วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559

เอ็นสะท้าน เด็กสะเทือน !

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

องผิด ลองถูกไปเรื่อยๆ สำหรับระบบการศึกษา ภายใต้หน่วยงานรัฐ จากแอดมิชชั่น ก็กำลังกลับมาเป็นเอ็นทรานซ์ และไปสักพัก ก็อาจคิดได้ว่า เอ็นทรานซ์ก็ยังไม่ดีพอ จะต้องกลับไปแอดมิชชั่น เป็นวิธีบริหารแบบไทยๆ ที่ริมรั้วโรงเรียนล้อมไว้ด้วยโรงเรียนกวดวิชา
           
เมื่อพูดถึงระบบเข้ามหาวิทยาลัยระบบเอ็นทรานซ์ ที่กลุ่มคนอายุ 35 อัพมักจะเรียกเป็นเอ็นสะท้านกันทุกราย เพราะนึกถึงความเครียดในการสอบเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สนามสอบทั่วประเทศจะจัดสอบพร้อมๆกันหลังจากที่นักเรียนไปยื่นสมัครสอบเอ็นทรานซ์ที่เลือกคณะในดวงใจ
           
พอถึงช่วงประกาศผลสอบก็โทรศัพท์ไปลุ้นผลสอบซึ่งโทรติดยากมากถึงมากที่สุด คู่สายอัตโนมัติกี่คู่สายก็ไม่พอ ใครที่อยู่ใกล้จุดที่ประกาศรายชื่อตามบอร์ดก็จะไปยืนรอ บ้างก็ถือเทียนไขบ้างก็ถือไฟฉายไปส่องเพื่อหาชื่อตัวเอง รวมไปถึงบรรยากาศการรอจดหมายแจ้งผลการสอบที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอบุรุษไปรษณีย์มาที่บ้าน เมื่อได้รับจดหมายแจ้งถึงกับต้องยกขึ้นส่องในอากาศเพื่อดูเงาตัวหนังสือ ถ้ามีตัวหนังสือยาวๆ ก็ร้องดีใจได้เลยเพราะเป็นรายละเอียดแจ้ง แต่หากส่องแล้วเห็นตัวหนังสือสั้นๆไม่กี่ตัว น้ำตาก็ตกโดยที่ไม่ต้องเปิดอ่าน
           
แร็ค ลานนา เองก็ผ่านช่วงเวลาลุ้นระทึกนั้นมาเช่นกัน ซึ่งเกือบจะเป็นรุ่นท้ายๆก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบแอดมิชชั่นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
           
ประเทศไทยได้มีการใช้ระบบเอ็นทรานซ์โดยใช้การสอบระบบกลาง ตั้งแต่ปี 2516 มาจนถึงปีการศึกษา 2542 ราว 26 ปีได้ กลายเป็นการสอบที่เป็นค่านิยมทางสังคมว่าต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย ถึงขนาดที่ว่ามีข่าวนักเรียนฆ่าตัวตายเมื่อพลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
           
นับจากนั้นระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยก็เปลี่ยน เป็นระบบแอดมิชชั่น ที่เริ่มมีการนำผลการเรียนเฉลี่ยตลอดปีการศึกษา (GPAX) มาใช้เป็นคะแนน และปรับปรุงระบบการสอบแอดมิชชั่นเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันโดยใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ผลการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และคะแนนการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) คิดสัดส่วนมาเป็นคะแนนแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัย
           
ซึ่งนั่นหมายความว่า นักเรียนในระดับชั้น ม.ปลาย ต้องเข้มและเคร่งเครียดกับการเรียนเพื่อให้ได้ผลการเรียนในแต่ละเทอมดีๆ เพื่อเป็นคะแนนหน้าตักที่มีอยู่ของแต่ละคน และนั่นหมายความว่ามาตรฐานการสอนที่ไม่เท่ากันย่อมส่งผลต่อคะแนนเฉลี่ย ที่เป็นปัญหาโลกแตกที่การศึกษาไทยพยายามแก้มาตลอด 16 ปี
           
แต่สุดท้ายแอดมิชชั่นก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน อาจเนื่องจากแนวคิดดี แต่แนวปฏิบัตินั่นทำจริงไม่ได้
           
การสอบแบบเอ็นทรานซ์จึงกลับมาอีกครั้งเป็น เอ็นทรานซ์ 4.0 คือสอบครั้งเดียวเหมือนเดิม เพื่อเติมคือเอาการสอบ O-NET GAT PAT มาใช้ในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ว่าง่ายๆคือเอา เอ็นทรานซ์มาผสมพันธุ์กับแอดมิชชั่น นั่นแหละคุณขา เราลองมาดูข้อดีข้อเสียของแต่ละระบบดีกว่า
           
ข้อดีของระบบเอ็นทรานซ์แบบเก่าคือ ทุกคนที่เข้าสนามสอบมี 0 คะแนนเท่านั้นหมด ไม่มีผลจากคะแนน GAPX จากโรงเรียนที่มาตรฐานการสอนไม่เท่ากัน ดังนั้นถือได้ว่าทุกคนที่เข้าสนามสอบอยู่ในระดับเดียวกัน ต่างกันที่ความขยัน ความเก่ง ความสามารถของแต่ละคน ไม่ต้องอ่านหนังสือสอบหลายครั้ง ไม่มีข้อได้เปรียบระหว่างคนจน คนรวย จะรวยหรือจนก็สอบได้วิชาละ 1 ครั้ง เสียเงินเท่ากัน โอกาสเท่ากัน
           
