“ภาพในอดีตที่หน้าตลาดต่างๆในลำปางเคยคึกคักและเต็มไปด้วยสามล้อถีบที่ให้บริการรับส่งผู้คนไปยังจุดหมายปลายทางด้วยสองแรงถีบไม่มีอีกแล้ว
รวมไปถึงโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดที่เราเคยได้ยินเสียงก๊อกๆแก๊กๆของพิมพ์ดีดมาทุกวันนี้สาบสูญ
เหลือเพียงความทรงจำในผู้ใหญ่วัย 35 ปีขึ้นไปเท่านั้น”
สมศักดิ์
อินบุญส่ง
อาชีพ : ถีบสามล้อ
บ้านหลังน้อยในซอยแคบ
ๆ ดูร่มรื่น สะอาดสะอ้าน มีรถสามล้อคู่ใจจอดอยู่อย่างสงบเสงี่ยม บอกให้รู้ว่า
นี่คงเป็นบ้านของ สมศักดิ์ อินบุญส่ง หรือที่ใคร ๆ เรียกกันว่า ลุงหล่า
ลุงหล่าคือคนถีบสามล้อที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวในย่านหัวเวียง
และน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เหลืออยู่ในเมืองลำปาง ทุกวันนี้
ลุงหล่ามีอาการกระดูกทับเส้น ซึ่งบั่นทอนให้การถีบสามล้อเป็นไปด้วยความยากลำบาก
จึงไม่ได้ออกรับจ้างทั่วไปเหมือนเมื่อก่อน จะรับก็เพียงลูกค้าประจำที่โทรศัพท์มาว่าจ้างให้ไปส่งใกล้ๆเท่านั้น
โดยส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่พอใจจะไปถึงจุดหมายอย่างไม่เร่งรีบ
“เมื่อก่อนยังรับ-ส่งเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลลำปาง
พอโตขึ้นเขาก็ไม่นั่งสามล้อแล้ว เขาอายเพื่อนๆ เวลาไปส่งก็ให้ลุงไปจอดไกลๆ
เขาบอกว่าจะเดินเข้าโรงเรียนเอง ถึงเวลาไปรับก็ให้เราจอดอยู่ตรงโน้น...” ลุงหล่าเล่าอย่างอารมณ์ดี
ลุงหล่าในวัย
75 ปี ถีบสามล้อมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว ยุคนั้นเมืองลำปางมีเพียงพาหนะรับจ้างอย่างรถสามล้อถีบและรถม้า
ลุงหล่าจะเช่ารถกับเถ้าแก่วันละ 5 บาท
ส่วนอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 5 บาท
โดยส่วนใหญ่รถสามล้อถีบจะไปจอดกันอยู่ที่ห้าแยกประตูชัย
ซึ่งเป็นชุมทางรถโดยสารจากทุกสารทิศ นอกจากนี้ คนถีบสามล้อยุคนั้น
ยังต้องใส่เครื่องแบบ อันประกอบด้วยชุดเสื้อ-กางเกงขาสั้นสีน้ำตาล รองเท้าหุ้มส้น
และหมวก โดยทุกคันจะมีป้ายทะเบียน เมื่อทำผิดกฎจราจร ตำรวจจะยึดเบาะรถไว้
ไปเสียค่าปรับเมื่อไรจึงจะคืนเบาะให้
“สมัยนั้นรายได้วันละ
30 บาทนี่หรูแล้ว”
ชายสูงวัยย้อนความหลัง รายได้งาม ๆ ทำให้ลุงหล่าตัดสินใจผ่อนรถสามล้อถีบเองวันละ 20 บาท
ผ่อน 11 เดือนก็หมด ได้รถเป็นของตนเอง
ซึ่งก็กลายมาเป็นรถคู่ใจที่จอดอยู่หน้าบ้านในวันนี้
รถสามล้อของลุงหล่ามีป้ายเล็กๆ
พร้อมข้อความ “วันไชย โรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง พระนคร” แม้จะไม่ได้ออกไปโลดแล่นบนถนนเหมือนเมื่อก่อน
แต่ก็ยังทำเงินให้ลุงหล่าอยู่บ้างจากการไปจอดโชว์ตามงานต่างๆ
แม้กระทั่งงานกีฬาสีของเด็กๆ
“มีคนมาขอซื้อหลายคนครับ
ผมไม่ขาย สงสารมัน แม้เราจะไม่รวย แต่ก็พออยู่พอกิน ทุกวันนี้ก็ได้อาศัยมันนี่แหละ” มือที่ลูบไปมา
บวกกับสภาพที่ยังดูสมบูรณ์ บ่งบอกให้รู้ว่าชายชรารักรถคันนี้มากแค่ไหน
“ใครๆก็คิดว่ามันถีบง่าย
ไม่ง่ายนะครับ มันจะเอียงซ้าย เอียงขวา ไม่ตรง แล้วเบรกนี่อยู่ตรงเท้าซ้าย
เบรกมือไม่มี เลี้ยวเร็วไปก็คว่ำเลย” ลุงหล่าหัวเราะชอบใจที่ใครๆก็มักจะมาขอลองถีบ
แล้วก็พบว่า มันไม่ได้ถีบง่ายดังใจคิด
ทุกวันนี้
ลุงหล่าเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเหลือเรี่ยวแรงถีบสามล้อไปอีกนานแค่ไหน
คงน่าเสียดายไม่น้อย หากพาหนะชนิดหนึ่งจะหายไปจากท้องถนน พาหนะที่จะว่าไปแล้ว
