การสั่งพักใบอนุญาต วอยซ์ทีวี
แม้จะดูเสมือนหนึ่งว่า เป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ
แต่ถ้าจะอธิบายเหตุผลที่อยู่ในใจของใครหลายคนออกมาดังๆ เรื่องนี้ก็ไม่แตกต่างไปจาก
มหัศจรรย์กฏหมายที่รัฐบาลเอามาใช้เรียกเก็บภาษีย้อนหลังทักษิณ ชินวัตร
ทั้งที่สรรพากรยุติเรื่องไปแล้ว
เพราะวอยซ์ทีวี
เป็นของโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นนอมินีของทักษิณ
ในกรณีภาษีหุ้น เพราะวอยซ์ทีวีมีแต่เนื้อหาที่พุ่งเป้าโจมตีรัฐบาล
และลดทอนความเชื่อถือในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช.การขัดขาวอยซ์ทีวี
ก็คือการบดขยี้ทักษิณนั่นเอง
ด้านหนึ่งเป็นการบดขยี้ทักษิณ
อีกด้านหนึ่งคือการรุกคืบของอำนาจรัฐ เข้ามาใน กสทช.
ปรากฏการณ์ที่ยืนยันว่า กสทช.กำลังถูกลิดรอนอำนาจความเป็นองค์กรอิสระด้วยความเต็มใจ ของกสทช.ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนจากทหาร คือการสั่งพักใบอนุญาต วอยซ์ทีวี เป็นเวลา 7 วัน เนื่องจากการกระทำผิดซ้ำซาก
โดยมีการออกอากาศรายการที่ขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97
และ 103 โดยมีเนื้อหาไม่เหมาะสม
ยุยงให้มีความแตกแยก
ทั้งนี้มาจากคำร้องของคณะทำงานติดตามสื่อ
ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย คสช.ที่เสนอให้ กสทช.พิจารณา อ้างว่า
มีการนำเสนอเนื้อหารายการ โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
ทำให้เกิดความเสียหายกับองค์กรที่ถูกกล่าวหา
คำถามก็คือ นี่เรียกว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อหรือไม่ และ
คสช.เข้ามาสู่อำนาจเกือบจะ 3 ปีเต็มแล้ว ยังเคลือบแคลงสงสัยในอำนาจ
และการยอมรับของตัวเอง จนต้องไปใส่ใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ
อันเป็นปกติการทำงานของสื่อมวลชนเช่นนั้นหรือไม่
การสั่งพักใบอนุญาต
วอยซ์ทีวี ครั้งนี้ มาจากการออกอากาศ 3 รายการ คือ 1.รายการใบตองแห้งออนแอร์ ออกอากาศ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม
2560 วิพากษ์เรื่องธรรมกายกับรัฐบาล 2.รายการ
InHerView ออกอากาศ 20 มีนาคม 2560
วิพากษ์เรื่องโกตี้กับอาวุธ และ 3.รายการ Over
ออกอากาศ 20 มีนาคม 2560วิพากษ์เรื่อง
การวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเพื่อสังคมชาวลาหู่
ซึ่งก่อนหน้านี้
กสทช.ได้ใช้อำนาจสั่งพักรายการของวอยซ์ทีวีมาแล้ว เช่น รายการ Wake Up News สั่งพักงาน 2 พิธีกร ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล
หรือหม่อมปลื้ม และนายอธึกกิต แสวงสุข
หรือ ใบตองแห้ง การใช้อำนาจของ กสทช.ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา
44 ให้สามารถควบคุม
ดูแลและมีคำสั่งที่มีเนื้อหารายการกระทบต่อความมั่นคง และสถาบันได้
โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
แม้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ
จะให้การรับรองบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ในการใช้เสรีภาพเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพการสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้
การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้น
ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ จะกระทำมิได้
แต่
กสทช.ก็ใช้อำนาจที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนตลอดมา
เมื่อมีการใช้อำนาจลิดรอนและคุกคามเสรีภาพเช่นนี้
หากการเสนอเนื้อหาของ
วอยซ์ทีวี หรือทีวีช่องใดก็ตาม มีผลกระทบต่อความมั่นคง
มีเนื้อหาที่เป็นการละเมิดสิทธิบุคคลหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้เสียหายหรือมีส่วนได้เสีย
ก็ชอบที่จะใช้สิทธิแจ้งความดำเนินคดี หรือฟ้องร้องตามกฎหมายปกติอยู่แล้ว
การสั่งพักใบอนุญาต
ระงับการออกอากาศ ซึ่งขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงมีผลโดยตรงต่อรายการ
หรือตัวบุคคลที่เป็นเป้าหมายเท่านั้น หากคนที่ไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก คนที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาของรายการ
หรือมีส่วนรับรู้ในการกระทำการฝ่าฝืนของพิธีกรรายการ หากจะตัดสินว่าเป็นการฝ่าฝืน
พวกเขาก็จะพลอยได้รับผลกระทบเดือดร้อนไปด้วย ในฐานะที่วอยซ์ทีวี เป็นองค์กรธุรกิจ
ที่มีคนทำงานอยู่ในหลายส่วน
เกือบสามปีแล้ว
คสช.และรัฐบาล ควรจะมีความมั่นใจในเสถียรภาพของตัวเองพอสมควร
ไม่น่าจะเป็นเวลาที่ต้องหวั่นไหวไปกับเสียงวิพากษ์ วิจารณ์
ที่เป็นปกติของสังคมประชาธิปไตย
แม้จะยังเรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้เต็มคำนัก
การใช้อำนาจพิเศษ ไม่ว่าโดยตรง หรือผ่าน กสทช.ไม่เป็นผลดีเลยต่อ คสช.และรัฐบาล
เพราะนั่นแปลว่า ผู้มีอำนาจยัง “กุมสภาพ” ไม่ได้
ยังไม่สามารถสร้างการยอมรับในหมู่ประชาชนได้อย่างแท้จริง
เพราะหากวอยซ์ทีวีกระทำผิด
และคสช.ใช้อำนาจตามกฎหมายและช่องทางปกติที่มีอยู่มากมายแล้ว
ในแง่ของผู้บริโภคข่าวสาร หากวอยซ์ทีวีเสนอรายการ ข้อมูลข่าวสาร
ที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือละเมิดต่อผู้คนในสังคมนี้ กลไกตลาด
ผู้บริโภคข่าวสารจะเป็นคนตัดสินพวกเขาเอง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1123 วันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น