
จำนวนผู้เข้าชม
น อกจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ตอบรับข้อเรียกร้องของวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในวันสันติภาพสื่อโลก ในการยกเลิกประกาศ คสช.บางฉบับที่มีเนื้อหาลิดรอนเสรีภาพสื่อแล้ว ท่าทีของเขากลับหนักแน่นมากขึ้น ในการใช้กฎหมายมาจัดการสื่อ
ในกระแสเรียกร้องเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ กลับมีเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในการจัดการสื่อที่ละเมิดจริยธรรมอย่างเด็ดขาดด้วยอำนาจกฏหมาย เพราะในขณะที่สื่อยืนยันว่าหนทางดีที่สุดคือการใช้มาตรการทางสังคม โดยไม่ต้องมีกฎหมาย แต่สื่อก็ละเมิดจริยธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่ได้มีคำตอบว่าหนทางออกในเรื่องนี้คืออะไร
แม้กระทั่งกรณีพิธีกรชื่อดัง ที่ประกาศยุติบทบาทอย่างสิ้นเชิง ในรายการเล่าข่าวที่มีผู้คนติดตามทั่วบ้านทั่วเมือง จนคนสำคัญผิดว่าเพราะแรงกดดันจากสังคม แต่แท้ที่จริง คือคำสั่งของ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ในฐานะคู่สัญญาผู้ให้สัมปทาน
สถานการณ์เช่นนี้ จึงเรียกว่า ‘หลังพิงฝา’
ในฐานะที่ ‘จอกอ’ มีบทบาทส่วนหนึ่งในการพิจารณากฎหมายกำกับสื่อ เราคงต้องยอมรับว่า ถึงนาทีนี้คงปฏิเสธกฎหมายไม่ได้แล้ว เพียงแต่จะออกแบบกฏหมายอย่างไรที่จะป้องกันการแทรกแซงจากรัฐ ในขณะเดียวกันก็ต้องให้กลไกขององค์กรวิชาชีพสื่อทำงานได้อย่างจริงจัง
จอกอผ่านร้อนหนาวในอาชีพสื่อมา 40 ปี เราปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องมีมาตรการเสริมที่เข้มข้นในการกำกับสื่อไม่ได้อีกแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ หรือ Media Landscape ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ความรู้ใหม่ทางด้านการสื่อสารที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ผู้บริโภคข่าวสาร ก้าวตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในแง่ของการบริหารจัดการ สื่อได้พัฒนาการจากกิจการขนาดเล็กไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ที่มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงาน จาก Single Newsroom มาสู่ Convergence Newsroom เพื่อตอบสนองการส่งข่าวสาร ข้อมูล หลายแพลตฟอร์ม
ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพ เปลี่ยนสถานะจาก ‘นักข่าว’ เป็นเพียง ‘คนงาน’ ในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว กองบรรณาธิการซึ่งควรมีความเป็นอิสระ ก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนธุรกิจ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ และธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อการทำงานตามหลักการและจริยธรรมวิชาชีพของสื่อสารมวลชน
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัล ไม่เพียงเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องทำงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งในหลายครั้งมีส่วนสำคัญในการละเมิดจริยธรรมเท่านั้น หากแต่เทคโนโลยีการสื่อสาร ยังกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งถูกเหมารวมกับสื่อวิชาชีพใช้เป็นสื่อที่สร้างความแตกแยก ร้าวฉาน ให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยอีกด้วย สื่อเหล่านี้ได้ใช้เสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญถ่ายทอดวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech อันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุด
เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2553 และช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 – พฤษภาคม 2557 ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกร้าวลึกของสังคมไทย ซึ่งสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง และเร่งเร้าให้ใช้ความรุนแรง ทั้งที่เป็นสื่ออาชีพ สื่อของกลุ่มการเมือง และประชาชนทั่วไปที่ใช้สื่อออนไลน์ นอกจากนั้นสื่อของรัฐ ยังตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการโฆษณาชวนเชื่อ และเลือกนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลด้วย
สภาพปัญหาทั้งหมดนี้ หากองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่กำกับ ดูแลกันเองด้านจริยธรรม และส่งเสริมมาตรฐานการทำงานตามวิชาชีพภายใต้กรอบจริยธรรม มีความเข้มแข็ง มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา ก็จะเป็นหลักประกันการทำงานของสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพล้วนมีฐานะเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งมีบทบาทน้อยมากหรือแทบไม่มีบทบาทเลยในการกำกับดูแลกันเอง
ดังนั้น การสร้างกลไกที่มีสภาพบังคับ หรือการมีกฏหมายเข้ามากำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งจึงอาจมีความจำเป็น มากกว่าที่จะรอให้เกิดความตื่นตัวของสังคมโดยรวมที่จะใช้มาตรการทางสังคมมาจัดการสื่อที่ละเมิด
เราจัดฟังความเห็นครั้งแรกที่พิษณุโลก วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม สื่อในส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ กลุ่มผู้บริโภคในท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรใหญ่ของสื่อจะเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบกฏหมายสื่อเช่นว่านี้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1078 วันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น