ในระยะสองสามปีมานี้กระแสของเกษตรอินทรีย์จะเริ่มมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคและมีหนทางโลดแล่นในตลาดสดใสขึ้น
หากแต่หนทางของการเติบโตของเกษตรวิถีอินทรีย์ ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ทั้งเรื่องปัจจัยและกำลังการผลิต
จนถึงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริงก็มีอยู่น้อยมาก
ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ เพชรล้านนา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม
จ.ลำปาง ซึ่งเป็นสวนเกษตรขนาดใหญ่ กว่า 300 ไร่ ของ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ซึ่งถือเป็นแหล่งเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงของลำปางมาตั้งแต่ยุคที่มีคนรู้จักคำว่าเกษตรอินทรีย์น้อยมาก
เกษตรชีววิถี และเกษตรอินทรีย์
ปลอดสารเคมีที่สวนเพชรล้านนาได้นำ มาแก้ปัญหาการทำไร่ส้มโชกุนเมื่อประมาณปี 2532
(สมัยนั้นมีพื้นที่เกษตรเพียง 30 ไร่) ทุกวันนี้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดเคมี
เกษตรผสมผสาน ที่ถูกอ้างถึงมากอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือหรือประเทศไทย ปัจจุบันมีทั้งพืชสวน และปศุสัตว์ มีทั้งโรงฟักไก่ไข่
โรงเรือนเพาะลูกไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ และไก่พันธุ์เบรส
นอกจากนี้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสวนส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา และทองดี
ปลูกแบบอินทรีย์คุณภาพ ระดับพรีเมียมขายส่งห้างฯไปแล้ว
แน่นอนว่าการผ่องถ่ายแนวคิดและการต่อยอดงานเกษตรอินทรีย์
ไปสู่การตลาดที่แท้จริงเป็นเรื่องสำคัญ ‘องอาจ ปัญญาชาติรักษ์’ ลูกชาย วัย 34 ปี ของ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
ดีกรีปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า
(สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) และ ปริญญาโทด้านบริหาร
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
วางมือจากงานประจำกลับมาช่วยงานที่ฟาร์มเต็มตัว
เป็นเสมือนตัวเชื่อมโยงต่อยอดการเกษตรไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน บอกเล่าว่า
หลังจากจบการศึกษา ก็ทำงานในบริษัทเอกชนอยู่หลายปี
แต่ช่วงสองปีที่ผ่านมา
ได้แบ่งเวลามาช่วยงานที่ฟาร์มในด้านการบริหารและเชื่อมโยงการตลาด
เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งก็พบว่าการเติบโตของเกษตรอินทรีย์
นอกจากการพึ่งพาตนเองในเรื่องศักยภาพการผลิตในเชิงเกษตรกรรมแล้ว
ยังต้องได้รับการสนับสนุนและพัฒนา
รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเรื่องการต่อยอดธุรกิจและการตลาดไปสู่ความมั่นคงให้ได้
สินค้าเกษตรจากฟาร์มเพชรล้านนาไปสู่ตลาดที่เน้นจุดขายเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานที่ผ่านการรับรอง
สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ส่งผลให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ "องอาจ"
มองว่าการแบ่งปันและเชื่อมโยงไปถึงเกษตรกรเล็กๆ
จะเป็นอีกทางหนึ่งของการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ไปสู่ความหลากหลายในท้องตลาด จึงเกิดโครงการการรับซื้อผลผลิตผักปลอดสารพิษ
ของกลุ่มชาวบ้านเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็ง และมีผลผลิตสม่ำเสมอ เช่น
