วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

วิกฤตแล้งไม่กระทบน้ำพอผลิตไฟฟ้า

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ผอ.โครงการฯยันน้ำสองเขื่อนพอรับหน้าแล้ง ด้าน กฟผ.มีผลิตไฟฟ้าได้ถึงเดือน ก.ค. ยังไม่กระทบ เผยหากต้องหยุดการผลิตยังมีไฟฟ้าสำรองที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าหงสา

นายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา  เปิดเผยว่า ตอนนี้สถานการณ์น้ำยังปกติ ปริมาณน้ำยังทรงตัว  น้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคไม่มีปัญหา เกษตรกรให้ความร่วมมือดีในเรื่องการงดปลูกพืชฤดูแล้ง ทำให้ไม่มีปริมาณน้ำที่ต้องส่งใช้เพื่อการเกษตร และกันน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค  และรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 5 เดือนได้  

ปัจจุบันเขื่อนกิ่วลมมีน้ำอยู่ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร  คิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนกิ่วคอหมามี 24 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์  ทั้งสองเขื่อนรวมกันมีน้ำ 52 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้อยู่ 42 ล้านลูกบาศก์เมตร  คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งพอเพียงสำหรับการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งต่อไปอีก 5 เดือน สามารถใช้น้ำได้ตลอดไปจนถึงฤดูฝนช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม  จากนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็คงไม่มีปัญหา  คาดว่าฝนจะมาตามฤดูกาล ฉะนั้นในเรื่องการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุนที่มีสำหรับเขื่อนกิ่วลม-กิ่วคอหมา ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากเกษตรกรให้ความร่วมมืออย่างดี  แต่ทั้งนี้ได้รณรงค์ให้ประหยัดการใช้น้ำ และส่งน้ำโดยประหยัด เพราะต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้ในช่วงปลูกข้าวนาปีให้ได้มากที่สุด เพราะเกษตรกรไม่ได้เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 1 ฤดู  แต่ขอว่าจะต้องปลูกข้าวนาปี  ซึ่งช่วงต้นฤดูเตรียมแปลงจะต้องใช้น้ำมาก โดยต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนไปช่วย จึงต้องประหยัดน้ำส่วนที่เหลือให้เกษตรกรเตรียมแปลงช่วงนาปี ไม่ให้เกิดผลกระทบเหมือนช่วงต้นฤดูฝนปีที่แล้ว

นายฤทัย กล่าวต่อไปว่า  ปีนี้ก็จะต้องดูปริมาณน้ำช่วงต้นฤดูฝนอีกครั้ง โดยกำหนดแผนส่งน้ำให้ข้าวนาปีวันที่ 25 มิถุนายน ก่อนวันที่  25 จะต้องดูปริมาณน้ำอีกครั้งว่ามีน้ำเข้าเขื่อนมากน้อยเพียงใด เพื่อกำหนดแผนการส่งน้ำให้เกษตรกร  ถ้ามีน้ำสำรองไว้เพียงพอก็จะทำนาได้ตามปกติ แต่ถ้าน้ำสำรองไว้ต่ำกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็อาจจะต้องกำหนดรอบเวรการส่งน้ำ โดยให้บางพื้นที่ชะลอการส่งน้ำไปก่อน ส่วนน้ำใช้เพื่อการประปา  ได้ทำแผนการส่งน้ำให้ประปามาตั้งแต่ 1 ธันวาคม 58 ถึง 30 เมษายน 59  ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริโภคน้ำประปาไม่มีปัญหา สามารถกันน้ำให้ประปาไปได้ถึงเดือนกรกฎาคม จนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน    สำหรับการท่องเที่ยวไม่มีปัญหา ทางการล่องเรือแพยังล่องได้ตามปกติ เพราะรักษาระดับน้ำไว้ที่สันเขื่อน

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของ กฟผ.แม่เมาะ  พร้อมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาวะภัยแล้ง  โดยนายชัยพร ไพฑูรย์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เปิดเผยว่า  ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 2 มี.ค.59 อ่างแม่จางเหลืออยู่ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร  ส่วนอ่างแม่ขามมีอยู่ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร รวม 24 ล้านลูกบาศก์เมตร  กฟผ.แม่เมาะ ใช้น้ำเดือนละ 4 ล้านลูกบาศก์เมตรในการผลิตไฟฟ้า จึงสามารถใช้น้ำไปได้อีก 6 เดือน เป้าหมายคือใช้ไปจนถึง 31 ก.ค.59   กรณีหากจะต้องหยุดการเดินเครื่อง เรายังมีแหล่งไฟฟ้าจากหงสา ประเทศลาว ที่ส่งมาให้ใช้ในประเทศไทยได้

นอกจากนั้น กฟผ.ยังมีอ่างเก็บน้ำที่ส่งน้ำให้กับชุมชนหลายแห่งด้วยกัน ประกอบด้วย ฝายท่าสี บริหารงานโดยชุมชน มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ แสนลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง คงเหลือน้ำ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งให้ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ   อ่างเก็บน้ำห้วยคิงตอนบน คงเหลือน้ำ 4 แสนลูกบาศก์เมตร ส่งให้การประปา ต.แม่เมาะ และ อ.แม่เมาะ 6 หมู่บ้าน  อ่างห้วยคิงตอนล่าง คงเหลือน้ำ 3 แสนลูกบาศก์เมตร ส่งให้ประปา บ้านปงชัย ต.แม่เมาะ และประปาบ้านพัก  ซึ่งยังคงมีน้ำเพียงพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค แต่ยังคงไม่สามารถใช้ในการเกษตรที่ใช้น้ำเยอะได้

ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่จาง ได้ส่งให้ลำน้ำจางไปยัง อ.แม่ทะ และ อ.เกาะคา  และส่งให้ทาง ต.นาสัก ต.สบป้าด  และ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ   และอ่างเก็บน้ำแม่ขาม ส่งสนับสนุนให้อ่างห้วยคิงตอนล่าง เพื่อใช้ในการกระปาด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1069  วันที่ 4 - 10  มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์