วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

นสพ.บ้านนอกหนุนสภาวิชาชีพปราบสื่อละเมิดจริยธรรม

จำนวนผู้เข้าชม website counter

กลุ่มหนังสือพิมพ์ภูมิภาค ขานรับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ใช้อำนาจกฎหมาย บังคับสื่อนอกคอก เชื่อประชาชนจะมีหลักประกันชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ 6 องค์กรสื่อ ยื่นค้านร่างกฎหมาย ชี้เปิดช่องให้รัฐแทรกแซง

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการลานนาโพสต์ และ 1 ในคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. เปิดเผยว่า ขณะนี้กระบวนการร่างกฏหมายเสร็จสิ้นแล้ว คงเหลือการทบทวนในรายละเอียด และประมวลความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยหลังจากที่เดินสายฟังความเห็นกลุ่มหนังสือพิมพ์ภูมิภาค กลุ่มสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี นักวิชาการ และตัวแทนผู้บริโภค ทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นสนับสนุนแนวทางของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มสื่อภูมิภาค มีความเห็นว่าการมีกฏหมายที่มีสภาพบังคับ จะช่วยยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้ดีขึ้น

“ข้อกังวลในตอนนี้ คือสื่อภูมิภาคยังไม่พร้อมจะรวมตัวเป็นองค์กรวิชาชีพ ที่จะกำกับดูแลกันเอง ซึ่งเป็นการกำกับในชั้นที่ 2 ยังต้องการพี่เลี้ยง และการสนับสนุนในแง่ความรู้ กระบวนการในการรับเรื่องและพิจารณาเรื่องร้องเรียน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามบทเฉพาะกาล ที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม แต่ในแง่ของการที่องค์กรวิชาชีพระดับชาติ สื่อภูมิภาคส่วนใหญ่มีความเห็นด้วย”

นายจักร์กฤษ กล่าวว่า โครงสร้างของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีความแตกต่างจากกฎหมายเกี่ยวกับสื่อที่ได้ยกเลิกไป หรือมีความพยายามที่จะเสนอก่อนหน้านี้ คือไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีหลักการเชิงอำนาจในการกำกับ ดูแลสื่อ แต่เป็นหลักการในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ เห็นได้จากบทบัญญัติบางมาตรา เช่นมาตรา 54 กำหนดให้สมาชิกสภาวิชาชีพต้องกำกับดูแลให้องค์กรสื่อมวลชนกำกับ ดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่ปฏิบัติงานให้องค์กรสื่อมวลชนประพฤติตามมาตรฐานจริยธรรม

นอกจากนั้นที่มาของคณะกรรมการ ก็มาจากสื่อเลือกกันเอง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ โดยที่สถานะของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ทั้งนี้สภาวิชาชีพมีอำนาจ รับจดแจ้งองค์กรสื่อมวลชน รับพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ กำกับดูแลและวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนที่ผู้เสียหายมีต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่ได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 59 ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ โดย นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ / นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ นายชวรงค์ ลิมปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่อง การจัดทำร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมี พลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เป็นผู้รับมอบ ณ อาคารรัฐสภา 1 และนำเข้าพิจารณาในการประชุมต่อไป

จดหมายเปิดผนึก

เรื่อง การจัดทำร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ
สื่อมวลชน

เรียน ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน

ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ............... เพื่อดำเนินการส่งให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปตามความทราบแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6  องค์กร ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ติดตามและได้รับเชิญไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวหลายครั้ง เพื่อให้การยกร่างกฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งยังคงหลักการสำคัญในการรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากการเมือง อันจะทำให้สิทธิการรับรู้ข่าวสารอย่างรอบด้านของประชาชนสูญเสียไป

อย่างไรก็ตาม จากร่างกฎหมายดังกล่าวล่าสุดที่คณะกรรมาธิการดังกล่าว ได้นำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 พบว่ามีเนื้อหาบางประการที่สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนดำเนินการอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีเนื้อหาอีกบางส่วนที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6  องค์กร จึงขอเสนอความเห็นมายังคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ดังต่อไปนี้
  • ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน 
พ.ศ. ............... เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งมีหลักการสำคัญในการรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากการเมือง ดังนี้

1) การกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้เป็นองค์กรตามกฎหมายที่มี

อำนาจในการลงโทษตามกฎหมายแก่ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรสื่อมวลชน ย่อมเป็นการเปิดช่องให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระของสื่อมวลชนของฝ่ายการเมืองโดยผ่านสภาวิชาชีพดังกล่าว เช่น การแทรกแซงกระบวนการสรรหา โดยการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างแท้จริง เข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

2) การร่างกฎหมายดังกล่าว ควรยึดโยงกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการมุ่งเน้น
การคุ้มครองเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขณะที่การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ในการกำกับดูกันเองในสื่อหนังสือพิมพ์ หรือการกำกับดูแลร่วมกับองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระในกรณีของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ไม่ใช่การร่างกฎหมายให้มีองค์กรตามกฎหมายที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงมาควบคุมองค์กรวิชาชีพอีกชั้นหนึ่ง ขณะเดียวกัน ควรมีการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนให้มากขึ้น

จากเหตุผลและข้อมูลข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6  องค์กร ขอเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าว มายังคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาการขับเคลื่อนประเทศ ให้พิจารณาทบทวนการเสนอกฎหมายที่มีเนื้อหาขัดกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ และการธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป
              
สำหรับ 6 องค์กรวิชาชีพประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1096 วันที่ 16 - 22 กันยายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์