ปฏิบัติการตาต่อตา ฟันต่อฟัน ของนายแพทย์เปรมศักดิ์ หรือ หมอเปรม เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่มีต่อสื่อ จนถึงนาทีนี้ นับว่าเกินเลยไปมาก เพียงความไม่เข้าใจ และการสื่อสารที่ต่างฝ่ายต่างยืนยันในจุดของตัวเอง กลายเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบวงกว้าง จนกระทั่งหมอเปรมใช้เป็นเหตุผลว่าต้องปฏิรูปสื่อกันทั้งระบบทีเดียว
ความจริง
หากหมอเปรมจะเยือกเย็น และนิ่งมากกว่านี้ เราก็จะได้เห็นภาพที่ชัด
และอาจแยกแยะได้ระหว่าง “สิทธิในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน” หรือ Right to know กับ “สิทธิส่วนตัว” หรือสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนบุคคล
หรือ Right to Privacy
ซึ่งในแง่หลักจริยธรรมสื่อ
และหลักกฎหมาย หมอเปรมย่อมอยู่ในฐานะที่จะสงวนสิทธิความเป็นส่วนตัวมากกว่า
แม้จะมีข้อพิจารณาเรื่อง “บุคคลสาธารณะ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม
แน่นอนว่า สิทธิในการรับรู้ เป็นเหตุผลสำคัญ
ที่สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่ และไม่มีใครที่จะมาลิดรอนเสรีภาพเช่นว่านั้นได้
แต่ข้อถกเถียงที่มีมาตลอดก็คือ
สิทธิในการรับรู้นี้จะรุกล้ำเข้าไปในความเป็นอยู่ส่วนบุคคลได้หรือไม่ เส้นแบ่งระหว่างสิทธิที่จะรับรู้และสิทธิส่วนบุคคลอยู่ตรงจุดไหนกันแน่
ในขณะที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับ
รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 นี้
มาตรา 32 เขียนไว้ชัดว่า
บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว
การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคล
หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้
ปฏิเสธไม่ได้แน่นอนว่า
ภาพหมอเปรมและหญิงสาวเยาว์วัย ผูกข้อไม้ข้อมือ
โดยมีสินสอดทองหมั้นวางตั้งอยู่ตรงหน้า เป็นทั้งสิทธิส่วนบุคคลของหมอเปรม
และเป็นเสรีภาพของสื่อที่จะแสวงหาคำยืนยันในเรื่องนี้
แม้จะพอคาดเดาเรื่องราวได้แล้วก็ตาม
ซึ่งก็นับเป็นหลักการทำงานที่ดี ที่จะต้องให้โอกาสผู้ที่ถูกพาดพิง
หรือเสียหาย ได้ชี้แจง
เนื่องเพราะหมอเปรม
เป็นคนประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “บุคคลสาธารณะ”
คำว่าบุคคลสาธารณะไม่มีเขียนไว้ในกฎหมาย แต่เป็นที่เข้าใจว่าคือ
บุคคลที่อยู่ในความสนใจของสังคมทั่วไป
เช่น นักการเมืองทั้งนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ดารา นักร้อง นักแสดง
คนประเภทนี้
อาจต้องยกเว้นบางเรื่องราวในชีวิตให้สื่อเขียนถึงได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้
เรียกว่าความคุ้มครองทางกฎหมายในความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าคนอื่นๆ แต่ความเป็นส่วนตัวนั้น ก็มิได้แปลว่า
สื่อสามารถก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตของเขาได้ทุกเรื่อง ทุกกรณี
ซึ่งหากเป็นเรื่องภายในครอบครัวของเขาโดยแท้
ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ศาลก็จะตัดสินลงโทษสื่อที่เสนอข่าวละเมิดบุคคลสาธารณะในเรื่องส่วนตัว
เช่น กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน
ที่ลงพิมพ์ข้อความว่า “นายชวนเอาลูกไม่เอาแม่” ในยุคที่นายชวน หลีกภัย
เป็นนายกรัฐมนตรี ในคดีที่นายชวนฟ้องมติชน
ฐานหมิ่นประมาท
ประเด็นเรื่องส่วนตัวของหมอเปรม
จึงเป็นเรื่องน่าคิด ถึงแม้ว่าจะมีคำถามว่า การผูกข้อมือ
คล้ายหมอเปรมทำการสมรสกับผู้เยาว์ อาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา
ก็เป็นความรับผิดของหมอเปรมกับผู้ที่อ้างว่าเสียหาย ไม่ใช่กับสื่อมวลชน
อีกทั้งหากสื่อนำเสนอข่าวเด็กผู้หญิงคนนี้ต่อไป ก็อาจจะมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็กซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาเช่นกัน
ในหลักการเดียวกัน
หากหมอเปรมฟ้องสื่อมวลชน ฐานหมิ่นประมาท ที่นำภาพส่วนตัวของเขามาเปิดเผยต่อสาธารณะ
ถึงแม้สื่อจะพิสูจน์ได้ว่า หมอเปรมทำการสมรสกับผู้เยาว์จริง
และมีความประสงค์จะอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาจริง สื่อมวลชนก็ยังต้องรับผิดอยู่
เพราะการพิสูจน์ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย
บทบาทของสื่อมวลชนในเรื่องนี้
คือความพยายามตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์
โดยการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใครเลย แต่เพราะหมอเปรมเล่นเกินบทมากจนเกินไป
พระเอกก็เลยกลายเป็นผู้ร้ายไปอย่างช่วยไม่ได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1090 วันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น