
เริ่มที่กันสะเทือนอย่างดีก่อน ที่ให้ความนุ่มนวลไม่ว่าจะเป็น PRIMARY หรือ SECONDARY RIDE และไม่ว่าจะขับบนผิวถนนแบบไหนก็ตาม ก็ยังให้ความนุ่มนวลครบถ้วน ไม่ใช่นุ่มแบบโคลง หรือโยนตัวยวบยาบนะครับ แต่แดมเปอร์จัดการหยุดการเคลื่อนที่แนวดิ่งของตัวถังรถได้อย่างเบ็ดเสร็จ ละมุนละม่อม รวมไปถึงเสียงรบกวนจากยาง และจุดยึดล้อต่างๆ แทบไม่เล็ดลอดเข้ามาถึงห้องโดยสารได้เลย ถ้าให้คำจำกัดความให้สั้นที่สุด ในภาษายุคนี้ ก็คงต้องเรียกว่า ช่วงล่างระดับเทพเป็นของรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ รุ่นล่าสุดที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้แค่อ่าน หรือฟังใครเล่ามานะครับ บังเอิญผมมีโอกาสได้สัมผัสด้วยตนเองมาแล้ว รถที่มีระบบกันสะเทือนระดับโลกอย่างนี้ แม้ไม่ได้ขับหรือนั่ง ถ้ามีประสบการณ์ในการสังเกตรถต่างๆ มาเป็นเวลานาน แค่ขับตามหลัง บนถนนขุรขระรูปแบบต่างๆ สักพัก ก็จะรู้ได้ครับว่าดีเยี่ยม ตัวรถจะเคลื่อนที่ขึ้น/ลงในแนวดิ่งด้วยความเร็วที่มีค่าต่ำ คือ ขึ้น/ลงค่อนข้างช้าเนิบนาบนั่นเอง ระยะที่ตัวรถขึ้น/ลง หรือสวิงจากระดับสถิต หรือระดับขณะจอด ก็มีค่าน้อยมาก
และถ้าเราเบนรถของเรามาด้านข้าง
เพื่อสังเกตการเคลื่อนที่แนวดิ่งของล้อหลัง
จะเห็นว่าค่อนข้างเร็วตามความขรุขระของผิวถนน
แต่จะไม่พุ่งขึ้นเร็วจนหน้ายางลอยจากผิวถนน
การที่จะปรับแดมเปอร์ให้สมบูรณ์แบบระดับนี้ได้ ไม่สามารถใช้เพียงทฤษฎีล้วนๆ ได้
ทั้งๆ ที่ความรู้ด้านนี้ถูกสั่งสมมาเกือบ 100 ปีแล้ว
สุดท้ายแล้วจะต้องใช้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน
ของทีมวิศวกรที่ทำการทดลอง ปรับแต่ง ทดสอบ กันแรมเดือนครับ
ที่มักเรียกกันแบบไม่เคร่ง ว่าเป็นทั้งศาสตร์ และศิลปะ ผสมกันอยู่ ถ้าจะเปรียบให้พอเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ก็น่าจะทำนองเดียวกับการปรุงอาหารชั้นยอด เราอาจมีตำราหรือ “สูตร” ชั้นดี หาวัตถุดิบชั้นยอด หมดทุกอย่าง
รวมทั้งเครื่องปรุงเครื่องครัวชั้นยอด ก็ยังไม่สามารถปรุงอาหารระดับสูงได้
ยังต้องอาศัยตัวแปรสุดท้าย ซึ่งสำคัญที่สุด ซึ่งก็คือ พ่อครัวแม่ครัว ฝีมือเยี่ยม
มีทั้งพรสวรรค์ และประสบการณ์ยาวนาน มา “ลงมือ” เพื่อให้ได้อาหารอร่อยขั้น “เทพ” ครับ
แล้วแบบแย่ล่ะ
เขามักใช้ใช้แดมเปอร์ที่เลือกใส่มาให้ โดยที่ไม่มีใครใส่ใจในเรื่องคุณภาพ สมรรถนะ
คือ ไม่ได้มีความถูกต้องเหมาะสมอะไรเลย โดยเฉพาะสภาพถนน คือ เอาให้ความหนืดมันสูงเข้าไว้
ทั้งตอนดันและตอนคลาย อย่างไรเสีย เวลาขับความเร็วสูงมันก็ยังคง “ใช้ได้” แต่การใช้งาน “ในเมือง”
ตัวรถ (พร้อมคนในรถ) จะถูกดีดขึ้น ด้วยอัตราเร่งที่สูงมาก
เมื่อตัวรถผ่านจังหวะที่ถูกดีดรุนแรงมาแล้ว ขณะเคลื่อนที่ลงแนวดิ่ง แทนที่สปริงจะคลายตัว
ดันล้อให้ลงตามผิวถนนได้ทัน และพยุงตัวรถไว้ไม่ให้ “ตก”
ลงมาต่อ ก็กลับถูกความหนืด ของแดมเปอร์ในจังหวะคลาย หรือ REBOUND
ต้านเอาไว้ด้วยแรงที่มากเกินไป ตัวรถจึงเคลื่อนที่เลยลงมา
จนสปริงและแดมเปอร์ต้องรับในจังหวะดัน หรือ COMPRESSION และก็รับด้วยแรงที่สูงเกิน
ซึ่งกล่าวมาแล้วตอนต้น กลายเป็น “วงจรอุบาทว์” ทำร้ายผู้ขับและผู้โดยสารอยู่ตลอดเวลา ในวงการผู้ผลิตรถ
เขาถือกันว่าระบบกันสะเทือนเช่นนี้ มาจากทีมพัฒนาช่วงล่าง ที่ขี้เกียจ “ทำการบ้าน” ผมลองให้ผู้ชายอายุน้อย
ที่คุ้นกับช่วงล่างสปอร์ตเป็นอย่างดี มานั่งรถรุ่นที่ว่านี้ดู คำตอบของเขา
เมื่อเสร็จสิ้นการลองนั่งครึ่งชั่วโมง คือ “อย่างผมนี่ยังแทบอ้วก”
ผมลองหาเหตุผลและสังเกตการณ์มาหลายปีแล้ว ได้คำตอบว่า
มันคือการเอาเปรียบลูกค้าในรูปแบบหนึ่ง ด้วยความคิดเย่อหยิ่ง
(พร้อมการลดต้นทุนในการทดลอง การปรับละเอียด) ว่าถึงห่วยก็ยังหลอกขายลูกค้าที่ไม่มีโอกาสเปรียบเทียบได้อยู่ดี
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1107 วันที่ 2 - 8 ธันวาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น