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผัก “ฮักน้ำจาง” อ.แม่ทะ
และเกษตรกรที่ปลูกสัปปะรดอินทรีย์ ที่บ้านเสด็จ อ.เมือง ลำปาง มะละกอและผลไม้อินทรีย์จากเกษตรกรรายย่อย ขายส่งเข้าห้างสรรสินค้า
ท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ลำปาง
“จุดเปราะบางและเป็นหัวใจสำคัญของการ
เชื่อมโยงตลาดเพื่อให้เกษตรกรรายเล็กๆเติบโตไปพร้อมกับเรา คือความซื่อสัตย์
และเห็นอกเห็นใจกัน ความซื้อสัตย์ในที่นี้ผมหมายถึง
ความซื้อสัตย์ต่อกันในด้านคุณภาพการผลิต
เราขายสินค้าอินทรีย์ที่มีมาตรฐานตรวจสอบได้
เราซื้อสินค้าจากเกษตรกรมาแบบไม่ซับซ้อน ไม่ต้องมีเงื่อนไขมากมาย
เงื่อนไขเดียวที่ต้องการความซื้อสัตย์ต่อกัน เกษตรกรทุกรายต้องรักษามาตรฐานการเพาะปลูกแบบอินทรีย์
100 % งานบริหารจัดการ
ตามมาตรฐานของการขายในห้างสรรพสินค้า
เราดูแลซึ่งถ้าชาวบ้านหรือเกษตรกรทำเองอาจจะเป็นเรื่องยุ่งยาก
แค่ปลูกให้ได้คุณภาพก็เหนื่อยแล้ว การร่วมมือกันเป็นหนทางของความยั่งยืน”
"องอาจ" ย้ำว่า
แม้การแบ่งปันช่องทาง ให้สินค้าของเกษตรกรรายเล็กๆมีโอกาสได้วางขายในห้างสรรพสินค้าจะไม่เกิดผลกำไรในแง่ของตัวกลางเชื่อมโยงตลาด
เพราะการขายผลผลิตเกษตรราคาแพงกว่าท้องตลาดมากเกินไปก็เป็นอุปสรรคต่อการยืนอยู่อย่างมั่นคง
แต่ต้องยอมรับว่ามีต้นทุนเรื่องการขนส่ง และการจัดการ
ดังนั้นในระยะแรก ผลกำไรไม่ใช่เป้าหมายหลัก ยกตัวอย่างผักจากกลุ่มฮักน้ำจาง
สัปดาห์ละ 2 วัน มียอดขายเฉลี่ยปีละประมาณ 8 หมื่นบาท สิ่งที่ได้แน่นอนคือ
การเพิ่มช่องทางรายได้
ความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจที่จะเดินต่อในเส้นทางเกษตรอินทรีย์
เมื่อเกิดกลไกแบบนี้ และขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ
พื้นที่ของตลาดเกษตรอินทรีย์ก็มากขึ้น
หนทางที่เกษตรกรจะเป็นผู้ประกอบการในอนาคตก็มีโอกาสมากขึ้นตาม
“จุดอ่อนของเกษตรอินทรีย์
คือเป็นเกษตรที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆในเรื่องผลผลิต
ประกอบแข่งขันตลาดไปเร็วมากต้องก้าวให้ทัน ธุรกิจที่เราทำเองขายเองเป็นเรื่องที่ไม่ยากต่อการบริหารจัดการมากนัก
แต่ศักยภาพในการรักษาคุณภาพสินค้าที่ส่งออกไปขายในท้องตลาด มาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญ
สินค้าที่ฟาร์มจึงไม่เน้นการขายเชิงปริมาณเป็นหลัก แต่เราขายคุณภาพที่ปลอดสารเคมี
ปัจจุบันเราขายส่งเข้าห้างสรรพสินค้า ถือว่าเป็นตลาดระดับกลางถึงบน
ซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อและพอใจจะจ่าย
สินค้าเกษตรอินทรีย์จึงยังมีช่องทางในตลาดกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก”
การเติบโตของฟาร์มเกษตรอินทรีย์ เพชรล้านนา
ที่เกี่ยวก้อยกับเกษตรกรรายเล็กๆเดินร่วมทางไปด้วยกันทุกวันนี้ คล้ายจะเป็นโมเดลใหม่ๆของการสร้างฐานเศรษฐกิจสู่รายเล็กรายน้อยในชุมชน
อีกไม่นานการขยายวงเกี่ยวก้อยนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นขบวน
ผลผลิตเกษตรจากชุมชนสู่ตลาดสากลได้จริงๆ
บ้านไผ่รักษ์โลก
อีกมุมหนึ่งด้านหน้าของฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนาที่น่าสนใจและสะดุดตาเมื่อเดินเข้ามา
คือตัวอย่างบ้านไผ่หลังเล็ก ขนาด 2 ห้องนอน และอาคารหลังใหญ่ที่ใช้เป็นห้องประชุม
และที่พักขนาดใหญ่อีกหนึ่งหลัง
ณัฐนันท์ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้ก่อสร้างอาคารสองหลังนี้