ในขณะที่การสอบระบบปัจจุบันมีการเปิดสอบตรงซึ่งทำให้นักเรียนเดินสายสอบ ซึ่งนั่นก็หมายถึงค่าสมัครสอบ ค่าเดินทาง ค่าที่พักที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีกคนจ่ายก็ไม่พ้นผู้ปกครอง ปฏิทินการสอบก็ชัดเจน ไม่ต้องมาคอยดูประกาศการเลื่อนวันเปลี่ยนแปลงวิชาสอบ และไม่ต้องมาจับจองสถานที่สอบที่พักให้วุ่นวาย เพราะเดินทางครั้งเดียว สอบครั้งเดียวจบ
           
แต่ข้อเสีย ก็มี คือไม่มีการแก้ตัว คะแนนรวมถึงคือได้เลย ถ้าคะแนนไม่ถึงก็เอ็นท์ไม่ติด  สร้างความเครียดให้กับเด็กในการสอบใหญ่ ซึ่งสอบได้ครั้งเดียว ถ้าจะแก้ตัวก็ต้องรอปีถัดไป และการไม่เอาเกรดเฉลี่ยในห้องเรียนมาประกอบ อาจทำให้เด็กไม่สนใจการเรียนในห้องเรียน เน้นแต่จะติวเพื่อสอบเอ็นทรานซ์อย่างเดียว
           
ส่วน ระบบแอดมิชชั่น ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแม้จะใช้มาสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปรับเปลี่ยน .. อย่างปี 2552 ค่าน้ำหนักคะแนนจะประกอบด้วย เกรดเฉลี่ยระดับม.ปลาย (GPAX) 20% คะแนน O-NET 30%  คะแนน GAT 10-50% คะแนน PAT 0-40% รวมเป็น 100 % แน่นอนว่าการสอบลักษณะนี้ทำให้เด็กตั้งใจเรียนในโรงเรียนมากขึ้น เพราะเอาคะแนนในโรงเรียนมาคิดด้วย ทำให้เด็กไม่พึ่งโรงเรียนกวดวิชามากนัก เพราะต้องมาเรียนเอาคะแนนในห้องเรียนมากขึ้น (แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ครูที่โรงเรียนก็ใช้เกรดเป็นตัวล่อให้นักเรียนไปเรียนพิเศษ เพื่อจะได้เปรียบมากกว่าเด็กคนอื่น ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของครู)  สอบแล้วสามารถนำคะแนนที่ได้มาเลือก มหาวิทยาลัย/คณะ ตามที่เราต้องการได้ในภายหลัง ไม่ต้องเลือกก่อนสอบ ทำให้โอกาสที่เราจะเลือกคณะที่เหมาะสมกับคะแนนได้แม่นยำขึ้น
           
ส่วนข้อเสียนะเหรอ ก็อย่างที่บอก ในเมื่อมาตรฐานของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน แล้วจะเอาเกณฑ์ใดพิสูจน์ได้ว่าเกรด 3.25  ของนักเรียน ร.ร.บุญวาทย์ จะเก่งน้อยกว่า คนที่ได้เกรด  4.00 ของ ร.ร.วัดบ้านไกลปืนเที่ยง ปัญหาโลกแตกที่เด็กหลายคนยอมไปเรียนโรงเรียนที่ให้เกรดง่ายกว่า แล้วเสริมด้วยการเรียนพิเศษที่อื่นเอา ที่แย่ไปกว่านั้นมหาวิทยาลัยบางแห่ง บางคณะ ยังไม่ยอมรับเด็กจากระบบแอดมิชชั่น จึงทำการเปิดสอบตรงเอง หรือสร้างเงื่อนไขของตัวเองขึ้น เพื่อคัดคุณภาพเด็ก ทำให้เกิดการเดินสายสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการ ซึ่งแน่นอนใครมีเงินมากก็สามารถเลือกสอบได้มาก มีโอกาสมากกว่าเด็กที่มีเงินน้อย ที่ไม่สามารถจ่ายเงินก้อนในการสอบหลายๆครั้งได้ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม
           
และที่แย่ที่สุดคือ ระบบยังไม่มีมาตรฐาน ยังเปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปแบบการสอบอยู่ตลอดเวลา รุ่นไหนโชคดีระบบเริ่มเสถียรก็ดีไป บางรุ่นโชคร้ายสอบเป็นรุ่นแรกไม่มีความพร้อมช่องโหว่เพียบก็ต้องปลงกันไป
           
ก็หวังว่าจากนี้จะมาถามความต้องการของเด็กๆบ้าง  ไม่ใช้ให้เด็กๆกลายเป็นหนูทดลองยา เอาอนาคตมาเป็นเดิมพัน แบบนี้ก็ไม่โอเคนะคะ คุณขา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1095 วันที่ 9 - 15 กันยายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์