เย่หยงเทียน มีชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด จนได้ร่วมมือกับ หม่าจื่อเฉียง และสี่เหวินเปียว ก่อตั้งบริษัทลิเทียนขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเขา จนเริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้น ต่อมาสี่เหวินเปียว เกิดต้องการใช้เงินจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือน้องชาย จางจื่อลิ ที่กำลังเดือดร้อน ทำให้เขาต้องโกงบริษัท
จากคนดีกลายเป็นเลว
จากเพื่อนกลายเป็นศัตรู พวกเขาจึงเริ่มขึ้นสู่วังวน แห่งการหักหลัง ความรัก
และการชิงไหวชิงพริบกันในวงการธุรกิจ ที่ความสัมพันธ์ของเพื่อนทั้งสาม
ไม่อาจกลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
“เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด”
ซี่รีส์จีนชิงไหวชิงพริบ หักเหลี่ยมซ่อนเงื่อนเรื่องนี้ ดูสนุก ตื่นเต้นเร้าใจ
คล้ายเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ในบริษัทธุรกิจ หลายแห่ง
เนื่องเพราะผลประโยชน์ขัดกัน
จัดสรรอำนาจไม่ลงตัว หรือมีเงื่อนงำในการบริหาร
จนไม่สามารถร่วมเส้นทางกันต่อไปได้
ดูละครแล้วย้อนดูตัว
มีหลายเรื่องราวที่ชวนให้คิดว่าสิ่งที่เห็น ไม่ได้เป็นจริง
สิ่งที่ได้ยินอาจมีความจริงเพียงครึ่งเดียว
แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
ก็คือ ความเป็นบริษัทมหาชน ที่ต้องชัดเจน โปร่งใส ตรงไปตรงมา
เรื่องต่อไปนี้
อาจไกลการรับรู้ของคนลำปาง แต่หากกล่าวว่า
เป็นเรื่องของคนสองคนที่เป็นผู้ซื้อกิจการโยนก และเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเนชั่น
คงเป็นเรื่องที่น่าสนใจบ้าง
ธนาชัย
ธีรพัฒนวงศ์ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเนชั่น ลาออกจากเนชั่นด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ เมื่อ 5 มีนาคม 2555 ปรากฏตามมติรับทราบของคณะกรรมการบริหารบริษัท
หลังจากที่เขาทำงานในเนชั่นมานาน 36
ปี
“ผมเริ่มทำงานที่นี่เมื่อวันที่
15
กุมภาพันธ์ 2519 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป
มีเงินเดือน 6,000 บาท
ด้วยการชักชวนของเพื่อนสนิทที่คบกันมานาน คุณเชวง จริยะพิสุทธิ์
ซึ่งในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ส่วน ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร
ท่านเป็นกรรมการผู้จัดการ คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The
Nation Review หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่เราทำอยู่ขณะนั้น”
การเริ่มต้นก้าวแรกในธุรกิจสื่อของธนาชัย
มาพร้อมกับสถานการณ์ที่เรียกว่าวิกฤติที่สุดของเนชั่น
“..ตอนนั้นเรามีปัญหารุนแรงมากมาย
ทุกๆเรื่องเป็นปัญหาไปหมด ที่ร้ายแรงที่สุดคือปัญหาด้านการเงิน คือไม่มีเงิน
มีแต่หนี้ และมองไม่เห็นเลยว่าจะนำพาบริษัทของเราให้รอดพ้นมรสุมได้อย่างไร
โจทย์ของเราตอนนั้นคือ แก้ปัญหาทุกๆปัญหาที่มีอยู่ขณะนั้น เพื่อประคองบริษัทให้รอดให้ได้”
แล้วธนาชัย
ก็สามารถฉุดดึงเนชั่นให้ขึ้นมาจากหล่มโคลนแห่งความยุ่งยาก
และหนี้สินมากมายได้สำเร็จ ความสามารถในเชิงบริหารการตลาดของเขา ที่นิธินันท์
ยอแสงรัตน์ แห่งมติชน เรียกว่า "ลุยโลด" "เข้มข้น"
บุคลิกสุภาพนุ่มนวลแต่ขาย "แรง" กัดไม่ปล่อยและสู้ยิบตา
บวกกับความสามารถอันโดดเด่นของสุทธิชัย
หยุ่น ในเชิงความเป็นนักสื่อสารมวลชน ทำให้เนชั่นในห้วงระยะเวลาที่ธนาชัย
ยังเป็นเบอร์ 1
ในเนชั่น ขยายกิจการออกไปกว้างขวาง มีหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย 3
ชื่อฉบับ นิตยสาร ทีวี วิทยุ และออนไลน์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจำนวนไม่น้อย
กลายเป็นเนชั่นที่แม้เรือธง เช่น หนังสือพิมพ์เนชั่น จะเอาชนะโพสต์ไม่ได้
แต่ความครบเครื่องในความเป็นสื่อ เนชั่นคล้ายอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า
การเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วของเนชั่นในยุคหนึ่ง
ต้องยอมรับความสามารถของผู้บริหารระดับสูงหลายคน โดยเฉพาะธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์
และสุทธิชัย หยุ่น ที่คนหนึ่งมีมุมมองด้านการตลาด
ในขณะที่อีกคนมีมุมมองด้านการสื่อสารมวลชน
นับเป็นปัจจัยภายในที่สำคัญในการขยายตัวของกลุ่มเนชั่น
เพราะการที่เนชั่น
มีธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ เป็นผู้รับผิดชอบด้านบริหารธุรกิจ ทำให้สุทธิชัย หยุ่น
ผู้บริหารอีกคนหนึ่ง
สามารถแสดงบทบาทหรือภาพลักษณ์ของนักสื่อสารมวลชนในเชิงอุดมคติได้เต็มที่เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
แต่วันหนึ่งชื่อธนาชัย
ธีรพัฒนวงศ์ ก็ถูกลบออกจากเนชั่น แต่ประวัติศาสตร์ของเขายังคงอยู่
ความสามารถในเชิงกู้วิกฤติธุรกิจสื่อนี่เอง อาจเป็นบทสรุปสำหรับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท
สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น
ในสถานการณ์ที่สปริงนิวส์วันนี้ก็ยังอยู่ในฐานะยากลำบากไม่ต่างจากเนชั่นในวันนั้นและวันนี้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1089 วันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น