ท่ามกลางความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติบวกกับวิถีอินทรีย์ เครื่องสำอาง และอาหารหลากหลายจากนมแพะ ตรา ‘บุญบูรณ์’ เริ่มเป็นที่รู้จักคุ้นตา พบเห็นร้านค้าเคลื่อนที่เล็กๆ ตามตลาดนัด หรืองานออกร้านในงานเทศกาลต่างๆในลำปาง ภายใต้คอนเซปต์ที่เขาบอกกับลูกค้าว่า สินค้าทุกอย่างแปรรูปมาจากแพะที่เลี้ยงตามวิถีธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีขนมทำเองสไตล์ โฮมเมด (HOME MADE) พืชผักปลูกโดยวิธีปลอดการใช้เคมี สร้างจุดเด่นและความต่างอย่างชัดเจน
แต่กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์นมแพะ มีรากเหง้าที่น่าสนใจยิ่งกว่า
เพราะแบรนด์ ‘บุญบูรณ์’
ตั้งขึ้นจากบทสรุปของทิศทางของชีวิตที่มุ่งไปสู่ "การมีชีวิตที่สมบูรณ์"
ตามหลัก ธรรมจักร4 ซึ่งหมายถึง การอยู่ในภูมิประเทศอันสมควร ได้แก่
ท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษเป็นให้คบหา นำไปสู่การบำเพ็ญตนในทางที่ชอบที่ดี ซึ่งจะได้รับความสุขอันเป็นผลของบุญที่ได้ทำไว้
บทสรุปนี้ ‘วัต’ ชญาน์วัต สว่างแจ้ง และ ‘ออย’ อิศรา อดุลยธรรม ใช้เป็นแนวทางหลังหันหลังให้กับชีวิตหนุ่มสาวมนุษย์เงินเดือนสายงานสถาปัตย์ มาเป็นเกษตรเต็มตัว
"ตั้งแต่เรียนจนกระทั่งจบแล้วทำงาน
วงจรชีวิตผมยุ่งอยู่กับงานเป็นส่วนใหญ่ มีเวลาน้อยมากให้กับคนในครอบครัว
หรือแม้แต่จะพักผ่อน มีปัญหาเรื่องเจ็บป่วย เครียด จึงเริ่มทบทวนและค้นหา
จุดที่จะใช้ชีวิตแบบมีความสุขกับเขาบ้าง
ก็เริ่มค้นหาทางออก ค้นหาตัวเองว่าถ้าไม่ทำงานที่เราเรียนจบมา จะทำอะไร
ในทางธรรมะผมค้นพบว่า ความเรียบง่ายคือหนทางแห่งความสุข
ผมชอบปลูกต้นไม้ นั่นคือจุดเริ่มต้น สู่คำว่า ทำเกษตร
แล้วตั้งธงว่าเราจะเป็นเกษตรกร จากนั้นก็เริ่มศึกษาไปฝึกบรมกับปราชญ์ที่เกี่ยวข้อง
แต่ผมไม่มีศักยภาพพอที่จะเป็นชาวไร่ จึงเรียนรู้คำว่า เกษตรพอเพียง
และรู้จักการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืน
ซึ่งมีหลักสำคัญว่าต้องค่อยๆทำ ทำทีละน้อย ครบวงจรในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณ
" วัตเล่าและว่าเขา และออย เริ่มจัดสรรเวลา ให้เดินทางเป้าหมาย วัต
ค่อยๆหยุดรับงานสถาปัตย์แบ่งเวลาไปเรียนรู้ทุกเวทีที่สอนการทำเกษตร
ขณะเดียวกันก็เก็บเงินบางส่วนซื้อที่ดินไว้ทำสวนเกษตรที่ จังหวัดชัยภูมิ
เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพ เดินทางช่วงวันหยุด เสาร์- อาทิตย์ ปลูกต้นไม้ พืชสวน
แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง และระบบขนส่งมวลชนและข้อจำกัดบางประการ
ทำให้ต้องมองหาทำเลใหม่ที่ตอบโจทย์เรื่องภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเกษตร
และความสะดวกด้านการเดินทาง ในที่สุดจึงเลือกซื้อที่ดินที่ลำปาง เป็นบ้านสวนพื้นที่
18 ไร่ เริ่มปลูกพืชผล และเลี้ยงแพะ ที่คนรู้จักให้มาทดลองเลี้ยง 3 ตัว
"ที่ดินที่เราซื้อ เป็นบ้านสวน
เราลองผิดลองถูกในการปลูกพืช หลายอย่าง
