"จากชีวิตที่ต้องดิ้นรนจนอยากตายวันละสินหน..แต่วันนี้มีความสุขสบายใจเป็นที่สุด" คำบอกเล่า ของป้าวรรณหรืออรวรรณ สายวงค์เปี้ยผ่านรอยยิ้มที่เป็นสุข ขณะสนทนาถึงเส้นทางเปลี่ยนชีวิตของเธอผู้เคยผ่านความทุกข์ยากจากหนี้สินมากมาย แต่สามารถลดหนี้มีกินมีใช้ก่อนปั้นปลายชีวิตเหมือนพลิกฝ่ามือ
ชีวิตลูกชาวนาหลังจากเรียนจบ
มศ.5 ทำงานรับจ้างทั่วไปและไหลเข้าไปทำงานในกรุงเทพเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ที่นิยมไปทำงานกรุงเทพในสมัยนั้น
ป้าเป็นลูกจ้างอยู่ในโรงงานตัดเย็บผ้าต่อมาได้พบกับสามี(สมศักดิ์ สายวงเปี้ย)
ซึ่งทำงานอยู่ในอู่ซ่อมสีรถ ก็มีพออยู่ได้ เมื่อมีลูกก็ย้ายกลับมาอยู่บ้าน สามีเปิดอู่ทำสีรถในหมู่บ้าน
ป้าวรรณก็รับจ้างทั่วไป ทำนาปลูกข้าวกินเอง ชีวิตก็ยังคงลำบากเพราะรายได้มาจากการขายแรงงาน
เลี้ยงลูกสองคนก็ยิ่งต้องหาเงินมากขึ้น
"เมื่อรายได้น้อย
รายจ่ายมากสุดท้ายเราตกอยู่ในวังวนหนี้จากการหยิบยืม
ลามไปจนถึงการกู้ทุกรูปแบบที่เราจะกู้ได้ ทั้งธนาคารและกู้นอกระบบพันกันยุ่งไปหมด ที่ย่ำแย่ที่สุดคือเงินกู้เงินรายวันช่วง
4-5 ปีที่แล้วต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงวันละ 1,700 บาท ความเครียดกดดันจนหาทางออกไม่ได้คิดจะกลับไปทำงานกรุงเทพอีกครั้งแต่สามีก็สุขภาพไม่ค่อยดีจากการทำสีรถยนต์
กระทั่งเพื่อนบ้านคือน้องรุ่ง(รุ่งสุรีย์ ชัยศร) มาแนะให้ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหา
ชวนเข้าร่วมกับกลุ่มฮักน้ำจางที่ทำเกษตรอินทรีย์ตามรอยแนวเศรษฐกิจพอเพียงป้ากับสามีก็ยังไม่เข้าใจว่าพอเพียงอย่างไร
ในเมื่อรายได้มันน้อย ปลูกผักขายยิ่งเห็นหนทางห่างไกล กว่าจะปลูก
เก็บขายใช้เวลานานมาก ยิ่งไม่ใส่ปุ๋ยผลผลิตจะขายได้ไหม เราเองก็ไม่เคยทำเกษตรนอกจากช่วยพ่อแม่ทำนาแนวทางแรกคือเปิดใจเข้าไปเรียนรู้
"
เมื่อเปิดใจครอบครัวของป้าวรรณมีโอกาสรู้จักกับคำว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
จากการเข้าฝึกอบรมในโครงการเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำรัสฯของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ร่วมกับ"กลุ่มฮักน้ำจาง" หลายโครงการจนเริ่มเข้าใจ
“หลังจากที่เราเข้าไปเรียนรู้
สามีบอกว่าเราต้องลองลุยสักตั้งอย่างน้อยเราก็ไม่ต้องจากบ้านไปทำงานในกรุงเทพ
วันไหนไม่มีรายได้ก็มีกิน เราปลูกผักไม่เป็นก็เรียนรู้ไปกับเขา
พ่อแม่ก็ทำสวนผักเล็กๆอยู่แล้วป้าก็ใช้สวนผักเดิมของพ่อแม่ ปลูกผักพื้นบ้านผักสวนครัวหลากหลายชนิด
แต่เน้นการปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ต้องลงทุนอะไร กล้าผักก็ได้รับแบ่งปันกันจากกลุ่มและเพื่อนบ้าน
ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ใช้พืชธรรมชาติป้องกัน แก้ปัญหาเรื่องแมลง
หรือโรคพืชต้นทุนต่ำ แต่ใช้ความอดทน พยายามสูง แม้จะมีรายได้ไม่มากจนร่ำรวยแต่มีความสบายใจจากการใช้ชีวิตแบบไม่ต้องดิ้นรนเกินกำลัง
เป็นเสมือนแบบฝึกหัดของการลดความโลภ ความอยากได้อยากมีเกินตัว
จากเริ่มแรกทำเกษตรควบคู่กับการรับจ้างหลัง ปลูกผักมา 3 ปีเริ่มจัดการลดหนี้ไปได้ค่อนข้างมาก
