จำนวนผู้เข้าชม
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของกรรมาธิการสื่อ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ชนิดเข้มข้นและเกาะติด แต่กลับมีร่างกฏหมายในหลักการและเนื้อหาเดียวกันนี้ ไปโผล่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก(สนช.)อีกฉบับหนึ่ง
เรียกว่า ความพยายามที่จะให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” นั้น มีความหนักแน่นมากยิ่งขึ้น
กฎหมายสภาวิชาชีพ เวอร์ชั่น สนช.จัดทำโดย คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน มีโครงร่างคล้ายๆกับ ร่าง สปท.แตกต่างในรายละเอียดเล็กน้อย แต่มีความเข้าใจผิดมากในนิยามความเป็นสื่อมวลชน โดยเฉพาะเรื่องสื่อออนไลน์
แต่ที่ชัดเจน ตรงไปตรงมาสำหรับร่างของ สนช.คือชื่อกฏหมาย ร่างพระราชบัญญัติสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ต้องไปซ่อนไว้ในคำว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ นอกจากนั้นโครงสร้างของกฎหมายยังให้ความสำคัญกับสภา โดยเขียนไว้ในหมวด 6 เริ่มต้นจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ขณะที่ร่างของ สปท.เริ่มที่องค์กรสื่อ
สำหรับประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งสำคัญ คืออำนาจของสภาวิชาชีพสื่อ ฉบับ สปท.กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แปลว่า สภาสื่อของสปท.มีอำนาจออกและเพิกถอนใบอนุญาตได้เป็นรายบุคคล ซึ่งแตกต่างจากร่างของ สนช.
ร่างกฎหมายของ สนช.ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ออกและเพิกถอนใบรับรองสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น โดยที่สมาชิกเป็นองค์กร ดังนั้น บทบาทหน้าที่ในการพิจารณาออกและเพิกถอนใบรับรอง จึงยังอยู่ที่องค์กรวิชาชีพตามโครงสร้างเดิม
ส่วนประเด็นตัวแทนภาครัฐ ร่าง สปท.กำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งจากภาครัฐ คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงการคลัง ร่าง สนช.มีกรรมการโดยตำแหน่งจากภาครัฐเช่นกัน แต่เขียนไว้เพียง ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
มองในแง่นี้ หน้าตาของตัวแทนภาครัฐในร่าง สนช.จึงดูดีกว่าการกำหนดเอาตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นกรรมการ
ประเด็นบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นหลักการที่ขัดกับหลักพื้นฐานในการกำกับ ดูแลกันเองของประเทศเสรีประชาธิปไตย กำหนดอำนาจให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจปรับทางปกครอง ตามลำดับชั้น และความร้ายแรง จนถึงขั้นเพิกถอนสมาชิกสภาพ
ร่าง สนช.ไม่มีบทกำหนดโทษ แต่เขียนไว้ว่า คณะกรรมการอาจส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ไปให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ดำเนินการกับผู้ถูกร้องเรียนตามกฎหมายของ กสทช.และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งอาจดูแปลกที่มาตรการสุดท้ายเกี่ยวข้องเฉพาะสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ในเวลาที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมถึงสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อในรูปแบบอื่นๆด้วย
คล้ายจะเป็นร่างสุดท้ายของทั้ง สปท.และสนช.แต่พิเคราะห์เนื้อหาแล้ว ก็ยังมีความขัดแย้งและไม่ลงตัวอีกหลายจุด โดยเฉพาะร่างของ สปท.ในเรื่องใบอนุญาตที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ในห้วงระยะเวลาที่องค์กรสื่ออ่อนแอถึงที่สุด พวกเขายังจะมีพลังเพียงพอที่จะต่อต้านสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้หรือไม่
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1112 วันที่ 13 - 19 มกราคม 2560 )
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น