เล่าว่า ตามที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกและขยายพันธุ์ไผ่
รวมถึงการฝึกอบรมการนำไม้ไผ่มาใช้ในงานก่อสร้าง หรืองานตกแต่งอาคารบ้านเรือน
ซึ่งจัดอบรมสองรุ่นแรกผ่านไปแล้วเมื่อปี 2559ประกอบกับที่ฟาร์มฯเพชรล้านนา
ถือว่ามีไผ่สายพันธุ์ต่างๆจำนวนมาก ทั้งผมและคุณประพัฒน์ก็สนใจเรื่องไผ่มานานมากแล้ว
ดังนั้นเมื่อมีโครงการส่งเสริมเรื่องไผ่ก็ได้เข้าร่วมอบรม
และสร้างบ้านไม้ไผ่ขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นจุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ในฐานะศูนย์ขยายพันธุ์ไผ่ภาคเหนือ เพื่อการเชื่อมโยงต่อยอดงานไผ่แก่ผู้สนใจ
แต่เดิมประเทศไทยก็ใช้ไม้ไผ่สร้างบ้านเรือนมาไม่รู้กี่ยุคสมัย
แต่ปัจจุบันความเจริญทำให้บ้านไม้ไผ่หายไป และช่างที่สร้างบ้านไม้ไผ่ก็มีน้อยลง
ผมก็ได้เรียนรู้จากกลุ่มที่ให้ความสนใจเรื่องไผ่ในประเทศไทย
และมีผู้เชี่ยวชาญที่เก่งด้านนี้จากหลายประเทศเข้ามาร่วมกับกลุ่มคนรักไผ่ของไทย
ซึ่งมันดูเหมือนง่ายแต่มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความคลาสสิค
“การทำบ้านไผ่อย่างแรกคือลดการตัดไม้ทำลายป่า
ข้อดีอีกอย่างคือบ้านไผ่ถ่ายเทอากาศได้ดี อยู่แล้วไม่ร้อน
อารมณ์ของผู้อยู่อาศัยก็จะดี บ้านหลังขนาดเล็ก 2
ห้องใช้งบก่อสร้างราว 1 แสนบาท บวกลบนิดหน่อยก็ทำได้แล้ว แต่ถ้าจะทำโครงสร้างดี
แน่นหนา ใช้วัสดุประกอบโครงสร้างฐานที่ดี และดีไซน์ให้สวยงามก็ใช้งบเต็มที่ 2
แสนบาทก็หรูแล้ว ส่วนอาคารหลังใหญ่ ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดที่เราต้องการ
แต่ความคลาสสิคไม้ไผ่ทำให้อาคารมีเสน่ห์
ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคในการทำให้ไม้ไผ่ปลอดจากการทำลายของแมลงมอดไม้ หรืออื่นๆได้ 100
%”
อย่างไรก็ตาม
ข้อจำกัดของการสร้างอาคารไม้ไผ่หลังใหญ่มากๆทั้งหลังในประเทศไทย
ยังไม่มีระเบียบกฎหมายรองรับ ในการอนุมัติการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างจากไม้ไผ่ล้วนๆในเขตชุมชนเมืองที่ต้องมีเทศบัญญัติอาคารและสิ่งปลูกสร้าง
แต่งานไม้ไผ่จะเข้าไปอยู่ในองค์ประกอบของงานตกแต่ง
และโครงสร้างอื่นๆที่ไม่ใช่โครงสร้างหลักของตัวอาคาร
ดังนั้นโอกาสในเรื่องของการพัฒนางานไม้ไผ่ไปกับอาคารบ้านเรือนก็ยังมี
ส่วนเรื่องช่างก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ทำเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงได้
แต่คนก็ให้ความสนใจน้อยในขณะนี้ แต่ผมเชื่อว่า
ในอนาคตกระแสของการใช้ศิลปะจากงานไม้ไผ่
จากจุดเริ่มต้นแสดงบ้านตัวอย่างที่หน้าฟาร์ม
ล่าสุดได้นำบ้านไผ่ไปสร้าง และแสดงที่งานเกษตรแฟร์ ที่จัดโดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ช่วงวันที่ 8-14 มีนาคมที่ผ่านมา
ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมาก
เพราะบางคนเกือบจะลืมไปแล้วว่างานบ้านไม้ไผ่ประหยัดงบประมาณ
รักษาสิ่งแวดล้อมเพราะลดการตัดไม้เนื้อแข็งในป่า ที่สำคัญไผ่ก็สามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจทำรายได้ดีเช่นกัน
ทั้งนี้อยากให้ผู้สนใจอยากเรียนรู้การใช้ไม้ไผ่ในการสร้างอาคารบ้านเรือน
และเทคนิคต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ได้ที่ศูนย์ฯ
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบ้านทางเลือกร่วมกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น