ขณะนี้เป็นเกษตรกรเต็มตัวแบบพอเพียงไม่ต้องดิ้นรนอะไรอีกแล้ว”
บัวหล้า
แสงจันทร์วัย
60 ปี อีกหนึ่งเกษตรกร "กลุ่มฮักน้ำจาง"
ที่น้อมนำพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเปลี่ยนชีวิตให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากที่ต้องดิ้นรนหาบเร่ขายของในอยู่ในเมืองหลวงสู่ชีวิตที่เรียบง่ายในบ้านเกิด
“จากอาชีพกลุ่มแม่ค้าเหมารถไปหาบเร่ขายผ้า
ดอกไม้ในกรุงเทพและจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศจากบ้านเกิดไปหาเงิน ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน
เมื่ออายุมากขึ้นอยากกลับมาใช้ชีวิตปั้นปลายในบ้านเกิดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
หนทางแรกคือกลับมาการทำนา ค้าขายเล็กๆน้อยๆในหมู่บ้านชีวิตก็ยังขัดสนและเป็นหนี้ธกส.
เป็นหนี้นอกระบบไม่จบสิ้น
จะทำอาชีพอะไรก็ไม่มีความรู้เพื่อนบ้านกลุ่มฮักน้ำจางมาชวนเข้ากลุ่ม ป้าก็มองกว่าการปลูกผักนี่แหละมันไม่ยากเกินกำลัง
แต่ทำคนเดียวก็ไปไม่รอด เพื่อนบ้านมาชวนไปทำเกษตรพอเพียง แต่คำว่าเกษตรพอเพียง
เกษตรอินทรีย์ก็ไม่รู้จักว่ามันคืออะไร เขาทำกันอย่างไร ทำแล้วได้อะไร ได้พอ
เข้าไปเรียนรู้เรื่องเกษตรพอเพียงหลายโครงการ ป้าก็เริ่มรู้จักและเข้าใจว่า
การหันกลับมาใช้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ทำเท่าที่เราทำไหว
ลดรายจ่ายในชีวิตทุกทางให้มากที่สุด เราก็จะไม่เป็นหนี้
การปลูกผักอินทรีย์จึงเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ปลูกผักในบ้านของเราก็มีรายได้โดยไม่ต้องลงทุน
เพียงแต่ลงแรงค่อยๆทำทีละน้อยเมื่อเก่งขึ้นก็ ปลูกมากขึ้นตามกำลัง
รายได้ก็เพิ่มตามมาเอง
วิธีคิดแบบที่ในหลวงทรงชี้แนวทางเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่คนไทยที่สุด "
ป้าบัวหล้า
บอกอีกว่า แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ และแนวคิดการใช้ชีวิตแบบพอเพียง
เป็นความท้าทายและสู้กับวิธีคิดของตนเอง หากไม่เข้าใจให้ถ่องแท้ก็ทำไม่ได้
วิถีพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องทำเกษตร แต่การทำเกษตรเป็นวิถีที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนชนบท
ทุกคนมีที่ดินมีบ้านของตัวเอง แต่ปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องของการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย
ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับตนที่เคยคิดอยากมีเงินมากๆ เอาเงินเป็นเป้าหมาย
แต่สุดท้ายกลับเป็นหนี้
เมื่อหันมาปลูกผักขายนอกจากจะมีกิน ยังแบ่งญาติพี่น้องได้ด้วย
ส่วนรายได้นั้นปัจจุบันป้าหล้า มีรายได้ที่พอใช้จ่ายอย่างไม่เดือดร้อน เหมาะสำหรับความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย
เมื่อจ่ายให้น้อยลงเท่านี้ก็มีเงินเหลือเก็บ
จิตใจผ่องใสไม่ต้องกังวลว่าต้องหาเงินมาใช้หนี้ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1101 วันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น