วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

โรงเรียนไหนอยากได้กล้องดูดาว

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เชิญชวนโรงเรียนทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 60 พรรษา เจ้าฟ้านักดาราศาสตร์” เพื่อรับมอบกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง Dobsonian ขนาด 10 นิ้ว พร้อมสื่อและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ชุดใหญ่ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ในโรงเรียนและชุมชนการสังเกตการณ์วัตถุบนท้องฟ้า สังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ตลอดจนเป็นการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้เป็นไปตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 17 เมษายนนี้
            นานมาแล้ว มนุษย์เฝ้ามองท้องฟ้าและพยายามอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนนั้น จนกระทั่งเรารู้แล้วว่า โลกเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพกว้างใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้านในระบบสุริยะ ดาวฤกษ์นับพันล้านดวงในดาราจักรทางช้างเผือก กระจุกของดาวฤกษ์ เมฆหมอกของแก๊สที่กำลังก่อตัวเป็นระบบดาวแห่งใหม่ และดาราจักรอื่น ๆ ที่อยู่ไกลแสน
            สำหรับนักดูดาวหน้าใหม่ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถศึกษาดวงดาวบนท้องฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการเตรียมอุปกรณ์สำหรับดูดาว เช่น แผนที่ฟ้า ที่จะบอกให้รู้ถึงตำแหน่งกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มในท้องฟ้า สมุดบันทึก ดินสอ หรือปากกาสำหรับจดบันทึก และไฟฉายที่ให้แสงสีแดงสำหรับส่องดูแผนที่ฟ้า หรือสมุดบันทึกในระหว่างการดูดาว เพราะแสงสีแดงแทบจะไม่มีผลต่อการมองเห็นในที่มืด ต่อมาคือเลือกสถานที่ที่เหมาะสม เป็นที่โล่งแจ้งไม่มีแสงไฟรบกวนโดยตรง สะดวก และปลอดภัย
            เมื่อทำความรู้จักท้องฟ้า กลุ่มดาว และวัตถุต่าง ๆ ในระดับหนึ่ง นักดูดาวหน้าใหม่ย่อมมองหาทัศนูปกรณ์ที่เหมาะจะใช้ดูดาวในระยะเริ่มต้นกล้องสองตาตอบโจทย์ในข้อนี้ได้ ทว่าผ่านไประยะหนึ่งเมื่อเขาเหล่านั้นหันไปสนใจสังเกตวัตถุที่เล็กและจางกว่าขีดจำกัดของกล้องสองตา กล้องโทรทรรศน์จึงเหมาะสำหรับนักดูดาวสมัครเล่นที่มีประสบการณ์ในการดูดาวมาพอสมควรแล้ว
            กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่โรงเรียนจะได้รับแจกนี้ ออกแบบโดยใช้กระจกเว้าทำหน้าที่รวมแสงเพื่อสร้างภาพหลัก และมีกระจกขนาดเล็กอีกชิ้นทำหน้าที่สะท้อนแสงที่รวมมาจากกระจกปฐมภูมิให้เข้าสู่เลนส์ใกล้ตา กระจกที่นำมาใช้ในกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงนั้น ต่างจากกระจกเงาที่ใช้ในชีวิตประจำวันตรงที่ผิวสะท้อนแสงจะถูกฉาบอยู่ด้านหน้า และไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อแก้วที่มีคุณภาพสูงนัก เนื่องจากการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ชนิดนี้ จะใช้เพียงผิวของกระจกเท่านั้น ซึ่งแสงจากวัตถุไม่ได้ผ่านเข้ามาในเนื้อแก้วเลย จึงทำให้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่ากล้องโทรทรรศน์หักเหแสงมากเมื่อเทียบขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเลนส์และกระจกที่มีขนาดเท่ากัน ความได้เปรียบอีกอย่าง คือ กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงจะไม่เกิดความคลาดสีเหมือนอย่างกล้องโทรทรรศน์หักเหแสง กล้องโทรทรรศน์ชนิดนี้สามารถสร้างกระจกสะท้อนแสงที่มีขนาดใหญ่ได้ง่าย จึงเหมาะกับการส่องดูวัตถุท้องฟ้าที่ไม่สว่างนัก แต่ต้องการการดูแลรักษามากกว่ากล้องโทรทรรศน์หักเหแสง เช่น อาจมีการเคลื่อนของกระจกที่ทำให้ทางเดินแสงในกล้องคลาดเคลื่อนไป หรือการลอกของสารเคลือบกระจก
            ทุกโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดลำปางสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ แอบหวังไว้ว่า ลูกหลานของเราจะได้เงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าอันไพศาล เพื่อวันหนึ่งวันใดพวกเขาจะตระหนักได้ว่าตัวเรานั้นเท่าฝุ่นผง ไม่ใช่เอาแต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับจอโทรศัพท์มือถือ หรือเป็นแค่นักเลงคีย์บอร์ดที่อหังการ์ว่าข้าเจ๋งกว่าใคร
            สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th/sirindhorntelescopeหรือสอบถามได้ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ เลขที่ 191 อาคารศิริพานิช ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์ 0-5322-5569 ต่อ 305 หรือติดต่อคุณคมสันต์ โทรศัพท์ 08-8252-4424

           (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1121 วันที่ 17-23 มีนาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์