ผู้ว่าลำปางชี้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำลำปางไม่กระทบหนัก
ทุกฝ่ายหนุนช่วยเปิดช่องทางการตลาดพร้อมเปิดเฟสบุ๊คแฟนเพจ
"คนลำปางไม่ทิ้งกัน" ชวนคนลำปางมีส่วนร่วมขาย "ข้าวลำปาง ล๊ำ
ลำ" เป็นโครงการแรก
จากกระแสข่าวเกี่ยวกับกรณีข้าวในประเทศไทยราคาตกต่ำในฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้ในส่วนของพื้นที่จังหวัดลำปาง
มีการแพร่กระจายข่าวและวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อโซเชียลอย่างกว้างขวางโดยล่าสุดนายสุวัฒน์
พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ออกพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูล
และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่อาจจะได้รับผลกระทบหลายพื้นที่
วันที่
3 พ.ย. 2559 สุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม
คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายประสารพลังงานประชารัฐลำปาง ปัญหาเรื่องข้าวราคาตกต่ำเป็นปัญหาระดับประเทศที่กำลังเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ
เกษตรกร-ชาวนาตื่นตัวกันมาก ในส่วนพื้นที่จังหวัดลำปาง
ผมมองว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบจนเป็นปัญหาใหญ่
เพราะลำปางไม่ได้เป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวขายเป็นหลัก จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่า ลำปางปลูกข้าวประมาณ 250,000 ตันเป็นข้าวที่ปลูกกินเอง
3 ส่วน ขายเพียง 1 ส่วน จึงไม่น่าเป็นห่วงจะจะได้รับผลกระทบหนัก
แต่ทางจังหวัดเองก็ได้เตรียมความพร้อมในด้านแผนความช่วยเหลือเอาไว้
เผื่อว่ามีเกษตรกรรายใดที่ต้องการความช่วยเหลือในการขายข้าวให้ได้ราคากว่าที่จะขายข้าวเลือกราคาถูก
ทั้งนี้ได้ลงพื้นทีไปดูโรงสีข้าวสหกรณ์ของสหกรณ์การเกษตรอำเภอห้างฉัตร
ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โรงสีขนาดใหญ่ในรูปแบบสหกรณ์ของจังหวัดเมื่อวันที่ 2
พ.ย. 2559 พบว่า มีการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ดีมาก โดยได้รับซื้อข้าวเปลือกทั้งของสมาชิก
และเกษตรกรทั่วไป ในราคาตันละ 7,500 บาท เพื่อนำไปแปรรูปใส่บรรจุภัณฑ์ส่งขายสหกรณ์แห่งประเทศไทย
และขายปลีกตามตลาดทั่วไปในพื้นที่ลำปาง
ส่วนเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอื่นๆในลำปางก็รับซื้อในราคาสูง
นอกจากนี้ยังได้รับการประสานงานจากผู้บริหารไทยวัสดุลำปาง ในการให้พื้นที่ลานจอดรถกลางแจ้งของห้างขอใช้เป็นลานตากข้าว
ซึ่งเกษตรกรรายไดที่สะดวกและคุ้มค่าในการขนส่งไม่ไกลมากนักมายังไทยวัสดุก็นำข้าวมาตากลดความชื้น
เก็บไว้ขายเป็นข้าวที่ได้ราคาได้ นอกจากนี้ยังมีช่องทางปั้มน้ำมัน
ปตท.ทุกแห่งที่พร้อมเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรขายข้าว เริ่มจากปั้มน้ำมัน
ปตท.สาขาข้างศาลากลางจังหวัดลำปาง จะเปิดขายข้าววันแรกตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.2559
นี้ นับเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย
"จากกระแสราคาข้าวตกต่ำ
พบว่าสังคมทุกฝ่ายตื่นตัวในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผมได้เปิดเพจเฟสบุ๊ค
เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างราชการ กับประชาชนคนลำปาง อย่างไม่เป็นทางการ
ร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่าง
ซึ่งในเพจนี้ผมได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนกันมาร่วมโครงการ "ข้าวลำปาง ล๊ำ
ลำ" ในการส่งเสริมการตลาดขายข้าวของเกษตรกรลำปาง
และข้าวท้องถิ่นลำปางบางสายพันธ์ที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิซึ่งไม่เข้าข่ายความช่วยเหลือจากรัฐบาลบางกรอบความช่วยเหลือ
ดังนั้นเกษตรกรลำปางที่มีข้าวคุณภาพดี อร่อยจะมีช่องทางตลาดเพิ่มขึ้น
สามารถติดต่อมาทางสำนักงานจังหวัดได้ นี่เป็นเพียงพลังหนึ่งของการร่วมด้วยช่วยกัน
ส่วนการช่วยเหลือที่ยั่งยืน ต้องดูที่การส่งเสริมการปลูกข้าวให้ได้คุณภาพและปริมาณต่อไร่
