
ปรับผังเมืองลำปางใหม่ รับขยายการคมนาคมขนส่ง หัวหน้าโครงการระบุ อาจมีการปรับเปลี่ยนโซนสีตามการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้เหมาะสม ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและความต้องการของประชาชน
กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็น การวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดลำปาง ครั้งที่ 1 ขึ้น เมื่อวันที่ 4 เม.ย.59 ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ฯลฯ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปประกอบการวางและจัดทำผังให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่
ปัจจุบัน จ.ลำปาง ใช้ผังเมืองรวมจังหวัดลำปาง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนที่ 80 ก วันที่ 12 ก.ย. 56 ซึ่งเป็นผังเมืองที่ใช้มาแล้วกว่า 3 ปี ตามกฎหมายระบุว่าการปรับผังเมืองจะต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี เพื่อให้ใช้พื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่จะมีความเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา
รศ.ดร.สุวัฒนา ธาดานิติ หัวหน้าโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า งานผังเมืองเป็นงานที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพื้นที่ ซึ่งพื้นที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ใช้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงต้องมีการทบทวนการใช้พื้นที่ใหม่ ซึ่งการปรับผังเมืองนั้น ไม่ได้มีการสร้างขึ้นใหม่ แต่เป็นการเสริมจากผังเมืองเดิม สิ่งที่ดีก็จะสนับสนุน หรืออะไรที่ควรปรับก็ต้องทำ ให้เกิดความสมดุล
เดิมผังเมืองรวมมีผลบังคับใช้ในพื้นที่ จ.ลำปาง มีมาตั้งแต่ปี 56 ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุก 5 ปี โดยศึกษาพัฒนาการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 56 จนถึงปัจจุบัน ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 420 วัน ตอนนี้ดำเนินการมาได้เพียง 60 วันเท่านั้น
รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวว่า จ.ลำปางมีการพัฒนาอย่างมากในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบคมนาคมขนส่ง มีหลายโครงการใหญ่เข้ามาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองลำปาง โครงการไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โครงการรถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ลำปาง- เด่นชัย ซึ่งล้วนแต่เป็นการรองรับด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัด ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องมีการปรับผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง
ขณะนี้ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นของขั้นตอน จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ กลุ่มการศึกษา ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ได้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เข้ามาช่วยในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามอำเภอต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เป็นการรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อจัดทำผังให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
เมื่อสอบถามว่า การปรับผังเมืองจะทำให้การแบ่งโซนสีที่ดินเปลี่ยนไปหรือไม่ รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวว่า การกำหนดผังเมืองจะมีกำหนดการพื้นที่ หรือ แลนด์ยูส (Land Use) เพื่อแสดงการใช้ที่ดิน โดยแล่งเป็นโซนสี เมื่อประกาศใช้ผังใหม่อาจจะมีการเพิ่มหรือการลดพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ธรรมชาติ แต่อาจจะมีคนเข้าไปสร้างที่อยู่อาศัย ทำให้วัตถุประสงค์การใช้พื้นที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการกำหนดพื้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเราจะกำหนดประเภทไว้กว้างๆก่อน และจะมีการถามความเห็น จากประชาชนอีกครั้ง ประชาชนสามารถยื่นคัดค้านได้หากเห็นว่าไม่เหมาะสม เมื่อผ่านความเห็นประชาชนแล้ว ขั้นตอนการอนุมัติจะเป็นท้องถิ่นในพื้นที่ต่อไป โดยพื้นที่แต่ละโซนสีจะมีประกาศแนบท้าย ว่าสามารถทำอะไรในพื้นที่ได้บ้าง
เมื่อถามต่อว่าการปรับผังเมืองเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการเข้ามาของนายทุนหรือไม่นั้น หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ทุกอย่างย่อมปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ตามหลักการทั่วไปจะต้องดูว่าประชาชนต้องการอะไร ขณะเดียวกันโครงการขนาดใหญ่ต่างๆที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เช่น โรงไฟฟ้าขยะ ต้องมาดูว่าจำเป็นไหมที่จะต้องมีโรงไฟฟ้ามาตั้งในพื้นที่ และต้องมองในภาพกว้างด้วยว่าพื้นที่แห่งนั้นเหมาะที่จะรักษาไว้หรือไม่ ที่สำคัญคือต้องเลือกสถานที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น