มีคนรู้จักแนะนำให้เอาแพะมาเลี้ยงเพราะแพะกินง่าย ดูแลง่าย พิจารณาดูแล้ว
เราไม่มีความรู้ด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์อาจเป็นเรื่องยาก
การเลี้ยงแพะจึงเป็นทางเลือกแรก ซึ่งปรากฏว่าแพะที่เราเลี้ยง มันผสมพันธุ์ ออกลูก
แถมมีนมแพะให้รีดเก็บได้ เราก็เลยคิดต่อว่า นมแพะเอาไปทำอะไรดี มีน้อยขายก็ไม่พอ
ออยเลยต้องศึกษา และไปหาเรียนรู้ อบรมการแปรรูปนมแพะ นั่นคือจุดเริ่มต้นจากแพะ 3
ตัว ขณะนี้มีมากกว่า 10 ตัวแล้ว "
วัตและออยบอกว่า จากการเรียนรู้การทำเกษตรยั่งยืน
คือการทำเกษตรแบบง่าย ได้ประโยชน์หลากหลาย ไม่ใช้สารเคมี
แต่ควบคุมด้วยวงจรธรรมชาติมาเกือบ 3 ปี เขาจึงมุ่งมั่นเดินทางตามแนวทางนี้อย่างจริงจัง เริ่มจากการเลี้ยงแพะแบบมีคอกยกพื้น
ให้อาหารจำพวกต้นกฐิน และพืชที่มีอยู่รอบบ้านสวนของเขา ใช้น้ำจุลินทรีย์ฉีดใต้คอก
เก็บเอามูลทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับต้นไม้และแปลงเกษตร ส่วนนมแพะนำมาแปรรูป เป็น
สบู่ก้อน สบู่เหลว โลชั่น โยเกิร์ต พุดดิ้งนมแพะ และอื่นๆ
ด้วยกรรมวิธีที่สะอาดปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย สิ่งที่ชัดเจนที่สุด
คือการสร้างมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณค่าเชิงคุณภาพ
ในเรื่องของการตลาด ผลิตภัณฑ์นมแพะ บุญบูรณ์
ปรากฏต่อสายตาผู้บริโภคตาม ตลาดนัดถนนคนเดิน และงานออกร้านเมือมีกิจกรรมส่งเสริมการตลาด
รวมถึงงานเทศกาลต่างๆในจังหวัดลำปาง ในรูปลักษณ์ ของสินค้าแฮนด์เมด แพคเกจ
(บรรจุภัณฑ์) ที่ออกแบบให้ดูเรียบง่าย สะอาดตา ราคาย่อมเยา ที่สำคัญเจ้าของทำเอง
ขายเอง
เป็นที่ถูกใจและถือเป็นสินค้าแปลกใหม่ในตลาดท้องถิ่นหากแต่ยังมีอุปอุปสรรคในเรื่องของพื้นที่การตลาดที่ยังพึ่งพาเอกสารรับรองมาตรฐานต่างๆ
"การทำตลาดแบบธรรมชาติ เราก็พบอุปสรรคมากมาย
ในเรื่องของการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมขาย ทั้งลูกค้า
หน่วยงานต่างๆที่จะเปิดโอกาสให้เรามีพื้นที่ขายก็ถามหาใบรับรองมาตรฐาน
ถ้าไม่มีก็ขายไม่ได้ บางโครงการที่ภาครัฐจัดเพื่อส่งเสริมการตลาดแก่ผู้ประกอบการ
หรือเกษตรกร เราก็ไม่มีสิทธิ์ร่วมงานนั้น มันเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เริ่มต้น
แต่เราก็ยังโชคดีที่มีลูกค้าซื้อไปใช้แล้วซื้อซ้ำ บอกต่อ
จากที่ไม่มีคนรู้จักตอนนี้เริ่มมีลูกค้าประจำ ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น"
นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ วัตและออย เตรียมที่ดินแปลงใหม่
กว่า10 ไร่ สำหรับขยายโรงเรือนเลี้ยงแพะ ปลูกหญ้าเนเปีย และหญ้าชนิดต่างๆ
รวมถึงข้าวโพดสำหรับเป็นอาหารให้แพะ ทำแปลงปลูกผักอินทรีย์ปลอดจากสารเคมีทุกชนิด
นอกจากนี้ยังมีอาคารสำหรับโรงงานผลิตขนาดเล็ก ตามมาตรฐานอาหาร
และผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1091 วันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น