
เครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ
ร่วมผลักดันป่าดอยพระบาท 99,000 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ เริ่มลงพื้นที่นำเสนอข้อมูลต่อ
อปท.และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่ตั้งอยู่โดยรอบดอยพระบาท หวังแก้ปัญหาทุกด้าน น้ำแล้ง
ตัดไม้ ไฟป่า
หมอกควัน
เครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ
จ.ลำปาง ซึ่งประกอบด้วย 6 ฝ่าย คือ เกษตรกร ราชการ
เอกชน อปท. กำนันผู้ใหญ่บ้าน และสื่อมวลชน นำโดยนายสำคัญ วรรณบวร
ผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ
ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ
บริเวณดอยพระบาทซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 99,000 ไร่
เขตติดต่อ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.แม่เมาะ และ อ.แม่ทะ ทั้งนี้
เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น
ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า
ปัญหาหมอกควันไฟป่า
ปัญหาน้ำแล้ง
ซึ่งการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จะทำให้เกิดการควบคุมดูแลป่าได้อย่างเป็นระบบ
และทั่วถึงมากขึ้น โดยต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน จ.ลำปาง ในการขับเคลื่อน
นายสำคัญ
วรรณบวร ผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ในปีนี้ได้ประสบปัญหาภัยแล้ง
น้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ทำการเกษตร ซึ่งแหล่งน้ำที่เข้าสู่ อ.แม่ทะ มีอยู่ 2
เส้นทางคือ น้ำจากเขื่อนกิ่วลม กิ่วคอหมา ส่งมาตามคลองส่งน้ำ ต.กล้วยแพะ
ลงอ่างเก็บน้ำแม่ทะ หรืออ่างเก็บน้ำวังเฮือ
อีกเส้นทางหนึ่งคือจากเขื่อนแม่จางของ กฟผ.แม่เมาะ ทั้งสองแหล่งก็ไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำมาให้ในพื้นที่ ดังนั้น ช่วงปลายปี 2558 ทางตัวแทนเกษตรกร
ร่วมกับชาวบ้าน อ.แม่ทะ จึงได้ร่วมกันทำการศึกษาเส้นทางน้ำที่เข้าสู่ อ.แม่ทะ
โดยการนำคนเดินเท้าสำรวจบนดอยพระบาท จากการสำรวจดังกล่าวได้สรุปวิธีการแก้ไขปัญหาออกมาได้
3 วิธี คือ 1.ต้องใช้คนขึ้นไปฟื้นฟูป่า 2.ตั้งเป็นวนอุทยาน 3.ตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้มีการร่วมประชุมกับกำนัน
ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต่างให้ความเห็นว่า การนำคนขึ้นไปฟื้นฟูนั้น ทำได้ยาก
เพราะพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องน้ำคือ อ.แม่ทะ
แต่จะให้คนจากพื้นที่อำเภออื่นๆเข้าไปร่วมฟื้นฟูด้วยคงไม่สำเร็จ
ต่อมาได้มีโอกาสปรึกษาพูดคุยกับ น.ส.ดวงพร เกียรติดำรง หัวหน้าสวนรุกชาติดอยพระบาท
และได้ข้อแนะนำหลายอย่างจาก นายบริบูรณ์ บุญยู่ฮง สมาชิกสภาเทศบาลนครลำปาง
ซึ่งเห็นด้วยที่จะผลักดันให้ป่าดอยพระบาทเป็นอุทยานแห่งชาติ พร้อมกับเชิญชวนคนลำปางให้เห็นความสำคัญกับป่าดอยพระบาทแห่งนี้
และร่วมกันผลักดันให้เกิดอุทยานแห่งชาติขึ้นให้ได้
นายสำคัญ
กล่าวต่อไปว่า ตนเองได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับนายสามารถ
ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ซึ่งได้ให้การบ้านว่า
จะต้องประสานงานกับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับเขตดอยพระบาท โดยจะคาบเกี่ยว 3
อำเภอ คือ อ.เมือง อ.แม่เมาะ และ อ.แม่ทะ ในส่วนของ อ.แม่ทะได้เริ่มต้นมานานแล้ว เพราะต้องการที่จะให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
จึงต้องลงพื้นที่พูดคุยผู้นำท้องถิ่นของ อ.เมือง ใน 4 ตำบล