ไม่มีพิษไม่มีภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
กมลชัย รัตนมณีอุดมเดช
อาชีพ : ครูสอนพิมพ์ดีด
เครื่องพิมพ์ดีด
Olympia
และ Olivetti กว่า 40 เครื่อง
ตั้งเรียงรายอยู่ในห้องแถวคูหาเดียวย่านวัดน้ำล้อม หากเป็นเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ที่นี่คงดังก้องไปด้วยเสียงพิมพ์ดีดของเหล่านักเรียนที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสอบเข้ารับราชการ
ทหาร ตำรวจ ไปจนถึงพนักงานบริษัท แต่ในวันนี้ภายในห้องกลับดูเวิ้งว้าง
ไร้ความเคลื่อนไหวใดๆ มีเพียงเครื่องพิมพ์ดีดเก่าคร่ำที่ยังคงตั้งอยู่บนโต๊ะไม้เหมือนเช่นเดิม
กับชายชราวัยใกล้ 70 ปี ตรงโต๊ะประจำตำแหน่งครูผู้สอน
ปี พ.ศ. 2519 กมลชัย รัตนมณีอุดมเดช ตัดสินใจเปิดโรงเรียนกมลชัยพิมพ์ดีด
ย่านวัดน้ำล้อม ควบคู่ไปกับการรับราชการครู
ด้วยเล็งเห็นถึงลู่ทางสดใสของธุรกิจโรงเรียนสอนพิมพ์ดีด
ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนั้น ถึงกับเปิดสาขาที่อำเภองาว อำเภอแจ้ห่ม
และอำเภอแม่ทะอีกด้วย
“เมื่อก่อนในการสอบเข้าทำงานจะมีการกำหนดเลยว่า
ต้องพิมพ์ดีดทั้งไทย-อังกฤษให้ได้นาทีละ 45 คำ จึงจะผ่าน” ลุงกมลชัยเล่า “การจะเปิดโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ
ที่นี่เรารับนักเรียนรอบละ 40 คน เรียนวันละ 1 ชั่วโมง เลือกช่วงเวลาได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงสองทุ่ม ค่าเรียนเดือนละ 200
บาท ระยะเวลา 6 เดือนจึงจะจบหลักสูตร”
ลุงกมลชัยอธิบายอย่างละเอียด
“คนเยอะมากๆ
เลยครับ” อดีตครูสอนพิมพ์ดีดเน้นเสียง “ทั่วเมืองลำปางนี่มีไม่รู้กี่แห่ง
ก่อนผมเปิดก็มีอยู่แล้วหลายโรงเรียน ผมทุ่มเททั้งกาย วาจา ใจ ให้นักเรียนเต็มที่
ผมเลยเป็นครูที่ค่อนข้างเข้มงวด” ลุงกมลชัยหัวเราะเบาๆพลางชี้มือไปยังตรอกวัดน้ำล้อมที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
“บางคนแฟนมายืนรออยู่ในตรอกโน่น ผมบอกเขาเลยว่า ตั้งใจเรียนนะ
อย่าไปตั้งใจรักอย่างเดียว”
ครั้นเมื่อโลกเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์
มันคือวิกฤตของโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดอย่างแท้จริง สิบกว่าปีมานี้
โรงเรียนสอนพิมพ์ดีดทั่วเมืองลำปางทยอยปิดกิจการลง
ที่ยังเปิดสอนอยู่ก็เห็นจะมีแต่โรงเรียนกมลชัยพิมพ์ดีดเท่านั้น
แม้ทุกวันนี้จะมีนักเรียนไม่ถึง 10 คน แต่ลุงกมลชัยก็ยังยืนยันที่จะเปิดสอนต่อไปเรื่อยๆตราบใดที่ยังมีนักเรียนมาเรียนกันอยู่
“ส่วนใหญ่เขามาเรียนเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนคอมพิวเตอร์ต่อไป
ไม่ได้เรียนจนจบหลักสูตรเหมือนสมัยก่อน” ลุงกมลชัยโคลงศีรษะ “คอมฯ
มันพิมพ์ได้ แต่มันสัมผัสไม่ได้นะครับ ไม่เหมือนพิมพ์ดีด พอพิมพ์เป็นแล้ว
คุณไม่ต้องดูแป้นพิมพ์เลย คอมฯ ยังทำให้สายตาเสียด้วย”
ใกล้เที่ยง
ถนนหน้าโรงเรียนคลาคล่ำไปด้วยรถรา ชายชราเร่งทำเทียนสืบชะตาให้ทันเวลาที่ลูกค้าจะมารับ
นี่คืออาชีพเสริมของลุงกมลชัยในวันที่ห้องเรียนปราศจากเสียงพิมพ์ดีดระรัว
แบบฝึกหัดกองพะเนินอยู่บนตู้เอกสาร
“ผมภูมิใจที่มีส่วนทำให้หลายๆคนได้ทำงานอย่างที่เขาฝันไว้
หลายคนตอนนี้มีหน้าที่การงานใหญ่โต มันเป็นความสุขเล็กๆของคนที่เป็นครูทุกคนน่ะครับ”
ลุงกมลชัยกล่าวทิ้งท้าย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1115 วันที่ 3 - 9 กุมภาพันธ์ 2560 )
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น