ถึงช่วงปลายปี พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนจะถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน สภาพอากาศเช่นนี้จะอยู่ยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นวัฎจักรแห่งความเลวร้ายที่ไม่รู้จักจบสิ้น ทุกคนรู้ปัญหา แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เป็นภาวะจำยอมที่ต้องปล่อยให้ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป
ทิ้งไว้เพียงโรคระบบทางเดินหายใจ
สำหรับคนที่ภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากหมอกควันจางไป
ความสูญเสียในเชิงสุขภาพอนามัยของคน
โดยเฉพาะคนลำปางในเมืองที่สภาพภูมิศาสตร์คล้ายแอ่งกระทะ จะเป็นอย่างไร
แน่นอนว่า การเผาป่า
ที่เจ้าหน้าที่รัฐติดป้ายเตือนไว้ริมทางทุกระยะ
คือสาเหตุที่คนเชื่อว่าทำให้เกิดหมอกควัน หลายพื้นที่บนภูเขาสูง
บนเส้นทางที่ตัดผ่านป่า ล้วนมีป้ายประกาศเตือนเช่นนี้
แต่บางครั้งใกล้ๆกับจุดที่ปักป้ายเตือนไว้นั่นเอง กลับปรากฏหมอกควันจากการเผาป่า
ความจริง
ทุกคนก็รู้ดีว่า แม้การเผาป่าจะเกิดจากชาวบ้าน
แต่ชาวบ้านเผาป่าด้วยเหตุผลของความอยู่รอด จากการบงการของนายทุนต่างถิ่น
ผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองท้องถิ่น ที่เลวร้ายกว่านั้น ก็คือการเผาป่า
เพื่อปรับพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวบางชนิด เช่น ข้าวโพด
ซึ่งบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ
เข้ามาขายเมล็ดพันธุ์ มาส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพด
เพื่อแปรรูปเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไปเป็นอาหารสัตว์
การเผาป่า
เพื่อทำไร่ข้าวโพด และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ซังข้าวโพด ต้นข้าวโพดที่หมดสภาพแล้ว
ก็จะถูกกำจัดเพื่อปลูกข้าวโพดรุ่นใหม่ หรือปลูกพืชชนิดอื่น ด้วยวิธีเผา
และข้าวโพดนี่เอง ที่เพิ่งค้นพบกันไม่นานมานี้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควัน
ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 12
(พ.ศ.2560-2564) เป็นครั้งแรก
ที่แผนนี้พูดถึงการแก้ปัญหาวิกฤตหมอกควันไฟป่าในเขตภาคเหนือ
ว่ามาจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด
และจากข้อมูลพื้นที่การเกษตรและครัวเรือนการเกษตร
จากสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง พบว่า ปี 2558 ทั้ง 13 อำเภอ
มีพื้นที่การเกษตรที่ใช้ในการเพาะปลูกทั้งหมด 1,111,113
ไร่ โดยเป็นพื้นที่นามากที่สุด 522,757 ไร่
รองลงมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ 345,776 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 204,927 ไร่ และพืชผัก สมุนไพร 37,653 ไร่
สำหรับพืชเชิงเดี่ยว
เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง
ถั่วลิสง ช่วงปีการเพาะปลูก 2557/2558 มีการปลูกมากที่สุดที่ อ.งาว
เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 91,724 ไร่ ส่วนที่ อ.วังเหนือ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 55,951 ไร่ อันดับ 3 คือ อ.แม่ทะ 13,939 ไร่
ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มูลค่าผลผลิตต่อปีถึง 652
ล้านบาท เป็นอันดับที่ 3 รองจากข้าวเหนียวนาปี และข้าวเจ้านาปี
หากเทียบกับข้อมูลการผลิตปี
2556/2557
แล้ว ถือว่าพื้นที่ปลูกลดลง ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
แต่การปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้ง 13
อำเภอ ที่มีกว่า 163,000 ไร่ อาจจะเป็นพื้นที่เสี่ยงที่สุดในการเกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าของ
จ.ลำปาง หากมีการเผาปรับพื้นที่กันอย่างต่อเนื่อง
วันนี้นั่งเครื่องบินผ่านฟ้าลำปาง มองลงมาเห็นภูเขาหัวโล้น
นั่นอาจไม่ใช่การบุกรุก ตัดและชักลากไม้ออกไปจากป่าเท่านั้น
แต่เป็นผืนดินที่เพิ่งถูกเผาพร้อมซังและต้นข้าวโพด
ผู้ร้ายที่ชื่อข้าวโพดนั้น
ถึงรู้ตัวแต่ก็จัดการได้ไม่ง่ายนัก
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1110 วันที่ 23 ธันวาคม 2559 - 5 มกราคม 2560 )
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น