ทั้งที่ข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม เรื่องการปฏิรูปสื่อ ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สอดคล้องมาตรฐานสากล โดยนำกฎหมายหรือแนวทางการดำเนินการของต่างประเทศมาประกอบการพิจารณา แต่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)อันมีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน ก็ยังพยายามเสนอกฎหมายในแนวคิดอำนาจนิยม ขัดแย้งกับคำสั่งการนั้น โดยไม่ได้พิจารณาประกอบแนวทางดังกล่าวแต่อย่างใด
ในประเทศเสรีประชาธิปไตย
ทั่วโลกไม่มีประเทศใดเลย มีกฎหมายในลักษณะจำกัดสิทธิ ควบคุมบังคับ
โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
แม้กระทั่งสภาการสื่อมวลชนอินโดนีเซีย ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรรัฐตามกฎหมาย
ก็ยังใช้หลักการกำกับดูแลกันเอง (self regulation)
หลักการนี้เป็นมาตรฐานสากล
และเป็นสิ่งที่อธิบายว่า การปฏิรูปสื่อนั้น ต้องเป็นการปฏิรูปด้วยองค์กรสื่อเอง
ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ เช่นที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
กล่าวไว้ในปาฐกถา เรื่อง “การปฏิรูปสื่อกับเจตนารมณ์ของรัฐ” ในงานประชุมยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์
เมื่อวันที่ 24
พฤศจิกายน
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น เป็นพื้นฐานของประเทศเสรีประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยทุกฉบับ ล้วนบัญญัติรับรอง
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนไว้ชัดเจน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับลงประชามติ มาตรา 34
บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน
การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้
เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ
เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
มาตรา
35
บัญญัติว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้
เสรีภาพของสื่อมวลชน
ก็คือเสรีภาพของประชาชน เพราะบทบาทของสื่อมวลชน คือการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์
แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะ การบริหารราชการแผ่นดิน
รวมทั้งการเป็นกระจกสะท้อนสังคมในเรื่องต่างๆ หากสิ่งเหล่านี้ถูกปิดกั้น
ถูกควบคุมบังคับด้วยใบอนุญาตจากผู้มีอำนาจ ประชาชนก็อาจได้รับรู้ข้อมูล
ข่าวสารเพียงด้านเดียวเท่าที่ผู้มีอำนาจต้องการให้รับรู้เท่านั้น และสังคมนี้ก็จะเป็นสังคมแห่งความมืดบอด
ผู้มีอำนาจจะทำอะไร อย่างไรก็ได้ โดยไม่มีการถ่วงดุล ตรวจสอบ
เมื่อสาระสำคัญของความเป็นวิชาชีพสื่อมวลชน
คือการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น การจำกัดเสรีภาพนี้จึงไม่สามารถกระทำได้
และเป็นคนละเรื่อง คนละกรณีกับผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ ทนายความ วิศวกร
เพราะวิชาชีพเหล่านั้นต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
หากไม่มีกำหนดการให้ใบอนุญาต ก็อาจส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อผู้เกี่ยวข้องได้
ในร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.ซึ่งคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชนฯ
สปท. เตรียมเสนอให้พิจารณาตราเป็นกฎหมายบังคับใช้นั้น
มีเนื้อหาสำคัญที่แตกต่างจากร่างเดิมของคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คือได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐโดยตำแหน่ง ให้มีอำนาจรับขึ้นทะเบียน
ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนด้วย
ถึงแม้ว่าโครงสร้างของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
จะประกอบด้วยหลายภาคส่วน ทั้งสื่อมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และภาคประชาชน
ก็นับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งในการให้อำนาจกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียวที่จะมาตัดสินสื่อมวลชนทั้งระบบ
ด้วยมาตรฐานความรู้ความเข้าใจที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะหลักคิดในแบบตัวแทนรัฐ จำนวน 4 คน
ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงการคลัง
หลักการนี้ไม่แตกต่างไปจากหลักการให้อำนาจ
“เจ้าพนักงานพิมพ์” กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์อย่างเบ็ดเสร็จ
ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484
กฎหมายยุคเผด็จการ ซึ่งยกเลิกไปแล้ว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1110 วันที่ 23 ธันวาคม 2559 - 5 มกราคม 2560 )
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น