คือ ต.กล้วยแพะ ต.พระบาท ต.พิชัย และ ต.บ้านเสด็จ
และ อ.แม่เมาะ 2 ตำบล คือ ต.บ้านดง และ
ต.แม่เมาะ ในเรื่องนี้คงจะต้องประสานงานผ่านทางนายกเทศบาลฯ
อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ระหว่างการหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร พร้อมกันนี้จะได้มีหนังสือเชิญชวนชาวลำปางให้มีส่วนร่วมในการผลักดันในเรื่องนี้ด้วย
ด้านน.ส.ดวงพร
เกียรติดำรง
นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ
หัวหน้าสวนรุกขชาติดอยพระบาท
กล่าวว่า ผืนป่าดอยพระบาทมีเนื้อที่ประมาณ
99,000 ไร่ หรือ 144 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ
คือ อ.เมือง อ.แม่เมาะ และ อ.แม่ทะ ตามหลักสากลแล้วการจะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติจะต้องมีเนื้อที่ไม่ตำกว่า
10 ตารางกิโลเมตร หลักเกณฑ์คือ นำเสนอความโดดเด่นในพื้นที่
เช่น น้ำตก หน้าผา น้ำพุ ภูเขาไฟ
เป็นต้น
ซึ่งเรื่องการผลักดันให้ดอยพระบาทเป็นอุทยานแห่งชาตินั้นได้เริ่มมาแล้วครั้งหนึ่ง
เมื่อปี 2536 สมัยผู้ว่าฯ สหัส พินธุเสนีย์ แต่ไม่มีการออกมาผลักดันอย่างจริงจังเรื่องจึงตกไป
และได้มาเริ่มเดินหน้ากันอีกครั้งในปี 2559
สำหรับความโดดเด่นของดอยพระบาท
จากข้อมูลที่ศึกษาในเบื้องต้นพบว่าในพื้นที่ของ อ.เมือง มีภูเขาไฟ
หรือที่เรียกว่าดอยผาคอกหินฟู และมีน้ำตกเล็กๆอีกหลายแห่ง นอกจากนั้นยังมีดอยฝรั่ง
ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ
น.ส.ดวงพร
กล่าวอีกว่า ขั้นการขอจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ มีอยู่ 14 ขั้นตอน
ซึ่งขั้นตอนคร่าวๆ จะต้องมีการเสนอความต้องการไปยังสำนักงานป่าไม้ในจังหวัด เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้ารวบรวมข้อมูลส่งไปยังกรมป่าไม้
และจะต้องประชุมชุมชนที่อยู่รอบข้างว่าเห็นชอบหรือไม่
หากยินยอมต้องส่งเรื่องต่อไปยังกรมอุทยานเพื่อรวบรวมรายงานทั้งหมด
นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติ
จากนั้นก็จะส่งต่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ซึ่งการดำเนินการจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมีการร้องคัดค้านหรือไม่
เช่น กรณีของถ้ำผาไท
ได้ดำเนินการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2530 แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ
เนื่องจากติดปัญหาการร้องเรียนเรื่องที่ดินทำกิน
แต่ทางรัฐบาลชุดนี้ได้พยายามเร่งแก้ปัญหาและคาดว่าจะให้ประกาศใช้ได้ในรัฐบาลชุดนี้
ข้อดีของการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
คือ สามารถใช้กฎหมายเข้าไปบังคับได้ชัดเจน และจะมีงบประมาณลงมาได้พื้นที่โดยตรง
มีการตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าในแต่ละจุด ซึ่งจะดูแลป่าได้อย่างทั่วถึง
ช่วยให้ลดปัญหาการเกิดไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่าลงได้
ด้านนายสามารถ
ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า
เห็นด้วยกับแนวความคิดกับการที่จะผลักดันดอยพระบาท
ม่อนพระยาแช่ และบริเวณป่าโซนค่ายประตูผาทำเป็นอุทยานแห่งชาติ
ถือว่าผืนป่าดอยพระบาทและม่อนพระยาแช่
เป็นปอดของคนลำปาง ถ้าสามารถทำผืนป่าแห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติได้
กระบวนการอนุรักษ์ฟื้นฟู
และป้องกันการบุกรุกจะทำได้ดีกว่าการปล่อยให้เป็นป่าสงวนหรือวนอุทยาน ถึงแม้จะไม่ทันในวาระของตนเอง
ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1083 วันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น