กองบรรณาธิการลานนาโพสต์ ย้ำจุดยืน ค้านกฎหมาย สปท.คุมสื่อเบ็ดเสร็จ ให้อำนาจสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ขัดแย้งกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประเทศเสรีประชาธิปไตย ทั้งส่งตัวแทนภาครัฐร่วมเป็นกรรมการคุมสื่อ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายสุวพันธุ์
ตันยุวรรธนะ ประธานกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ให้พิจารณาเรื่องการปฏิรูปสื่อ
โดยให้มีการดำเนินการให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
โดยนำกฏหมายหรือแนวทางการดำเนินการของต่างประเทศมาประกอบการพิจารณาด้วย
ในขณะที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ได้เตรียมเสนอร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ
คือ พระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม
และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ...และพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติม
พ.ศ...ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อ
มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับ ดูแลสื่อทุกประเภท
โดยมีบทบัญญัติบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้งหมด
ต้องอยู่ภายใต้สังกัดสภาวิชาชีพนี้ ทั้งนี้โดยไปกำหนดเงื่อนไขบังคับไว้ในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการลานนาโพสต์
และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ได้แสดงความกังวลต่อความพยายามที่จะเสนอกฎหมายทั้งสองฉบับนี้
ซึ่งมีบทบัญญัติอันเป็นการขัดแย้งกับหลักการพื้นฐาน
เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอำนาจของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
และการมีตัวแทนของภาครัฐเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ได้ต่อสู้คัดค้านเรื่องนี้มาตลอดหลายสิบปี
โดยที่เคยมีความพยายามเสนอกฎหมายในลักษณะนี้ ให้มีตัวแทนภาครัฐเข้ามาเป็นกรรมการ
และกลุ่มสื่อได้รวมตัวกันคัดค้านจนกฏหมายฉบับนั้นตกไป
มาตรา
30 ของร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ
บัญญัติให้สภาวิชาชีพมีอำนาจหน้าที่รับขึ้นทะเบียน
ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
คำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ตามที่มาตรา 3
ของร่างกฎหมายฉบับนี้นิยามไว้ หมายความว่า
บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร
และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชน
ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดอย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ
นอกจากความในมาตรา
30 อันขัดแย้งต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแล้ว มาตรา 41 ยังกำหนดให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วย
ผู้แทนสภาวิชาชีพจำนวนห้าคน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
บรรณาธิการลานนาโพสต์ กล่าวว่า
บทบัญญัติส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดอำนาจนิยมดังกล่าวข้างต้น
ล้วนเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานของสื่อมวลชน ภายใต้วิถีประชาธิปไตย
อีกทั้งเมื่อได้ศึกษากฎหมาย และองค์กรวิชาชีพสื่อในต่างประเทศ
ไม่มีประเทศเสรีประชาธิปไตยประเทศใด มีกฎหมายกำกับ ดูแลสื่อในลักษณะเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม
ประเด็นเรื่องการใช้เสรีภาพโดยไม่มีความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ก็สมควรจะทบทวนและพิจารณาว่า กฎหมายที่บังคับใช้กับสื่อที่ละเมิดซึ่งมีอยู่จำนวนมากนั้น
เหตุใดจึงบังคับไม่ได้
มากกว่าที่จะมีกฎหมายขึ้นมาเพียงหนึ่งฉบับและจะคุมสื่อได้อย่างเบ็ดเสร็จ
“ในฐานะที่มีส่วนร่างกฎหมายฉบับนี้
ผมเห็นว่าเจตนารมณ์หรือหลักการของกฎหมาย
ก็คือความต้องการแก้ปัญหาการไม่มีสภาพบังคับ ขององค์กรวิชาชีพสื่อ ในกรณีที่องค์กรวิชาชีพได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์จนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วยังไม่เป็นผล
เป็นการบังคับให้กระบวนการทำงาน ไม่ใช่บังคับสื่อให้มีจริยธรรมเป็นรายบุคคล
และกฎหมายฉบับนี้ ก็ไม่ใช่กฎหมายที่จะเอาผิดสื่อ ในระดับเดียวกับกฎหมายอาญา
ดังนั้นการออกแบบกฎหมาย และการกำหนดโทษทางปกครอง
จึงให้น้ำหนักกับการลงโทษเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมเท่านั้น นายจักร์กฤษ กล่าว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1109 วันที่ 16 - 22 ธันวาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น