
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การลงทุนทำสื่อต้องใช้เงินทุนมหาศาล ต้องใช้ระบบเส้นสาย ต้องพึ่งพิงโฆษณา ภาพของการทำงานเชิงอุดมการณ์ก็เปลี่ยนไป ในฐานะที่ “จอกอ” เป็นคนข่าวร่วมสมัย คือร่วมสมัยตั้งแต่เงินเดือนไม่ถึงพันบาท ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด
จนมาร่วมสมัยกับคนข่าวยุคที่หายใจเป็นเงินทอง ทำงานมีวันหยุด มีสวัสดิการ มีเงินเดือนหลายแสน ก็ต้องบอกกันชัดเจนว่า คนข่าวพันธุ์แท้ที่คิดถึงความรับผิดชอบ มากกว่าความอยู่รอดนั้นน้อยลงเต็มที
คล้ายเป็นมายาคติที่คนข่าวมีชื่อบางคน ยังคงห่อหุ้มตัวเองไว้ด้วยเปลือกหลักการ พยายามแสดงราคาความเฉลียวฉลาด คุยโตถึงความเป็น “ตัวจริง” ทั้งที่ตกเวทีไปนาน ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจเป็นปรากฏการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในยุคที่ฟาดฟันกันด้วยเงินมหาศาล เพื่อซื้อคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล
แน่นอนว่า โอกาสที่หนังสือพิมพ์จะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งนั้นยากเต็มที และคงจะคาดหวังในยุคที่สื่อกระจายเสียงและภาพเข้ามาในสังคมไทย แต่สื่อกระดาษก็ยังอยู่ได้ ภาพเช่นนั้นเปลี่ยนไปแล้ว เพราะสื่อยุคนี้มีลักษณะเป็นพลวัตตลอดเวลา คือมีการเข้าถึงสื่อในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น มีเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆไหลเทเข้ามาตลอดเวลา
แต่ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าทีวีดิจิตอลจะอยู่รอด ด้วยเนื้อหา ด้วยรูปแบบที่ไม่ได้ฉีกไปจากฟรีทีวีเดิม ทีวีดิจิตอลจึงอยู่ในห้วงเวลา เรียงช่องรอวันตาย หลังจากไทยทีวีกลายเป็นศพแรก และรออีกอย่างน้อย 6 – 7 ช่องที่จะตามไป
ปัญหาร่วมกันของธุรกิจสื่อ ไม่เพียงฐานะการดำเนินงานที่สั่นคลอน และไม่อาจยืนระยะได้ โดยเฉพาะช่องข่าวที่เสนอเนื้อหาซ้ำๆ ประเด็นซ้ำๆและพยายามที่จะสร้างดารา ให้มามีบทบาทบนพื้นที่ข่าว เพราะจุดขายคือคน ไม่ใช่เนื้อหาอีกต่อไป
ยังคงมีประเด็นความน่าเชื่อถือ ซึ่งยังเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานสื่อ ความเชื่อถือที่ถดถอยของผู้คนยามที่สื่อเอ่ยคำที่เกี่ยวข้องกับหลักการ เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน เสรีภาพต้องอยู่บนความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องขำๆของคนอื่น และอาจถูกดูแคลนได้ว่า เป็นเรื่องของพวกเธอ ไม่เกี่ยวกับฉัน
ขยับให้เข้าใกล้ประเด็นอีกนิด ก็คือเป็นเรื่องของนายทุนสื่อที่จะกำกับ เส้นทางให้เดินไป ให้หาเงินหาทองให้ได้มากๆ เรื่องอื่นเก็บไว้ก่อน
เมื่อมีส่วนร่วมในการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของ'เสรีภาพ' ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
รุ่นพี่ท่านหนึ่ง ที่ได้เคยร่วมงานกันมาในกองบรรณาธิการเกือบ ๔๐ ปี ชวนให้คิดว่า เราจะพูดเรื่องเสรีภาพไปเพื่อประโยชน์อันใด ภายใต้ภาพผลประโยชน์ทับซ้อนของนายทุนสื่อ ที่เป็นตัวการสำคัญในการลิดรอนเสรีภาพ และกดขี่ข่มเหงกันเอง ในเวลาเดียวกันกับที่ประกาศ ทำงานด้วยหลักการและประณามหยามเหยียดความไม่เป็นธรรมทุกชนิดในโลกนี้
จอกอเห็นด้วยบางส่วน แต่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะเพิกเฉยกับสิ่งที่เรียกว่า 'เสรีภาพ' เพราะเสรีภาพคือหัวใจในการทำงานของสื่อมวลชน ถึงแม้ว่าในบรรดาคนที่เห็นหน้า เห็นตา คนที่ร้องตะโกนหาเสรีภาพวันนี้ จะมีเพียงคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าวเท่านั้นก็ตาม
จอกอสนับสนุนการต่อสู้กับนายทุนสื่อ โดยเฉพาะนายทุนที่แอบแฝงมาในคราบของสื่อมวลชน ซึ่งเลวร้ายเสียยิ่งกว่านายทุนที่ประกาศชัดเจนว่าเป็นนายทุน
บันทึกคดีของจอกอ ในสมุดนัดความ ครั้งเป็นทนาย เมื่อราว ๓๐ ปีก่อนแสดงคดีสำคัญ ของศาลแรงงานกลางอย่างน้อย ๓ สำนวน คือคดีหมายเลขแดงที่ ๖๓๐ - ๖๓๒/๒๕๒๙ , ๓๘๗๑/๒๕๒๙ และที่ ๔๐๓๓ - ๔๐๓๕/๒๕๒๙ ทั้ง ๓ คดี เป็นการฟ้อง หนังสือพิมพ์ข่าวสด และสื่อใหญ่ 'พญาไม้' ฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ผลชนะทุกคดี
อาจมีการต่อสู้ที่ชัดเจน เปิดเผย ตรงไปตรงมาเช่นนี้ ที่จะดับอหังการ์สื่อใหญ่ได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1077 วันที่ 6 - 12 พฤษภาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น