปางเมื่ออายุได้เพียง 17 ปี ชีวิตผกผันด้วยตัวเอง จนสร้างธุรกิจเป็นผู้ผลิตไอติมชื่อดังในลำปาง นามไอติมบ้านดงหรือ ที่เรียกกันติดปากว่า "ไอติมบ้านดง"ถึงทุกวันนี้เส้นทางชีวิตจากลูกจ้างเป็นเจ้าของกิจการ ของ โกหมายหรือ สมหมาย พงษ์ไพบูลย์ช่างน่าสนใจ
โกหมาย เล่าถึงเส้นทางก่อนจะมาเป็นไอติมบ้านดง ว่า ในขณะที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่น หลังจากเรียนจบ มศ.7 เมื่อ 32 ปีก่อน (พ.ศ.2523) เขาเดินทางมาทำงานอยู่กับญาติที่ร้านจอห์นเบเกอรี่ ร้านขายส่งขนมปังชื่อดังของลำปาง และด้วยความขยันนอกเหนือจากงานในโรงงานผลิตขนมปังแล้วยังไปช่วยงานแผนกส่งขนมปัง จึงมีโอกาสรู้จักร้านค้าต่างๆ รวมถึงธุรกิจไอติมที่รับซื้อขนมปังแผ่นไปใส่ไอติมขาย ตามความนิยมของไอติมโคนหรือห่อขนมปัง กระทั่งพบรักกับ ภรรยาซึ่งทำงานในครอบครัวที่มีอาชีพทำไอติมเมื่อ แต่งงานมีลูกคนแรก ก็อยากหารายได้เพิ่ม จึงออกจากงานลูกจ้าง ใช้เงินเก็บลงทุนรับซื้อไอติม เร่ขายตามหมู่บ้าน กระทั่งหัดทำไอติมออกเร่ขายเอง ทำกำไรได้วันละวันละ 50 บาท ซึ่งมากกว่าเงินเดือนราว 700-800 บาท ในยุคนั้น
" หลังจากผมมีครอบครัวก็มาเช่าบ้านอยู่ที่บ้านดง อ.เมือง ลำปาง ขับรถเร่ขายไอติมไปทั่ว ลูกค้าก็มักจะถามอยู่บ้านไหน ผมก็ตอบว่า "บ้านดง" จนคนเรียกติดปากว่า ไอติมบ้านดง นั่นคือที่มาของชื่อ ไอติมบ้านดง และปรับเป็นชื่อภาษากลาง ในปัจจุบัน ว่า "ไอติมบ้านดง"

ในเรื่องของการผลิต ให้ความสำคัญเรื่องของกรรมวิธี เพราะการทำไอติมหัวใจสำคัญอยู่ที่กรรมวิธี ไม่ใช่ส่วนผสม เพราะกรรมวิธีมีความยากและละเอียดอ่อน ต้องอาศัยประสบการณ์ ผมลงมือทำเอง แต่มีผู้ช่วยมาช่วยทำในขั้นตอนทั่วไป ตั้งแต่การคัดเลือก ปอกมะพร้าว ทำกะทิสด ที่เป็นส่วนผสมตั้งต้นนั้นต้องสด สะอาดมะพร้าวต้องปอกใหม่ทุกวัน กรรมวิธีการผสม อุณหภูมิ ระยะเวลาการปั่น ผมมีประสบการณ์จากการปั่นด้วยเครื่องแบบมือหมุน จนมาเป็นเครื่องปั่นแบบมอเตอร์ คุณภาพไม่เคยเปลี่ยนไปในทางแย่ลง
ในด้านการตลาดนั้นไอติมบ้านดงมีการพัฒนาสูตรให้มีรสชาติหลากหลาย โดยมีไอติมรสดั้งเดิมคือ กะทิ และรสยอดนิยมอื่นๆเช่น กาแฟ ช็อคโกแลตชิพ วนิลา สลิ่ม รสผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ขนุน มะม่วง เผือก ขายส่งแบบบรรจุลงถ้วยสำเร็จรูป ราคาขายปลีกในท้องตลาดถ้วยละ 10 บาท ส่วนราคาส่งยกถังสำหรับงานจัดเลี้ยงหรือร้านค้าที่ซื้อไปขายปลีก ราคาถังละ 800 บาท และราคา 1,000 บาท ตามรสชาติที่ต้องการความพิเศษที่ความแตกต่างออกไป

จุดสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการตลาดที่ไม่เหมือนใคร คือโกหมายเป็นบุคคลที่มีน้ำใจ มีส่วนร่วมและช่วยเหลือสังคมในท้องถิ่นของตัวเอง เคยอาสาตัวเองทำงานเป็นผู้ใหญ่บ้าน หลายปี และสมาชิกสภาเทศบาลนครลำปางจึงเป็นที่รู้จักและรักนับถือกว้างขวาง เหมือนเป็นมิตรภาพนำทางธุรกิจแบบธรรมชาติ คนรู้จักมักคุ้นมักสั่งซื้อไอติมไปในงานจัดเลี้ยงกลายเป็นฐานลูกค้าที่มั่นคง ส่วนอนาคตธุรกิจไอติมบ้านดงขณะนี้เริ่มถ่ายทอดส่งต่อให้ลูกๆเข้ามาช่วยงานและสานต่อ แต่สิ่งที่ต้องคงไว้คือ คุณภาพและรสชาติที่เข้มข้นหวานมันสไตล์ของไอติมบ้านดงนั่นเอง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1071 วันที่ 18 - 24 มีนาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น