ให้ได้มากกว่าไร่ละ 600 กิโลกรัม เป็น 1,000 กิโลกรัม เกษตรกรจึงจะได้กำไรมากขึ้น
หรือยกระดับบรรจุภัณฑ์การแปรรูปขายข้าวสารที่ได้ราคาเป็นต้น"
ผู้วาราชการขังหวัดลำปางกล่าว
นายเกรียงเดช
สุทธภักติรักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
หนึ่งในคณะกรรมการชุดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ลำปาง ซึ่งเป็นคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง
มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะทำงานชุดดังกล่าว เผยว่า
สถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำขณะนี้ถือเป็นข่าวที่สร้างความตื่นตัวในสังคมเกษตรกร
และสังคมทั่วไปในขณะนี้ ซึ่งทั่วประเทศมีการใช้สื่อโซเชียลในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันโดยรวดเร็ว
ปลุกระดมให้ลูกหลานชาวนาออกมามีบทบาทในการขายข้าวออนไลน์
ในส่วนของจังหวัดลำปางแม้จะไม่ใช่จังหวัดที่มีการปลูกข้าวขายเป็นหลัก
แต่ก็มีการพูดถึงประเด็นของการช่วยเหลือซื้อข้าวจากชาวนากว้างขวาง เช่นในสื่อโซเชียลเพจเฟสบุค
ลำปางซิตี้ (lampang
city)มีการประกาศให้สมาชิกในเพจที่มีอยู่มากกว่า 1 แสนคน ช่วยกันซื้อข้าวจากชาวนาผ่านพื้นที่ในเพจ
ส่วนอีกช่องทางที่เกษตรกรเองก็น่าจะรู้ช่องทาง ที่ ปตท.ประกาศให้ ชาวนา
ใช้พื้นที่ปั้ม ปตท.ทั่วประเทศ ขายข้าวได้ ในลำปางก็กระจายข่าวให้
เกิดการซื้อขายกันเองช่วยให้ชาวนาขายปลีกข้าวสารได้มากกว่าการรอขายข้าวเปลือก
"ในฐานะที่ผมเป็นอดีตสภาอุตสาหกรรมลำปาง
และทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรผมมองว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
หรือสินค้าเกษตรใดๆตกต่ำเป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาสอง แนวคือ
เร่งด่วนแบบยาฉีดคือช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนช่องทางการซื้อมาซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง
แต่ผมมองว่าการช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกจุดต้องช่วยเรื่องการหาช่องตลาดใหม่และการแปรรูปเพิ่มมูลค่า
เรื่องนี้จะต้องร่วมกันหลายฝ่าย ในส่วนของอบจ.ลำปางขณะนี้ อบจ.ลำปางเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงในการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ
เอกชนและเกษตรกรหรือชุมชนให้มีโอกาสเข้าถึงกัน ล่าสุดผมได้เชิญสภาผู้แทนแห่งชาติ
มณฑลส่านซี และผู้แทนการค้าในจีน มาแลกเปลี่ยนกันที่อบจ.ลำปาง
โดยนำสินค้าของลำปางมาแสดงให้เขาชมว่าเรามีสินค้าอะไรที่มีศักยภาพบ้าง
เขาต้องการซื้ออะไร ปรากกว่า มณฑลส่านซี มีประชากร 37ล้านคน มีความต้องการซื้อข้าวดำคือข้าวไรซ์เบอรี่
ไม่อั้น และต้องการซื้อสัปปะรด เดือนละประมาณ 3 ล้านลูก
แค่นี่เราก็พอเห็นช่องทางตลาดใหม่
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาสินค้าที่มีอยู่ขายให้เขาอย่างไร จะต้องมีการส่งเสริมปลูกข้าวดำอย่างยั่งยืนหรือไม่
เรื่องนี้ สภาเกษตรกร โดยท่านประพัฒน์ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรลำปาง
รับไปวางแผนจัดการในระยะยาว
ผมว่าเรื่องปัญหาสินค้าเกษตรต้องร่วมมือกันช่วยกันแก้ระยะยาวมากกว่า
แก้ไปเป็นครั้งคราว"
นายเกรียงเดชกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากที่รัฐบาลได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว
(นบข.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน
เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำ เมื่อวันที่ 1พ.ย. 2559 มีมติ
ช่วยเหลือเกษตรกรโดยการเปิดโครงการรับจำนำยุ้งฉาง
ซึ่งถ้าเกษตรกรรายใดเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจำนำเก็บไว้ในยุ้งฉางก่อน
รัฐบาลก็จะให้ราคาตันละ 14,116 บาท แต่ถ้าเกี่ยวข้าวแล้วต้องการขายเลย รัฐบาลก็จะให้ราคา 13,586 บาท
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1103 วันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น