สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค10 ลำปาง ชี้แนวโน้มคนสนใจฝึกอาชีพตลาดออนไลน์สูงขึ้น เตรียมแผนงานและหลักสูตรรองรับการเติบโตสังคมยุคดิจิทัล
ชาคริตย์
เดชา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 10 ลำปาง เผยว่า ตามภารกิจหน้าที่ของงานพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น
เกี่ยวข้องกับ 3 ด้าน ด้านแรกคือ งานส่วนของการฝึกอาชีพ ทั้งในส่วนของการเตรียมพร้อมเข้าทำงาน
งานยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และงานฝึกอาชีพอิสระสำหรับกลุ่มที่อยากปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ๆ
ส่วนงานที่สองคือ งานทดสอบและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน
ในกลุ่มสาขาอาชีพที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น ช่างไฟฟ้า หรือ
ผู้จบหลักสูตรสาขาอาชีพด้านงานบริการ ให้มีมาตรฐาน
ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์ฝึกอาชีพในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก
เนื่องจากสังคมและตลาดแรงงานเปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการฝึกทักษะอาชีพเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
พบว่าอาชีพด้านช่างต่างๆได้รับความสนใจน้อยมาก
ส่วนหนึ่งเข้าศึกษากับสถาบันอาชีวะศึกษา
แต่ก็พบว่ายังมีแรงงานด้านช่างส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านสถาบันการศึกษา
แต่ยังคงอยู่ในตลาดแรงงานในธุรกิจเล็กๆ ซึ่งปัจจุบันถือว่าแรงงานสาขาช่างขาดแคลนค่อนข้างมาก
เช่น ช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างเคาะพ่นสีรถยนต์ มีผู้สนใจเข้ามาเรียนกับทางสถาบันฯน้อยมาก
ทั้งที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง แต่ค่านิยมในการทำงานของคนยุคนี้เปลี่ยนไป
ชอบงานที่สบายมากกว่างานหนักหรือเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างงานช่าง
ส่วนงานฝึกอาชีพที่ยังคงมีการฝึกอบรมและยกระดับฝีมือแรงงานต่อเนื่อง
คืออาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิก ไม้ อาหาร
และคนทำงานในเหมืองแร่ซึ่งรวมถึงงานเหมืองแร่ ซึ่งส่วนใหญ่
แรงงานที่ยังมีความต้องการพัฒนาทักษะและฝีมือจะเป็นกลุ่มที่ทำงานในโรงงานหรือ
ธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น โดยเฉพาะสาขาเซรามิก
มีการอบรมพัฒนาอาชีพการทำเซรามิกในครัวเรือน และการรับจ้างงานนอกระบบ
คือรับงานไปทำที่บ้าน และบางรายประกอบเป็นอาชีพอิสระที่บ้าน ซึ่งในอำเภอเกาะคา
อำเภอแม่ทะ มีผู้ฝึกอาชีพเซรามิกไปเพื่อทำงานอิสระโดยใช้พื้นที่เตาเผาส่วนกลางของชุมชน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาชีพเกษตรแปรรูป
และงานที่เกี่ยวข้องในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เช่น อาชีพอิสระเปิดร้านกาแฟ
หรือทำงานในร้านกาแฟ และอาชีพนวดไทย ซึ่งในปี 2559
เปิดหลักสูตรหลายรุ่นมีผู้ฝึกอบรมอาชีพละไม่น้อยกว่า 100 คน
“หลักสูตรฝึกอบรมอาชีพใหม่ๆ
ในยุคนี้ มีผู้สนใจเรียนเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจออนไลน์ค่อนข้างสูง
เพระในยุคนี้เป็นยุคของตลาดออนไลน์
มีผู้สนใจเข้าฝึกอบรมการทำตลาดออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เราได้เชื่อมโยง และ
ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาเป็นวิทยากรและเรามีเจ้าหน้าที่เฉพาะด้านที่จะดูแลงานส่งเสริมอาชีพด้านทักษะและเทคนิคการทำตลาดออนไลน์
เข้ามาจัดโปรแกรมฝึกอบรมมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของยุคดิจิทัล”
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์
ฉบับที่ 1122 วันที่ 24-30 มีนาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น